ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การขยายขอบเขต

สามทศวรรษหลังจากเปลี่ยนแปลงจากระบอบคอมมิวนิสต์ มองโกเลียยอมรับบทบาทที่เติบโตขึ้นในด้านสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เมื่อมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวมองโกเลียประมาณ 200 คนมารวมตัวกันที่จัตุรัสซุขบาตาร์ในวันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 มีน้อยคนนักที่จะคาดคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จากจัตุรัสในเมืองหลวงอูลานบาตอร์ การประท้วงอย่างสันติจะแพร่กระจายไปทั่วประเทศที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและทะเลทราย ภายในสามเดือน ระบอบคอมมิวนิสต์ของมองโกเลียก็ได้สละอำนาจหลังจากปกครองมาเกือบ 70 ปี

เพียงสามทศวรรษหลังจากการปลดแอกจากการปกครองแบบพรรคเดียวและการเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลที่ตั้งอยู่ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียแห่งนี้ก็ได้พัฒนาเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการ มองโกเลียกำลังเปิดรับบทบาทนั้น โดยมุ่งเน้นไปที่นโยบาย “เพื่อนบ้านที่สาม” ในการมีส่วนร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากสองประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เช่น การประชุมครั้งแรกของมองโกเลีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาในช่วงกลาง พ.ศ. 2566 แสดงถึงการเริ่มต้นความร่วมมือไตรภาคีในด้านต่าง ๆ เช่น การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีและการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกสำหรับแร่ธาตุที่สำคัญ อีกทั้งยังส่งเสริมความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นของมองโกเลียต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพการฝึกซ้อมรักษาสันติภาพหุชาติข่านเควสต์ และการประชุมเจรจาอูลานบาตอร์ด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือประจำปี ไปจนถึงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในแหล่งปริมาณสำรองธาตุหายากที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“นโยบายต่างประเทศเพื่อนบ้านที่สามของมองโกเลียช่วยขยายความสัมพันธ์ทางการทูต การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมของมองโกเลียกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยหวังว่าจะขยายการมีส่วนร่วมของมองโกเลียกับประเทศอื่น ๆ ในโลก” นายโบลอร์ ลคาฮาจาฟ นักวิจัยและนักเขียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและอินโดแปซิฟิก กล่าวกับ ฟอรัม “จนถึงตอนนี้ แนวทางนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากและมีวิสัยทัศน์ไกล”

ทหารมองโกเลียและสหรัฐฯ ดำเนินการฝึกอบรมเพื่อการรักษาสันติภาพในมองโกเลียใน พ.ศ. 2566 กองทัพบกสหรัฐฯ

ก้าวไปข้างหน้าเสมอ

วิสัยทัศที่กว้างไกลของมองโกเลียทำให้ความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีเบ่งบานจากยุโรปถึงอเมริกาเหนือ โอเชียเนีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโครงการร่วมในภาคเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของเราไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” นายโอยุน-เออร์เดเน ลุฟซานนามสรัย นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย กล่าวระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เพื่อหารือกับผู้นำสหรัฐฯ “แต่มองโกเลียได้ก้าวเดินออกมาและจะก้าวต่อไปข้างหน้าเสมอ”

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นายแอมานุเอล มาครง กลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกที่ไปเยือนมองโกเลีย ห้าเดือนต่อมา นายคูเรลซูค อูคนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย ก็เป็นฝ่ายไปเยือนฝรั่งเศสบ้าง การเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายอูคนาในครั้งนี้มีการลงนามในข้อตกลงการลงทุนมูลค่า 6.24 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) กับบริษัทเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสออราโน เพื่อพัฒนาและดำเนินการเหมืองยูเรเนียมในจังหวัดดอร์โนโกวีทางตะวันออกเฉียงใต้ของมองโกเลีย ระหว่างการมาเยือน มองโกเลียยังได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทตาแล็สอาเลนียาสเปซ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตในความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลี ในการสร้างดาวเทียมเพื่อเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วมองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในโลก โดยมีประชากรเพียง 3.3 ล้านคน รวมถึงชุมชนเร่ร่อนที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ตั้งชื่อตามดาวเทียมเพื่อเป็นเกียรติแก่วีรบุรุษแห่งชาติ ชิงกีส ข่าน หรือที่รู้จักในชื่อ เจงกิส ข่าน ซึ่งจักรวรรดิในต้นศตวรรษที่ 13 ของเขาถือเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ “โครงการนี้ถือเป็นก้าวถัดไปที่สำคัญต่อการไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของมองโกเลียและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” นาย นยาม-โอโซร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาดิจิทัลและการสื่อสาร กล่าวในแถลงการณ์ “สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กว้างใหญ่ของเราให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเข้าถึงบริการสำคัญที่จำเป็นต่อพวกเขา”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมองโกเลียและเกาหลีใต้ได้ทำข้อตกลงกันระหว่างเจรจาที่กรุงโซลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและอุตสาหกรรมกลาโหม ท่ามกลางภัยคุกคามจากขีปนาวุธและนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือ ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป นายเซคานบายาร์ โกรเซด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมองโกเลีย ซึ่งได้เข้าร่วมงานนิทรรศการอวกาศยานและกลาโหมนานาชาติโซลระหว่างการเดินทางมาเยือน โดยได้ย้ำถึงการสนับสนุนของรัฐบาลมองโกเลียต่อความพยายามของเกาหลีใต้ในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

