จีนเตรียมพร้อมที่จะทำเหมืองที่ก้นทะเลลึกเพื่อค้นหาโลหะที่เป็นที่ต้องการ แม้จะมีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นก็ตาม

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการสกัดหินใต้ทะเลลึกที่มีแร่ธาตุที่เป็นที่ต้องการสูง เช่น โคบอลต์ ลิเธียม แกรไฟต์ และส่วนประกอบที่จำเป็นอื่น ๆ ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องยนต์ไอพ่น แม้ว่าจะมีความกังวลอย่างกว้างขวางว่า การขุดเก็บก้อนโพลีเมทัลลิกขนาดเท่ามันฝรั่งและแหล่งแร่มีค่าจะเป็นการทำลายระบบนิเวศในมหาสมุทร
จีนเป็นผู้จัดหาโลหะหลายชนิดรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวิธีการทำเหมืองบนบกที่ไม่มีจรรยาบรรณ และจีนยังต้องการครอบงำห่วงโซ่อุปทานโดยการมีอิทธิพลต่อกฎระเบียบการทำเหมืองใต้ทะเลลึกระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ยังไม่มีการประเมินอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองใต้มหาสมุทรลึกหลายพันเมตร มีข้อมูลอยู่น้อยมากเกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการบรรเทาอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลลึก เช่น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกวนกลุ่มตะกอนขนาดใหญ่ที่อาจทำให้โลหะหนักที่เป็นพิษแพร่กระจายออกไป หรือเสียงและแสงจากการทำเหมืองที่อาจเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยในพื้นมหาสมุทร
“ณ ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง” นายเซอร์รังเจล วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีปาเลา กล่าวในการประชุมองค์การก้นทะเลระหว่างประเทศ ที่คิงส์ตัน ประเทศจาเมกา ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2567 องค์การก้นทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลใน พ.ศ. 2537 มีหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลลึกจากกิจกรรมที่เป็นอันตรายและจัดทำหลักเกณฑ์การทำเหมืองที่รวมถึงข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการเงิน “เรายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับพื้นก้นทะเลลึกและบทบาทสำคัญที่สิ่งนี้มีต่อโลกของเรา” นายวิปส์กล่าว
แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี กัวเตมาลา ไอร์แลนด์ ฮอนดูรัส สวีเดน ตูวาลู และสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่เรียกร้องให้หยุดหรือห้ามการทำเหมืองใต้ทะเลลึก ตามรายงานของไดอะล็อกเอิร์ธ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในลอนดอน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ประเทศและบริษัทอื่น ๆ รวมถึงจีนและบริษัทที่ควบคุมโดยรัฐของจีน กระหายที่จะสำรวจพื้นทะเลเพื่อค้นหาแร่ธาตุมีค่า สหรัฐอเมริกาปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญานี้ และจึงติดตามการประชุมขององค์การก้นทะเลระหว่างประเทศในฐานะผู้สังเกตการณ์
องค์การก้นทะเลระหว่างประเทศได้อนุมัติใบอนุญาตอย่างน้อย 30 รายการในการสำรวจพื้นที่ประมาณ 1.4 ล้านตารางกิโลเมตรของแหล่งก้อนโพลีเมทัลลิก การก่อตัวของซัลไฟด์มวลใต้ทะเล (เกิดขึ้นรอบ ๆ ช่องระบายความร้อนใต้พิภพ) และแหล่งแร่โคบอลต์บนภูเขาใต้น้ำ ใบอนุญาตส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อการทดสอบวิธีการเก็บก้อนแร่ในพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างฮาวายและเม็กซิโก ซึ่งเรียกว่าเขตคลาริออน-คลิปเปอร์ตัน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่นี้มีโคบอลต์มากกว่าหกเท่าและนิกเกิลมากกว่าสามเท่า เมื่อเทียบกับแหล่งแร่สำรองบนบกทั้งหมด
จีนได้รับใบอนุญาตสำรวจใต้ทะเลลึกมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก การทำเหมืองที่พื้นมหาสมุทรอาจเป็นสิ่งที่สนับสนุนความพยายามของจีนในการครองอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น พลังงานสะอาด จีนครองส่วนแบ่งโคบอลต์ที่ผ่านการถลุงแล้วของโลกเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ลิเทียมเคมีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 และแกรไฟต์เกรดแบตเตอรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91 ตามรายงานของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการทำเหมืองบนบกของจีน กลุ่มคนทั้งสองฝ่ายต่างกังวลว่ามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำและการจัดการทรัพยากรที่ไม่ดีของจีนจะส่งผลกระทบไปถึงการทำเหมืองใต้ทะเลลึก
นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมกลัวว่าเครื่องจักรหนักจะทำลายพื้นมหาสมุทร โดยที่กระแสน้ำจะทำให้ของเสียจากการทำเหมืองแพร่กระจายออกไป ในขณะเดียวกันนั้น หินที่สูบขึ้นไปยังพื้นผิวเพื่อจะทำการบดเพื่อการสกัดแร่จะถูกทิ้งกลับลงไปในมหาสมุทร ก่อให้เกิดกลุ่มตะกอนที่เป็นอันตราย ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าการทำเหมืองใต้ทะเลโดยไม่มีกฎระเบียบที่เหมาะสมและความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดีพอ อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ตามรายงานของไดอะล็อกเอิร์ธ
“ทะเลลึกเกือบทั้งหมดยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการทำแผนที่และไม่มีการสำรวจ” นางลิซา เลวิน ผู้ก่อตั้งโครงการกำกับดูแลมหาสมุทรลึก ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกของผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมหาสมุทรลึก กล่าวกับนิตยสารฟอเรนโพลิซี “พื้นที่ส่วนใหญ่ที่หลายฝ่ายเล็งเป้าหมายไว้ว่าจะดำเนินการทำเหมืองนั้นยังไม่มีการอธิบายถึงระบบนิเวศและสายพันธุ์ที่อาศัยอย่างละเอียด ในลักษณะที่จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการกิจกรรมที่เป็นการทำลายล้างอย่างการทำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ”