การยกระดับความร่วมมือ ด้านอวกาศ
ประชาคมโลกต้องการให้มีกฎและมาตรฐานที่ตกลงร่วมกันเพื่อความเจริญรุ่งเรือง
ร.ท. สตีเฟน ชโรเดอร์/กองทัพเรือสหรัฐฯ ทีมงานด้านอวกาศบูรณาการร่วมภาคพื้นแปซิฟิกของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนเป็นประเทศแนวหน้าของยุคแห่งโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ บทบาทสำคัญของอวกาศในฐานะทรัพยากรส่วนกลางระดับโลกได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแนวทางของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่เคยชัดเจนเท่านี้มาก่อน “ปัจจุบันอวกาศเป็นขอบเขตการต่อสู้ที่ปรากฏชัดเจน ซึ่งจําเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ยุทธศาสตร์ การดําเนินงาน การลงทุน ขีดความสามารถ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในทั่วทุกส่วนเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ใหม่” ตามรายงานของข้อมูลสรุปยุทธศาสตร์อวกาศกลาโหมประจำเดือนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ ประเทศพันธมิตรยังระบุถึงบทบาทของอวกาศในความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น โดยรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวในแผนโครงสร้างกองทัพ พ.ศ. 2563 ว่า “กระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องมีความสามารถในการใช้ระบบภาคพื้นดินและ/หรือทางอวกาศเพื่อส่งเสริมผลการปฏิบัติการในขอบเขตอวกาศโดยตรง” การประกาศให้พื้นที่อวกาศ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ในวงโคจรและบนพื้นดิน เป็นพื้นที่ที่อาจเกิดความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องมีแนวทางใหม่ ๆ และเป็นนวัตกรรมเพื่อรับรองว่า อวกาศเป็นสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ปลอดภัย ยั่งยืน และมีเสถียรภาพสําหรับการใช้งานร่วมกันของพลเรือน ด้านการค้า และการทหาร
“เรากําลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคอวกาศ” น.อ. โทชิฮิเดะ อาจิกิ เจ้าหน้าที่ประสานงานของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นกับกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าว “ประชาคมโลกจําเป็นต้องสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านอวกาศก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือความขัดแย้งในอวกาศ ผมเชื่อว่าความร่วมมือที่แท้จริงเริ่มจากความต้องการร่วมกันและการสร้างความไว้วางใจ”
ทว่าประชาคมโลกยังขาดบรรทัดฐานการปฏิบัติงานในด้านอวกาศที่ตกลงกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงแนวทางปฏิบัติและการปฏิบัติตามมาตรฐาน ความร่วมมือเป็นสิ่งสําคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในอินโดแปซิฟิก ซึ่งจะต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่อาจไม่มีขีดความสามารถด้านอวกาศภายในประเทศ
อาจกล่าวได้ว่าความร่วมมือระหว่างประเทศคือหัวใจสําคัญขององค์กรอวกาศ นับตั้งแต่สนธิสัญญาอวกาศ พ.ศ. 2510 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้ให้สัตยาบัน 105 ประเทศและลงนามอีก 25 ประเทศ ซึ่งถือเป็นชุดหลักการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศที่กว้างขวางที่สุดที่ประชาคมโลกยึดถือ หลักการเหล่านี้รวมถึงเสรีภาพในการเข้าถึงและสำรวจอวกาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางโดยปราศจากการอ้างสิทธิอธิปไตย ตลอดจนการใช้พื้นที่อวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสันติภาพ
แม้ว่าหลักการที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาอวกาศจะเน้นไปที่กลุ่มประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศในเวลานั้น ซึ่งได้แก่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต แต่สนธิสัญญาดังกล่าวได้วางรากฐานที่สำคัญสำหรับภาคส่วนที่กำลังเติบโตนี้ ข้อตกลงที่ตามมาเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ความรับผิดชอบต่อวัตถุอวกาศ (เช่น ดาวเทียมหรือยานพาหนะ) การจดทะเบียนวัตถุและการขยายกฎหมายระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมไปสู่อวกาศ ทว่าบรรทัดฐานขององค์กรอวกาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านวัสดุ เทคโนโลยี และการเงินของขีดความสามารถด้านอวกาศของแต่ละประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง บรรทัดฐานอย่างไม่เป็นทางการส่วนใหญ่เกิดจากความจำเป็นและความสนใจร่วมกันในการหาผลประโยชน์สูงสุดที่อาจเกิดขึ้นจากขีดความสามารถด้านอวกาศ อวกาศถูกจํากัดโดยทรัพยากรและความสามารถของประเทศหนึ่ง ๆ ในการจัดหาทุน สร้าง ปล่อย และบํารุงรักษาทรัพย์สินในวงโคจร
สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากนับตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และอวกาศสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากขีดความสามารถด้านอวกาศหากสามารถเข้าถึงได้ผ่านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ วิชาการ และพลเรือน บริษัทพาณิชย์หลายแห่งเสนอบริการการท่องเที่ยวในอวกาศ ให้เช่าแบนด์วิดท์ในระบบของตน และอนุญาตให้ใช้บริการส่งดาวเทียมสำหรับโครงการของพลเรือนและเชิงวิชาการ โลกสื่อสารและนําทางด้วยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม และมีตัวเลือกต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ทั่วโลก เช่น จีพีเอสของสหรัฐฯ กาลิเลโอของสหภาพยุโรป ระบบดาวเทียมนำร่องโลกของรัสเซีย หรือที่เรียกว่า
โกลนาส ตลอดจนเป่ยโต่วของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ขีดความสามารถทางทหารได้รับประโยชน์อย่างมากจากขีดความสามารถด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม ข่าวกรอง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน การเตือนภัยขีปนาวุธและตําแหน่ง การนําทางและการกําหนดเวลา ความก้าวหน้าเหล่านี้ได้ช่วยขยายขอบเขตปฏิบัติการและความสามารถในการคาดการณ์และรับมือกับวิกฤตการณ์ทั่วโลก เนื่องด้วยการประยุกต์ใช้ขีดความสามารถด้านอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างบรรทัดฐานจึงเป็นขั้นตอนต่อไปที่สําคัญเพื่อให้แน่ใจว่าอวกาศยังคงเป็นขอบเขตที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางทหารในอวกาศ และความร่วมมือต่าง ๆ ถือเป็นวิธีที่สําคัญในการกําหนดบรรทัดฐานเหล่านั้น
ความพยายามบางส่วนเมื่อไม่นานมานี้ได้ช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาดังกล่าว ข้อตกลงอาร์เทมิสที่ประกาศโดยนาซาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกรอบการทำงาน “ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการสำรวจและการใช้อวกาศร่วมกันในศตวรรษที่ 21” ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีประเทศผู้ลงนามทั้งสิ้น 39 ประเทศ รวมถึง ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีแนวโน้มดี แต่รัสเซียและจีนไม่ได้ลงนามในข้อตกลงนี้ หัวใจของหลักการของข้อตกลงอาร์เทมิสคือการใช้พื้นที่อวกาศด้วยสันติวิธี ความโปร่งใส การทำงานร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน การลงทะเบียนวัตถุ ตลอดจนการลดความขัดแย้งในกิจกรรมต่าง ๆ หลักการเหล่านี้แม้จะเน้นไปที่ภาคพลเรือน แต่ก็สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับกิจกรรมในเชิงพาณิชย์และการทหารในอวกาศได้
นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มติขององค์การสหประชาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ระบุว่า “ทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อลดภัยคุกคามต่อระบบอวกาศ โดยการพัฒนาและบังคับใช้บรรทัดฐาน กฎระเบียบ และหลักการของการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อไป” เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 รายงานของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับมติดังกล่าวได้ระบุถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นนับไม่ถ้วนและความเสี่ยงด้านความมั่นคงในอวกาศ รวมถึง “การกระทำและกิจกรรมที่ถือว่ามีความรับผิดชอบ ไร้ความรับผิดชอบ หรือเป็นภัยคุกคาม ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ” รายงานดังกล่าวยังยืนยันถึงการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในอวกาศ และนำเสนอแผนงานที่ครอบคลุมสําหรับบรรทัดฐานและพฤติกรรมที่ช่วยสร้างความร่วมมือได้