นายเจมส์ เฮปเปย์ รัฐมนตรีกระทรวงกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ได้เยือนมองโกเลียในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในภารกิจรักษาสันติภาพ เนื่องในโอกาสที่ทั้งสองประเทศเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต “สหราชอาณาจักรและมองโกเลียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ โดยทหารของเราได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในอัฟกานิสถานและในฐานะผู้รักษาสันติภาพในซูดานใต้” กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรระบุในแถลงการณ์

หนึ่งเดือนต่อมา พล.อ. ฝัน วัน เจือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ได้ประชุมกับนายเซคานบายาร์ ในอูลานบาตอร์ โดยทั้งสองได้ตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือในอุตสาหกรรมการกลาโหมและการร่วมมือในด้านการฝึกอบรมและการแพทย์ทหาร ตามรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติวอยซ์ออฟเวียดนาม ทั้งสองยังเน้นย้ำถึง “ความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและมั่นคงสำหรับความร่วมมือและการพัฒนาในทะเลตะวันออก หรือที่รู้จักกันในระดับสากลว่าทะเลจีนใต้ ไม่เพียงแต่สำหรับประเทศชายฝั่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลด้วย” รัฐบาลเวียดนามประณามรัฐบาลจีนที่ละเมิดอธิปไตยของเวียดนามในน่านน้ำพื้นที่ทะเลจีนใต้ผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น การบุกรุกของเรือจีนและการอ้างสิทธิ์ทางทะเลอย่างผิดกฎหมายที่มากเกินไป

ในขณะที่การสร้างความสัมพันธ์ของรัฐบาลมองโกเลียกำลังเป็นไปได้ด้วยดี รัฐบาลมองโกเลียยังต้องดูแลความสัมพันธ์ที่อาจจะไม่ราบรื่นกับเพื่อนบ้านที่มีอำนาจร้ายกาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จีนเพียงประเทศเดียวมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 83 ของการส่งออกของมองโกเลีย ในขณะที่จีนและรัสเซียรวมกันมีส่วนแบ่งร้อยละ 65 ของการนำเข้าของมองโกเลีย ตามรายงานของธนาคารโลก นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังตั้งอยู่ระหว่างมองโกเลียและท่าเรือ ซึ่งมีการบรรทุกสินค้าทางทะเลทั่วโลกร้อยละ 42 และขนถ่ายสินค้าร้อยละ 64 ที่ท่าเรือดังกล่าว “เรามีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ … แต่ผมมั่นใจว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองของเราจะยังคงเคารพทางเลือกของเราและความร่วมมือที่เรากำลังพัฒนา” นายโอยุน-เออร์เดเน กล่าวกับ โพลิติโค ซึ่งเป็นสื่อสิงพิมพ์รูปแบบดิจิทัล ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ

นายเอิร์ล คาร์ และนายนาธาเนียล โชเชต์ นักวิเคราะห์จากซีเจพีเอ โกลบอล แอดไวเซอร์ ในนิวยอร์กกล่าวว่า มองโกเลียไม่ต้องการเป็นประเทศที่อยู่คั่นกลางระหว่างสองมหาอํานาจที่ไม่ลงรอยกันเหมือนในช่วงสงครามเย็น “ดังนั้นการแสวงหา ‘แนวทางที่สาม’ และโครงการริเริ่มเชิงรุกสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะหันไปขยายการมีส่วนร่วมทั่วโลก เพื่อพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความใกล้ชิดเชิงภูมิศาสตร์กับมหาอำนาจในภูมิภาค” นายคาร์และนายโชเชต์เขียนให้กับนิตยสารเดอะดิโพลแมต เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 “ด้วยการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านแร่ธาตุที่สำคัญ การสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและเอเชียให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มองโกเลียกำลังจะเป็นประเทศหน้าใหม่ที่มีบทบาทในภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของอินโดแปซิฟิก”

นายแอมานุเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (คนที่สองจากขวา) ให้การต้อนรับนายคูเรลซูค อูคนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย สำหรับการเยือนปารีสอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทบาทสำคัญ

ใน พ.ศ. 2442 ชายหนุ่มอายุ 25 ปีจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพิ่งได้รับการว่าจ้างให้เป็นหัวหน้าวิศวกรของบริษัทเหมืองแร่จีนแห่งหนึ่ง ได้เดินทางร่วมกับคาราวานข้ามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียเพื่อค้นหาเหมืองทองคําอันเลื่องลือ “ซึ่งเปรียบเสมือนการไล่ตามสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” รวมถึงหลักฐานของแหล่งถ่านหิน ทองแดง เหล็ก และตะกั่ว “หนึ่งในกลุ่มคนที่เดินทางด้วยการขี่ม้าครั้งนี้ได้เดินทางไปถึงอูร์กา เมืองหลวงของมองโกเลียในทะเลทรายโกบี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าอูลานบาตอร์ มาร์โค โปโลได้อธิบายถึงค่ายและพิธีต้อนรับของชาวมองโกลได้อย่างถูกต้อง” นายเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ เขียนในบันทึกความจําของเขา ผู้ซึ่งได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 31 ของสหรัฐฯ หลังจากการเดินทางเหล่านั้น 30 ปี

ปัจจุบัน แร่ธาตุคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของการส่งออกของมองโกเลีย และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของรายได้ของรัฐบาล “ความอุดมสมบูรณ์ของทองแดง ยูเรเนียม ฟลูออไรต์ ธาตุหายากและทรัพยากรแร่ที่สําคัญอื่น ๆ ของมองโกเลียทําให้มองโกเลียอยู่ในตําแหน่งที่ดีในภูมิรัฐศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลก” บทความเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ในดิอินเทอพรีเทอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ของสถาบันโลวี ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านกิจการระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุ

แนวโน้มพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของจีนในการสกัดและแปรรูปธาตุหายาก นั่นรวมถึงภัยคุกคามจากรัฐบาลจีนที่ตัดการเข้าถึงแร่ธาตุเหล่านี้ ซึ่งมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม ดาวเทียม และเครื่องบินขับไล่ เช่นเดียวกับฝรั่งเศส หุ้นส่วนอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกก็ร่วมมือกับมองโกเลียเพื่อผลักดันบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงานและกระจายห่วงโซ่อุปทาน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่รัฐบาลและตัวแทนด้านอุตสาหกรรมจากมองโกเลีย เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้จัดการเจรจาเรื่องแร่ธาตุสำคัญครั้งแรกในอูลานบาตอร์ ซึ่งทุกฝ่าย “ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและบทบาทที่เป็นไปได้ของมองโกเลียในการตอบสนองความต้องการแร่ธาตุสำคัญของโลก” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุ

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าจะลงทุน 253 ล้านบาท (ประมาณ 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใน พ.ศ. 2570 เพื่อให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่มองโกเลียในการแปรรูปโลหะหายาก ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียได้ลงทุนประมาณ 734 ล้านบาท (ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาสำหรับ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในมองโกเลีย” รวมถึงการให้การศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพแก่เยาวชนชาวมองโกล ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย บริษัทสัญชาติออสเตรเลียและอังกฤษอย่าง ริโอทินโต ร่วมกับรัฐบาลมองโกเลีย ได้ประกาศในช่วงต้น พ.ศ. 2566 ว่าการทําเหมืองแร่ใต้ดินได้เริ่มขึ้นที่โอยูโทลโกย ในภูมิภาคโกบีใต้ของมองโกเลีย ภายใน พ.ศ. 2573 คาดว่าเหมืองแห่งนี้จะกลายเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และผลิตปริมาณโลหะที่จำเป็นสำหรับกังหันลมได้ 1,580 ต้นต่อวัน หรือผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ 16,400 ชิ้นต่อวัน โอยูโทลโกย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนประมาณ 80 กิโลเมตร ยังมีแหล่งแร่ทองคําที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ตามรายงานของไมน์นิ่ง เทคโนโลยี ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของภาคอุตสาหกรรม

“ทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลของมองโกเลียมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อมองโกเลียมาโดยตลอด” นางโบลอร์ นักวิจัยในสหรัฐฯ กล่าวกับ ฟอรัม “สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เป็นแรงจูงใจด้านนโยบายต่างประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นี่ถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่ผู้มีบทบาทระดับภูมิภาคและระดับโลกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวของมองโกเลีย ผ่านการลงทุน การเจรจา ความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชน

