เกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้ในกองทัพ
ฟีลิกซ์ คิม
เกาหลีใต้มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมารวมเข้ากับปฏิบัติการทางทหาร โครงการริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติการและสอดคล้องกับเป้าหมายที่มองการณ์ไกลกว้างขวางขึ้นของเกาหลีใต้ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาที่สำคัญของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะช่วยพลิกโฉมกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากการลงทุนจำนวนมหาศาลของรัฐบาล
รัฐบาลเกาหลีใต้กําลังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งมีเสียงรบกวนต่ำและเหมาะสําหรับปฏิบัติการทางทหารภาคสนาม กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ได้ประกาศมอบเงินเกือบ 110 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับเกีย บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบพกพา เครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทนี้จะมาแทนที่เครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลมีเสียงดังและผลิตความร้อนมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย
เครื่องกําเนิดไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “เอื้อต่อการใช้งานในสภาพแวดล้อมการปฏิบัติการทางทหารอย่างมาก” กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุ เทคโนโลยีนี้ยังมีศักยภาพในการใช้งานด้านพลเรือน เช่น ในด้านการรับมือกับภัยพิบัติ
ในงานเวิลด์ดีเฟนส์โชว์ พ.ศ. 2567 บริษัทเกียได้นำเสนอยานยานพาหนะสำหรับทุกสภาพภูมิประเทศที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเปิดตัวเป็นยานพาหนะตามแนวคิดทางทหาร อีวี9 ในงานนิทรรศการยานอวกาศและกลาโหมนานาชาติโซล พ.ศ. 2566 ตามรายงานของเจนส์ เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าวกรอง ตัวรถมีชุดเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน พร้อมเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 90 กิโลวัตต์ และถังไฮโดรเจนขนาด 6.3 กิโลกรัม ซึ่งวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 480 กิโลเมตร
ยานพาหนะดังกล่าวออกแบบมาเพื่อสภาพแวดล้อมในสนามรบที่ขรุขระและสมบุกสมบัน โดยมีการให้พลังงานที่เชื่อถือได้ผ่านฟังก์ชันถ่ายโอนพลังงานไฟฟ้าจากยานพาหนะ ซึ่งสามารถนำไปชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือยานพาหนะอื่น ๆ ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการของเกียในการผลิตยานพาหนะสําหรับการใช้งานทางทหารและความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ
ความพยายามของเกาหลีใต้ในการส่งเสริมกองทัพให้ใช้พลังงานไฮโดรเจนได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคเอกชน นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตกลงที่จะร่วมมือกันในการลดต้นทุนและกําหนดกฎระเบียบระหว่างประเทศสําหรับอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนในปลาย พ.ศ. 2566 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะโคเรียไทมส์ ความร่วมมือทวิภาคีถือว่ามีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีไฮโดรเจนและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้แน่ใจว่ามีการจัดหาเชื้อเพลิงที่เชื่อถือได้สําหรับปฏิบัติการทางทหาร
นอกจากนี้ สำนักงานโครงการจัดซื้อด้านกลาโหมของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เซ็นสัญญากับบริษัทดูซาน โมบิลิตี อินโนเวชัน เพื่อจัดหาอากาศยานไร้คนขับที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนให้กับกองทัพอากาศเกาหลีใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ อากาศยานชนิดนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่พัฒนาขึ้นในประเทศ ซึ่งช่วยให้บินนานขึ้นและมีเสียงรบกวนน้อยลง ช่วยเพิ่มความสามารถในการเฝ้าระวังและลาดตระเวน
ดูซาน โมบิลิตี อินโนเวชันระบุว่า “อากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่สามารถบินได้เพียง 10 ถึง 30 นาทีเท่านั้น ในขณะที่อากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงสามารถบินได้นานกว่า 2 ชั่วโมง” ตามรายงานของเว็บไซต์เอเชียน มิลิทารี รีวิว
เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจน เกาหลีใต้กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีเติมเชื้อเพลิงและห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อเพลิงพร้อมใช้งานและเชื่อถือได้ในการใช้งานทางทหาร
การวิจัยการใช้ไฮโดรเจนในเรือและเครื่องบินของกองทัพเรือเองก็กําลังดําเนินการอยู่เช่นกัน ตามรายงานของอุตสาหกรรม เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถขับเคลื่อนระบบเสริมของเรือและเรือดำน้ำได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล อีกทั้งไฮโดรเจนยังอาจเติมเชื้อเพลิงให้กับโดรนและเครื่องบินที่ใช้คนขับได้
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้