เวียดนามพัฒนาการปราบปรามการค้ามนุษย์
เรดิโอฟรีเอเชีย
ในรายงานการค้ามนุษย์ประจําปีของสหรัฐอเมริกา อันดับของเวียดนามสูงขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน และเวียดนามไม่ใช่หนึ่งในประเทศที่มีการค้ามนุษย์ร้ายแรงที่สุดในเอเชียอีกต่อไป ซึ่งรายงานฉบับนี้มีสาธารณรัฐประชาชนจีน กัมพูชา เมียนมา และเกาหลีเหนือ อยู่ในรายชื่อด้วย
รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้ามนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหลอกลวงทางออนไลน์
ใน พ.ศ. 2566 รายงานดังกล่าวยังระบุถึงความพยายามของเวียดนามในการต่อสู้กับอาชญากรรมหลังจากที่สังเกตเห็นถึง
การค้าประเวณีและการลักพาตัวที่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันเวียดนามอยู่ในรายชื่อ “ระดับ 2” ของรายงานนี้ ซึ่งหมายถึงประเทศที่มี “ความพยายามอย่างมาก” เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานในการกำจัดการค้ามนุษย์
รัฐบาลเวียดนามได้ “แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มความพยายามในภาพรวม” เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ต่อสภานิติบัญญัติและสั่งให้มีการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ตามข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุด
เกาหลีเหนือและจีนยังคงเป็นประเทศ “ระดับ 3” ซึ่งหมายถึงประเทศที่ไม่ทำตามมาตรฐานการต่อต้านการค้ามนุษย์ “และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้” รายงานดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลจีนมีความพยายามเพียงเล็กน้อยในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงทางออนไลน์ และความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศหลังจากพลเมืองจีนถูกกล่าวหาว่าทำการค้ามนุษย์
ทว่าแผนการบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวาง รวมถึงแผนการต่อต้านชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียง ทําให้จีนเป็นหนึ่งในอาชญากรที่เลวร้ายที่สุด รายงานยังระบุถึงการบังคับใช้แรงงานในโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
เจ้าหน้าที่เน้นย้ำให้เห็นบทบาทของกลุ่มหลอกลวงทางไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหยื่อการค้ามนุษย์ถูกบังคับให้กระทําการฉ้อโกงทางออนไลน์ กัมพูชาและพม่าก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในอันดับที่แย่ที่สุดเช่นกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในสองประเทศนี้ การจัดหาคนมาทำงานในกิจกรรมการค้ามนุษย์เหล่านี้เป็นที่แพร่หลายมาก
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในกัมพูชาเป็นที่ที่มีการหลอกลวงบังคับใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และ “การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่” ที่นี่หมายความว่าทางการไม่เพียงแต่ไม่ปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ยังอํานวยความสะดวกในการค้ามนุษย์อีกด้วย
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของศูนย์หลอกลวงทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับงานต่อต้านการค้ามนุษย์ทั่วโลก โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์และมีผู้คนจํานวนมากถูกล่อลวงให้ตกเป็นเชลย
นายบลิงเคนยกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอบโฆษณารับสมัครงานออนไลน์และผลลัพธ์คือ “ถูกนําตัวไปยังสถานที่คุมขังโดดเดี่ยวในเมียนมาและยึดโทรศัพท์มือถือ” อีกทั้งยังถูกบังคับให้ใช้กลลวงแบบพิศวาสอาชญากรรม เพื่อล่อลวงผู้คนให้ส่งสกุลเงินดิจิทัล
ผู้คนจํานวนมากขึ้นทั่วทั้งเอเชียตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมดังกล่าวทุกปี ซึ่งล้มล้าง “แนวคิดผิด ๆ ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าการค้ามนุษย์ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเท่านั้น” นายบลิงเคนกล่าว