ตัวอย่างแท่งแกนจากเหมืองโอยูโทลโกย ในภูมิภาคโกบีใต้ของมองโกเลีย เผยให้เห็นร่องรอยของทองแดงและทองคำ ภายใน พ.ศ. 2573 คาดว่าเหมืองแห่งนี้จะกลายเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ภารกิจเพื่อสันติภาพ

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 นาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ส่งกำลังไปยังมองโกเลียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นาวิกโยธิน เพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมทวิภาคีใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนานายทหารชั้นประทวนและการปฏิบัติการสันติภาพ หนึ่งปีก่อนหน้านี้ มองโกเลียได้เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรก โดยส่งผู้สังเกตการณ์ทางทหารสองคนไปยังซาฮาราตะวันตก เมื่อการฝึกข่านเควสต์ครบรอบ 20 ปีในช่วงกลาง พ.ศ. ​​2566 การฝึกซ้อมดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมจากกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ได้เติบโตขึ้นจนมีบุคลากรจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ ตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงลาวที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรก การฝึกซ้อมระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ศูนย์ฝึกซ้อมไฟว์ฮิลส์นอกเมืองอูลานบาตอร์ ช่วยเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกันและความพร้อมสำหรับปฏิบัติการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ “จากมุมมองด้านนโยบายต่างประเทศ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่อย่างสันติของมองโกเลียและความคิดริเริ่มที่จะมีส่วนร่วมและร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศ” นางโบลอร์กล่าว “ข่านเควสต์เปิดโอกาสให้มองโกเลียขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความพยายามรักษาสันติภาพของมองโกเลีย”

ในช่วงสองทศวรรษเดียวกัน เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของมองโกเลียกว่า 14,000 คนได้ปฏิบัติภารกิจขององค์การสหประชาชาติไปทั่วโลก โดยในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 มองโกเลียได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการเกือบ 900 คน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 121 ประเทศที่มีส่วนร่วม กองกำลังมองโกเลียประมาณร้อยละ 12 ที่ปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพเป็นผู้หญิง ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายโดยรวมขององค์การสหประชาชาติที่ร้อยละ 9 ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมการมีส่วนร่วมของกองกำลังมองโกเลีย เมื่อนายโอยุน-เออร์เดเน เป็นนายกรัฐมนตรีมองโกเลียคนแรกที่ไปเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 และได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะจัดหายานพาหนะทางยุทธวิธีแบบเบาร่วม 20 คันให้กับรัฐบาลมองโกเลียสําหรับภารกิจรักษาสันติภาพ ในเดือนเดียวกันนั้น มองโกเลียได้ต้อนรับกองกําลังจากออสเตรเลีย เนปาล ไทย และสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการฝึกแปซิฟิก แองเจิล ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติที่นําโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ความร่วมมือด้านกลาโหมยังรวมถึงการหมุนเวียนที่ปรึกษาของกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือนไปยังกองบัญชาการกองทัพมองโกเลียเพื่อการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม “เราได้รับประโยชน์อย่างมากจากประสบการณ์ในมองโกเลีย ความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ … และจากความร่วมมือที่ยั่งยืนนี้” พ.ต. สตีฟ มอร์ส ผู้บัญชาการปฏิบัติการกองพลช่วยเหลือกองกำลังรักษาความปลอดภัยที่ 5 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในมองโกเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566

ความมุ่งมั่นของมองโกเลียที่มีต่อความร่วมมือพหุภาคียังได้แสดงออกมาให้เห็นในการประชุมอูลานบาตอร์ การประชุมระดับนานาชาติประจําปีเพื่อส่งเสริมความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันดังกล่าว จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2557 และสามารถสรุปได้ด้วยสุภาษิตมองโกเลียว่า “เมื่อทะเลสาบเงียบสงบฉันใด ก็จะพบเจอความสงบสุขฉันนั้น” ตามที่คณะผู้แทนสหประชาชาติในอูลานบาตอร์กล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม การรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุสมควรของรัฐบาลรัสเซีย การยิงขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนการซ้อมรบทางทหารที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น “สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศทั่วโลกกำลังมีความซับซ้อน ขัดแย้ง ยุ่งเหยิง และท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ” นางอิซึมิ นากามิตสึ หัวหน้าฝ่ายการปลดอาวุธขององค์การสหประชาชาติ กล่าวในการประชุมเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 “ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับปรุงระบบอาวุธให้ทันสมัยอย่างก้าวหน้า และการขาดความโปร่งใส ความไว้วางใจ และการเจรจา ได้นำพาโลกไปสู่ช่วงวิกฤตการณ์สำคัญ”

