แรงงานออสเตรเลียจะได้เรียนรู้รายละเอียดเชิงลึกของการออกแบบและการผลิตขีปนาวุธพิสัยไกล
ทอม แอบกี
ออสเตรเลียสนับสนุนความมุ่งมั่นของตนในการผลิตขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลภายใน พ.ศ. 2568 ด้วยโครงการริเริ่มที่นำโดยรัฐบาลเพื่อพัฒนา “แรงงานที่มีความสามารถ ทักษะ และการศึกษา” ซึ่งสามารถออกแบบ ทดสอบ ผลิต จัดจำหน่าย และบำรุงรักษาอาวุธเหล่านี้ได้
กองทัพออสเตรเลียประกาศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ว่าบุคลากรทางทหารและอุตสาหกรรมกลาโหมที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการฝึกอบรม เพื่อเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาโทด้านยุทโธปกรณ์ระเบิดผ่านโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิด เป้าหมายคือเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพออสเตรเลียต้องพึ่งพาอุปกรณ์และความเชี่ยวชาญทางทหารจากประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว
ผู้เรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐานต่าง ๆ เช่น เคมี การพัฒนา และลักษณะของยุทโธปกรณ์ระเบิด พร้อมทั้งวิธีการจัดการกับวัสดุอันตรายและชิ้นส่วนขีปนาวุธอย่างถูกต้อง
กองทัพออสเตรเลียยังได้จัดการประชุมชุมชนเกี่ยวกับแผนการของกองทัพในการขยายพื้นที่จัดเก็บยุทโธปกรณ์ระเบิดและอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ ที่ดีเฟนซ์เอสทาบลิชเมนต์ออคาร์ดฮิลส์ ที่อยู่ใกล้กับซิดนีย์
โครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 33 ในบริสเบนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ออสเตรเลียและสหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะสร้างความสามารถในการผลิตอาวุธนำวิถีที่ยืดหยุ่นในออสเตรเลีย โดยเบื้องต้นจะมุ่งเน้นไปที่การร่วมผลิตระบบยิงจรวดหลายลำกล้องนำวิถีในภายใน พ.ศ. 2568 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
การอนุมัติงบประมาณและสัญญากับบริษัทกลาโหมได้ผลักดันโครงการนี้ไปข้างหน้า
“รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบต้องทำให้แน่ใจว่าออสเตรเลียมีเสบียงยุทโธปกรณ์เพียงพอและมีความสามารถทางอุตสาหกรรม เพื่อรับรองว่าเราจะไม่ต้องพึ่งพาการจัดหาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว” นายแพท คอนรอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลาโหมของออสเตรเลีย กล่าวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายคอนรอยอ้างถึงกรณีการรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุอันสมควรของรัฐบาลรัสเซียว่า เป็นตัวอย่างสถานการณ์ที่ประเทศอธิปไตยจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์อย่างฉับพลัน รัฐบาลออสเตรเลียได้ทุ่มงบประมาณสูงถึง 5.10 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดตลอดทศวรรษหน้า นายคอนรอยกล่าว
ความสามารถด้านขีปนาวุธพิสัยไกลที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นเป็นคำแนะนำหลักของบทวิจารณ์แผนยุทธศาสตร์กลาโหม ซึ่งออกโดยกองทัพออสเตรเลียในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566
การลงทุนจนถึงปัจจุบันรวมถึงสัญญามูลค่า 898 ล้านบาท (ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ระหว่างกองทัพออสเตรเลียและบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ออสเตรเลีย เพื่อผลิตขีปนาวุธนำวิถีชุดแรกในออสเตรเลีย และอีก 5.39 พันล้านบาท (ประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปรับปรุงโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์สองแห่งสำหรับการผลิตอาวุธเพิ่มเติมในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย
นายคอนรอยได้อธิบายถึงสัญญาที่ทำกับบริษัทล็อกฮีด มาร์ตินไว้ว่าเป็น “การแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดของออสเตรเลีย” นายคอนรอยกล่าวว่า การผลิตในออสเตรเลีย “จะเข้ามาช่วยเสริมการจัดหาขีดความสามารถโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดระยะไกล และเสริมความสามารถของกองทัพออสเตรเลียในการปกป้องประเทศและผลประโยชน์ของออสเตรเลีย”
เรย์ทีออนออสเตรเลียก็เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดอีกรายหนึ่ง บริษัทด้านกลาโหมของออสเตรเลีย ได้แก่ ออเรคอน และออสเตรเลียนมิสไซล์คอร์ปอเรชัน ก็เป็นหุ้นส่วนในโครงการนี้
การลงทุนเพิ่มเติมในโครงการจัดการอาวุธนำวิถีและยุทโธปกรณ์ระเบิดประกอบไปด้วย การลงทุนมูลค่า 3.14 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 876 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการจัดหาขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กมากกว่า 200 ลูกสำหรับกองทัพเรือออสเตรเลีย การลงทุนมูลค่า 1.04 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการจัดหาขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรังสีระยะไกลสำหรับกองทัพอากาศออสเตรเลีย และการลงทุนมูลค่า 3.59 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการจัดซื้อจรวดหลายลำกล้องเพิ่มเติมสำหรับกองทัพบกออสเตรเลีย
“เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราพิสูจน์ขีดความสามารถของเรา วิสัยทัศน์ของเราคือการก้าวเข้าสู่การใช้อาวุธที่ซับซ้อนมากขึ้น และยกระดับบริษัทออสเตรเลียเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” นายคอนรอยกล่าว
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์