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้กำหนดหลักการในด้านพฤติกรรมอวกาศที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลักการเหล่านี้ “เป็นส่วนเสริมที่สําคัญของแนวทางซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยรัฐบาลสหรัฐฯ สมัครใจปฏิบัติตาม” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าว โดยทั่วไปแล้ว หลักการเหล่านี้กำหนดให้มีการใช้มาตรฐานการปฏิบัติงานระดับมืออาชีพ การจำกัดเศษซากอวกาศ การหลีกเลี่ยงการรบกวนที่เป็นอันตราย การรับรองความปลอดภัยของการแยกชิ้นส่วนและวิถีโคจร รวมทั้งการส่งการแจ้งเตือนที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคงในวงโคจร เมื่อสร้างรากฐานได้มั่นคง การรวมพันธมิตรเข้าด้วยกันจะเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงโครงการริเริ่มเหล่านี้
แม้ว่าจะมีข้อเสนอมากมายและกรอบการทำงานที่ไม่ผูกมัด แต่กลับยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับบรรทัดฐานสากล ซึ่งถือเป็นโอกาสสําหรับทั้งประเทศที่มุ่งมั่นจะเป็นและประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศ ประเทศที่มีบทบาทในด้านอวกาศและความสามารถภายในประเทศต่างพยายามสร้างบรรทัดฐานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคง ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศเองก็ตระหนักถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากอวกาศ และความร่วมมือกับประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
เช่น สหรัฐฯ มีความสามารถที่แข็งแกร่งในกิจการด้านอวกาศและจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งเครือข่ายหุ้นส่วนระดับโลกที่แข็งแกร่ง ด้วยความร่วมมือในลักษณะนี้ สหรัฐฯ อาจมีสิทธิ์ใช้การเข้าถึงทางภูมิศาสตร์สําหรับการปล่อยยานอวกาศ ในขณะที่ประเทศหุ้นส่วนจะได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความพยายามในด้านอวกาศ และส่งเสริมการทํางานร่วมกัน
กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เสนอหลาย ๆ ทางเลือกในการเริ่มต้นสร้างความร่วมมือ ข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังทางอวกาศ ได้รับการปรับให้เหมาะกับขีดความสามารถและความต้องการของประเทศหุ้นส่วนแต่ละแห่ง ประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและฝึกอบรมผ่านสถาบันต่าง ๆ ได้ เช่น ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง ในรัฐฮาวาย และสถาบันความมั่นคงด้านอวกาศแห่งชาติของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในรัฐโคโลราโด นอกจากนี้ ปฏิบัติการด้านอวกาศยังรวมอยู่ในการฝึกซ้อมแบบบูรณาการในทุกพื้นที่ เช่น การฝึกบาลิกาตันในฟิลิปปินส์ การฝึกคอบร้าโกลด์ในประเทศไทย ตลอดจนการฝึกการูด้าชิลด์ในอินโดนีเซีย เพื่อให้กองกำลังสามารถร่วมมือกัน แบ่งปันบทเรียน และนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดไปใช้ นอกจากนี้ การฝึกโกลบอลเซนทิเนล ซึ่งเป็นการสร้างแบบจำลองการเฝ้าระวังอวกาศครั้งใหญ่และการจำลองสถานการณ์ของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้ครบรอบ 10 ปีใน พ.ศ. 2567 โดยมีประเทศหุ้นส่วนมาเข้าร่วมมากกว่า 20 ประเทศ
อวกาศถือเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่และมีแนวโน้มว่าอาจมีบทบาทในความขัดแย้งในอนาคต บรรทัดฐานระหว่างประเทศอาจช่วยให้มั่นใจได้ว่าพื้นที่อวกาศนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ปลอดภัย และยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้ ความร่วมมือและการประสานงานกันถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างบรรทัดฐานดังกล่าวทั่วทั้งประชาคมโลก โดยทั้งประเทศที่มุ่งมั่นจะเป็นและประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทน ด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของความไว้วางใจและมาตรฐานที่เชื่อถือได้ พื้นที่อวกาศอาจเป็นพรมแดนที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอีกหลายปีข้างหน้า