กองทัพอากาศฟิลิปปินส์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับบทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคผ่านการมีส่วนร่วมครั้งประวัติศาสตร์ในการฝึกพิตช์แบล็ก พ.ศ. 2567
มาเรีย ที. เรเยส
ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ทำการยกระดับขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ของตนขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงความทันสมัยให้กองทัพของฟิลิปปินส์ ขั้นตอนสำคัญคือการมีส่วนร่วมในการฝึกพิตช์แบล็กที่นำโดยออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นการส่งสินทรัพย์ทางอากาศไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์
การเข้าร่วมการฝึกนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในด้านความมั่นคงในภูมิภาคและการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ในขณะที่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ดำเนินการตามแผนการบิน พ.ศ. 2583 อันทะเยอทะยาน ข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการฝึกพหุชาติพิตช์แบล็กก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางอากาศและบทบาทด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การฝึกพิตช์แบล็กที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ถือเป็นการฝึกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การฝึก 43 ปี โดยมีอากาศยานเข้าร่วมมากกว่า 140 ลำ และมีบุคลากรที่เข้าร่วมอีก 4,400 คนจาก 20 ประเทศ
“การเข้าร่วมการฝึกพิตช์แบล็ก พ.ศ. 2567 ทำให้เราสามารถยกระดับความพร้อมในปฏิบัติการและเสริมสร้างมิตรภาพกับบุคลากรจากต่างประเทศ” น.อ. แรนดี พาสคัว ผู้บัญชาการกองกำลังของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ กล่าวในแถลงการณ์ “ประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากการฝึกครั้งนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อภารกิจของเราในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค”
กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้ส่งเครื่องบินขับไล่เบา เอฟเอ-50 ที่ผลิตในเกาหลีใต้จำนวน 4 ลำมาเข้าร่วม ซึ่งเป็นเครื่องบินเปลี่ยนผ่านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ การฝึกพิตช์แบล็กเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวที่สำคัญสู่แผนการบิน พ.ศ. 2583 ซึ่งมุ่งหวังให้กองทัพอากาศฟิลิปปินส์เป็น “กองทัพอากาศที่มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำสงครามสมัยใหม่ รวมถึงตอบสนองต่อความมั่นคงและการพัฒนาระดับชาติและระดับภูมิภาค”
“นี่คือสถานที่ในการฝึกซ้อมของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์สำหรับสินทรัพย์ในอนาคตซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นแสนยานุภาพทางอากาศในภูมิภาคนี้” นายเชสเตอร์ คาบัลซา ประธานคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา กล่าวกับ ฟอรัม
อีกทั้งการฝึกซ้อมครั้งดังกล่าวยังเป็น “โอกาสในการเปรียบเทียบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับผู้เข้าร่วมประเทศอื่น ๆ ในด้านการบูรณาการฐานทัพและระบบอาวุธของ กองทัพฟิลิปปินส์” นายคาบัลซากล่าว
ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ “ในการยกระดับกลไกการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการป้องปรามร่วมกัน”
การปรับปรุงความทันสมัยให้กองทัพฟิลิปปินส์นี้ได้รับแรงผลักดันจากหลายปัจจัย เช่น การรุกรานในทะเลจีนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน การก่อความไม่สงบของกลุ่มคอมมิวนิสต์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้ปรับปรุงขีดความสามารถในการเฝ้าระวังและกำลังอาวุธ โดยการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ
นายคาบัลซากล่าวว่า การสร้างใหม่และการปรับโครงสร้างของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ยังต้องมีการยกระดับ “ระบบการบำรุงรักษาในระดับคลังสรรพาวุธและข้อกำหนดของสนามบินขนาดเล็ก” เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ความทันสมัย และการทำงานร่วมกันได้ตามที่ต้องการ
“การเชื่อมโยงกันของการปฏิบัติการฐานทัพและความพร้อมควรได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแสนยานุภาพทางอากาศที่มีความสามารถและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งวางแผนให้มีกองบินอเนกประสงค์ที่แข็งแกร่ง” นายคาบัลซากล่าว
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์