การประชุมต่าง ๆ เช่น การประชุมอูลานบาตอร์ เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมมาตรการความไว้วางใจที่ “มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแรงจูงใจ ลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมทางทหาร อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือแม้กระทั่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน” นางนากามิตสึกล่าว “เมื่อมาตรการสร้างความไว้วางใจมีผลบังคับใช้ในระยะยาว มาตรการเหล่านี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์ทวิภาคีและระดับภูมิภาค ช่วยชี้แจงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน และเปิดพื้นที่มากขึ้นสําหรับความไว้วางใจและความร่วมมือ ในท้ายที่สุด มาตรการสร้างความไว้วางใจสามารถใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการแสวงหามาตรการและข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการควบคุมอาวุธและการปลดอาวุธ”

ครอบครัวเร่ร่อนปกป้องบ้านพักอาศัยที่หุ้มด้วยหนังแกะ หรือที่เรียกกันว่า เกอร์ ในช่วงที่เกิดพายุฝุ่นในมองโกเลียตะวันออกเฉียงใต้ใน พ.ศ. 2566 ธนาคารโลกระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและการดำรงชีวิต” ในประเทศที่กว้างใหญ่นี้ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

แสงสว่างนำทาง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ และดีเวลลอปเมนต์ โซลูชัน องค์กรนอกภาครัฐในอูลานบาตอร์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในมองโกเลียเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านต่าง ๆ เช่น การหดตัวของภาคการเกษตร การขยายตัวของเมือง การหยุดชะงักของอุปทาน ความผันผวนของตลาด และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิในมองโกเลียกําลังอุ่นขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในโลก “และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและการดํารงชีวิต” ตามรายงานของธนาคารโลก

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า ซูด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีหิมะตกหนักในฤดูหนาวตามมาด้วยภัยแล้งในฤดูร้อนที่รุนแรง สามารถทำลายล้างพื้นที่เลี้ยงสัตว์และทำให้ปศุสัตว์ล้มตายหลายล้านตัวในหนึ่งปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 นายริชาร์ด บัวแกน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมองโกเลีย ได้ออกปฏิญญาว่าด้วยความต้องการด้านมนุษยธรรม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับอาหารสัตว์ ความช่วยเหลือทางการเงิน และการบรรเทาทุกข์อื่น ๆ หลังจากปรากฏการณ์ซูดทำให้ปศุสัตว์ล้มตายประมาณ 175,000 ตัว และทำให้วิถีชีวิตของผู้คนมากกว่า 210,000 คน
ตกอยู่ในความเสี่ยง

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้บริจาคเงินมากกว่า 1.38 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สําหรับโครงการริเริ่มในมองโกเลียเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริต เสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเมืองคาร์บอนต่ำ ทําเนียบขาวประกาศว่า ในระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตันของนายโอยุน-เออร์เดเน ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงระยะเวลาห้าปีมูลค่า 918 ล้านบาท (ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาดของชาวมองโกลและร่วมมือกับหุ้นส่วนภาคเอกชนเพื่อเปิดโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ จะมอบเงินอีก 22 ล้านบาท (ประมาณ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ) สําหรับโครงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเพื่อเพิ่มขีดความพร้อมรับมือของชุมชนในการป้องกันภัยพิบัติจากปรากฏการณ์ซูด

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2567 ซึ่งครบรอบ 5 ปี ของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในข้อตกลงน่านฟ้าเสรี สำหรับเที่ยวบินตรงเพื่อเพิ่มการค้าและการท่องเที่ยว ตามข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการบินพลเรือนแก่มองโกเลีย ทำเนียบขาวระบุว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศของเราอยู่ในช่วงเวลาที่แข็งแกร่งที่สุดและได้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของหลักการร่วมกัน การเคารพในหลักธรรมาภิบาล อำนาจอธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนนโยบายเพื่อนบ้านที่สามของมองโกเลีย”

นายโอยุน-เออร์เดเนกล่าวชื่นชมการพัฒนาความร่วมมือและความมุ่งมั่นที่ยั่งยืนของสหรัฐฯ “เราภูมิใจมากที่ชาวอเมริกันมองว่าเราเป็นบ่อเกิดแห่งประชาธิปไตย” นายโอยุน-เออร์เดเนกล่าว “ฉะนั้นสำหรับเราแล้ว สหรัฐอเมริกาไม่เพียงเป็นเพื่อนบ้านที่สามทางยุทธศาสตร์ของเรา แต่เปรียบเสมือนดาวเหนือที่นำทางในการเดินทางตามระบอบประชาธิปไตยของเราด้วย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button