ความร่วมมือเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ความแข็งแกร่ง ที่ยืนยง

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันครบรอบปีที่ 45 ของสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“ด้วยกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน เรามุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ไต้หวันเข้าถึงหนทางที่จะปกป้องตัวเองได้” นายออสตินกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันครบรอบ 45 ปี ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน และนายจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ได้ลงนามในกฎหมายนี้หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน ให้อำนาจไต้หวันและสหรัฐฯ ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการ และระบุว่าการรุกรานและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันจะถูกมองเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของอินโดแปซิฟิกและเป็น “ความกังวลอย่างยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา”

กฎหมายดังกล่าวให้การรับประกันไต้หวันและมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้จีนรุกรานไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นอาณาเขตของตนและข่มขู่ว่าจะผนวกรวม กฎหมายนี้ระบุว่าสหรัฐฯ จะจัดหา “สิ่งของและบริการด้านกลาโหม” ในปริมาณที่จำเป็นสำหรับไต้หวันเพื่อให้ “รักษาสมรรถภาพในการพึ่งพาตนเอง”

ความมุ่งมั่นดังกล่าวเห็นได้ชัดจากการอนุมัติกฎหมายส่งเสริมการพร้อมรับมือของไต้หวันโดยรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2565 ซึ่งให้อำนาจสหรัฐฯ ในการใช้งบประมาณสูงถึง 7.2 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีจนถึง พ.ศ. 2570 ในการให้ความช่วยเหลือไต้หวันด้านกลาโหม ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันมุ่งเน้นไปที่การช่วยไต้หวันสร้างสมรรถภาพในการป้องกันตนเอง ใน พ.ศ. 2566 ประกาศของรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางทหารต่อไต้หวัน มีดังนี้:

  • งบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือสำหรับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16
  • งบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับระบบค้นหาและติดตามอินฟราเรด เอฟ-16
  • งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท (ประมาณ 332.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอาวุธและเครื่องมือทางทหาร
  • งบประมาณประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับหน่วยบัญชาการและควบคุมทหาร ระบบการสื่อสาร และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
  • งบประมาณ 3.9 พันล้านบาท (ประมาณ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ความปลอดภัยทางไซเบอร์

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติรัฐบัญญัติการป้องกันประเทศสำหรับ พ.ศ. 2567 ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติที่จะช่วยเหลือเรื่องสมรรถภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไต้หวัน โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการดำเนินการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับไต้หวัน เพื่อปกป้องเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐาน และระบบทางทหารของไต้หวัน และช่วยกำจัดกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายซึ่งมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน มาตรการ “ช่วยติดอาวุธให้ไต้หวันในขอบเขตไซเบอร์” นายไมเคิล แกลลาเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในตอนนั้น กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 นายแกลลาเกอร์ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎรในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯ และพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นประธานคณะอนุกรรมการเหล่าทัพด้านไซเบอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน และฝ่ายนิติบัญญัติเป็นศูนย์กลางในการออกแบบการจัดซื้อด้านกลาโหมเพื่อรับประกันความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน นายเคนท์ อี. คาลเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกศึกษา เอ็ดวิน โอ. ไรเชอร์ ที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษาขั้นสูงจอห์นส์ฮอปกินส์ กล่าว “เมื่อพิจารณาจากความรับผิดชอบของรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มพันธมิตรไต้หวัน ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่ไต้หวัน ได้กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาสหรัฐฯ” ตามบันทึกคำวิจารณ์นายคาลเดอร์ที่เขียนไว้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสำนักข่าวญี่ปุ่นเกียวโดนิวส์

สหรัฐฯ มี “ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แน่นแฟ้น” กับไต้หวัน ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ “ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันก็ดีกว่าที่เคยเป็นมาในระดับหนึ่ง” นายริชาร์ด ซี. บุช นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันบรูกกิงส์และอดีตหัวหน้าสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566

“ตอนนี้ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันอยู่ในจุดที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522” นายเดเร็ก กรอสแมน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกลาโหมที่แรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

นโยบาย “จีนเดียว” ของสหรัฐฯ มีรากฐานมาจากการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำระหว่างประเทศที่สำคัญในการพาณิชย์ระดับสากล นโยบายนี้ยังรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่โดยการต่อต้านการบังคับเปลี่ยนแปลงฝ่ายเดียวโดยรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลไต้หวัน นโยบายดังกล่าวยอมรับว่ารัฐบาลจีนเป็น “รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว” แต่ไม่แสดงจุดยืนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน “ช่างน่าทึ่งจริง ๆ หากมองกลับมาหลังจากผ่านไปหลายทศวรรษ ว่านี่คือบททดสอบแห่งกาลเวลา” นางบอนนี เกลเซอร์ กรรมการผู้จัดการโครงการอินโดแปซิฟิกของกองทุนเยอรมันมาร์แชล กล่าวระหว่างการประชุมฟอรัมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันนโยบายสังคมแห่งเอเชีย ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ในขณะเดียวกัน นายบุชอธิบายกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันว่า “มีความยืดหยุ่นที่น่าชื่นชม” ซึ่งหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมออกแบบกฎหมายได้กล่าวว่า ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น “คุณมีกฎหมายที่อยู่มาได้นานมากกว่า 40 ปีก็เพราะเป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือ” นายเลสเตอร์ วูลฟ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาสหรัฐฯ มาเป็นเวลา 16 ปี กล่าวกับสถาบันโกลบอลไต้หวันอินสทิทิว ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 นายวูลฟ์กล่าวว่าความคลุมเครือที่มีจุดประสงค์นั้นทำให้กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันได้รับการอนุมัติมากขึ้นในหมู่ประเทศที่เคร่งครัดในการสนับสนุนไต้หวันและประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นกับจีน กฎหมายนี้จึงได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้น

สถาบันอเมริกาในไต้หวันดำเนินความสัมพันธ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ กับไต้หวัน

ความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่ง “ที่จะช่วยรักษาสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในแปซิฟิกตะวันตก และส่งเสริมนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาโดยอนุญาตให้มีการสานต่อด้านการค้า วัฒนธรรม และความสัมพันธ์อื่น ๆ ระหว่างประชาชนของสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน” กฎหมายดังกล่าวยังได้รับการออกแบบมา “เพื่อแสดงความชัดเจนว่าการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยตั้งอยู่บนความคาดหวังว่าอนาคตของไต้หวันจะได้รับการกำหนดขึ้นโดยสันติวิธี”

นอกจากนี้ กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันยังระบุไว้ว่า สหรัฐฯ จะมอบ “อาวุธที่ใช้ป้องกัน” และ “รักษาสมรรถภาพของสหรัฐฯ ในการต่อต้านการใช้กำลังหรือการบีบบังคับรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง ระบบสังคม หรือระบบเศรษฐกิจของประชาชนไต้หวัน” แก่ไต้หวัน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหาร แต่สหรัฐฯ ก็ยังยึดมั่นในนโยบายที่ชื่อความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ของตนซึ่งกำหนดว่าจะเข้าแทรกแซงทางทหารหรือไม่หากรัฐบาลจีนรุกรานไต้หวัน นโยบายนี้ไม่เพียงมุ่งมั่นที่จะยับยั้งไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนรุกรานเท่านั้น แต่ยังขัดขวางไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการอีกด้วย นักวิเคราะห์อธิบาย

นางเกลเซอร์ระบุว่า การใช้ “การบีบบังคับ” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ “ถือเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ผู้ร่างกฎหมายคาดการณ์ว่าการบีบบังคับของจีนจะกลายเป็นศูนย์กลางของนโยบายรัฐบาลจีนต่อไต้หวันในอีกหลายทศวรรษต่อมา” นางเกลเซอร์กล่าว

การบีบบังคับของจีนอยู่ในรูปแบบของยุทธวิธีพื้นที่สีเทา โดยใช้การกลั่นแกล้งทางทหารและเศรษฐกิจเพื่อข่มขู่ไต้หวัน เช่น การส่งเครื่องบินขับไล่ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนไปใกล้ ๆ ไต้หวัน ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวเหนือน่านฟ้าไต้หวัน จัดการฝึกด้วยกระสุนจริงครั้งใหญ่ใกล้กับไต้หวัน และการห้ามนำเข้าผลิตผลและอาหารทะเล

ผู้นำจีนเข้าใจว่าการรุกรานไต้หวันจะนำไปสู่การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ นายบุชกล่าว “นั่นคือเหตุผลที่พวกเขามีส่วนร่วมในการบีบบังคับ ซึ่งเป็นตัวเลือกระดับกลางที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว” นายบุชกล่าวระหว่างการประชุมฟอรัมในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ณ กรุงไทเป ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ความยืดหยุ่นและนวัตกรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก

ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันเริ่มขึ้นหลายทศวรรษก่อนมีกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน รัฐบาลจีนข่มขู่ว่าจะผนวกรวมไต้หวันด้วยกำลังตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นปีที่ไต้หวันกลายเป็นที่ตั้งของรัฐบาลชาตินิยมจีนหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง สหรัฐฯ ให้ความคุ้มครองไต้หวันอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2498 ด้วยสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐจีน และรับรองมติร่วมของรัฐสภาที่ระบุว่า สหรัฐฯ สามารถใช้กองทัพของตนเพื่อปกป้องไต้หวันจากการโจมตีด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในหลายทศวรรษต่อมา สหรัฐฯ ใช้ความช่วยเหลือด้านการทูต กฎหมาย และทางทหารเพื่อรับรองการแก้ไขปัญหาอย่างสันติและความมั่นคงในภูมิภาค ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้ยกเลิกสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2523 หลังจากกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันได้ตราขึ้น ซึ่งสนธิสัญญานี้คุ้มครองไต้หวันอย่างมีประสิทธิภาพจากการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่อาจเกิดขึ้นจนถึง พ.ศ. 2522

ความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่ง

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน จัดตั้งสถาบันอเมริกาในไต้หวันเพื่อดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับไต้หวัน เช่นเดียวกันกับที่ไต้หวันบำรุงรักษาสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปในสหรัฐฯ ไว้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน “ได้ขยายวงกว้างและลึกซึ้งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ของประชาชนของพวกเรา รวมไปถึงความร่วมมือของเราที่ขยายบทบาทของไต้หวันในประชาคมโลก” นางลอร่า โรเซนเบอร์เกอร์ ประธานสถาบันอเมริกาในไต้หวัน กล่าวในสุนทรพจน์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หนึ่งเดือนหลังจากที่เธอได้พบกับนางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันในขณะนั้น

กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันระบุไว้ว่า ไต้หวันได้รับการปฏิบัติในฐานะหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันรู้จักกันในนามของ สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการจัดหาเงินทุนและโซลูชันประกันภัยสำหรับนักลงทุน ผู้ให้กู้ยืม ผู้รับเหมา และการลงทุนอื่น ๆ ในพื้นที่กำลังพัฒนาของสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ไต้หวันที่เจริญรุ่งเรืองได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสารกึ่งตัวนำชั้นนำของโลก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของสหรัฐฯ ในไต้หวันมีมูลค่าเกิน 1.1 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) นางโรเซนเบอร์เกอร์กล่าว โดยระบุว่าบริษัทชิปไมครอน ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในไต้หวัน มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน การลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ นำโดยการผลิต การเงินและประกันภัย และการค้าส่ง ตามรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 รัฐ 18 รัฐของสหรัฐฯ ได้เปิดหรือวางแผนที่จะเปิดสำนักงานผู้แทนการค้าในไทเป ใน พ.ศ. 2566 สินค้าและบริการของสหรัฐฯ ที่ซื้อขายกับไต้หวันมีมูลค่าถึง 5.8 ล้านล้านบาท (1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยประมาณ ไต้หวันเป็นพันธมิตรการค้า 10 อันดับแรกของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็เป็นพันธมิตรการค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของไต้หวันเช่นกัน

“เป็นเวลามากกว่าสี่ทศวรรษที่กรอบการทำงานนี้สนับสนุนการเติบโตของไต้หวันในฐานะสัญญาณของประชาธิปไตยในอินโดแปซิฟิก เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง และมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยี และแน่นอน นโยบาย “จีนเดียว” ของเราก็ช่วยรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของทั่วทั้งช่องแคบเช่นกัน” นางโรเซนเบอร์เกอร์กล่าว “สหรัฐอเมริกาและไต้หวันมีผลประโยชน์ที่ลึกซึ้งและมั่นคงร่วมกันในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพนี้ … ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันนั้นแข็งแกร่ง มีหลักการ และมีความเห็นพ้องต้องกันจากทั้งสองฝ่าย สหรัฐอเมริกาจะยืนหยัดเคียงข้างมิตรของเรา และจะยังคงทำต่อไป”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button