สภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการัง

รอยเตอร์

สหรัฐฯ จะยกหนี้ให้อินโดนีเซียจํานวน 1.29 พันล้านบาท (ประมาณ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดช่วง 9 ปีข้างหน้า เพื่อแลกกับการที่อินโดนีเซียต้องฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการังในภูมิภาคทางทะเลที่เชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก

แนวปะการังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทําให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นและก่อให้เกิดความเครียดจากความร้อนที่กระตุ้นให้ปะการังฟอกขาว

การฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่อปะการังขับสาหร่ายหลากสีที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา หากไม่มีสาหร่าย ปะการังก็จะซีด เสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ติดเชื้อโรค หรือตาย องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า แนวปะการังในทะเลมากกว่าร้อยละ 54 ของโลกกําลังประสบกับความเครียดจากความร้อนในระดับการฟอกขาว

นายโญมัน ซูกิอาร์โต นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวอินโดนีเซีย ได้พยายามอนุรักษ์แนวปะการังใกล้หมู่บ้านบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2567 งานของนายซูกิอาร์โตล้มเหลวเนื่องจากการฟอกขาวของปะการังจำนวนมาก ซึ่งเขากล่าวโทษอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วิดีโอจาก: รอยเตอร์

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยน “หนี้สินเพื่อธรรมชาติ” ครั้งที่สี่ทั้งสองประเทศได้บรรลุตั้งแต่ พ.ศ. 2552 และคาดว่าจะจัดหาเงินทุนอย่างน้อย 15 ปีสําหรับงานอนุรักษ์ในสองพื้นที่ที่สําคัญของพื้นที่สามเหลี่ยมปะการัง

ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายอยู่ที่ท้องทะเลเบิร์ดส์เฮดและท้องทะเลทะเลซุนดา-บันดาน้อย ซึ่งทั้งสองแห่งมีพื้นที่หลายแสนเฮกตาร์ เป็นที่อยู่อาศัยของปะการังทั้งหมดมากกว่า 3 ใน 4 ชนิด และปลา เต่า ฉลาม วาฬ และโลมากว่า 3,000 ชนิด

อินโดนีเซียมีแนวปะการังประมาณ 5.1 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่แนวปะการังทั้งหมดของโลก ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย

“ทั้งสองภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพ” นายอเล็กซานเดอร์ พอร์ตนอย ที่ปรึกษากฎหมายขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ซึ่งช่วยจัดการข้อตกลงนี้ กล่าว

อินโดนีเซียได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนหนี้สินก่อนหน้านี้กับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2552, 2554 และ 2557 ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2.57 พันล้านบาท (ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นี่เป็นครั้งแรกที่มีการให้ความสำคัญกับแนวปะการังมากกว่าป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซีย เพราะสวนปาล์มน้ำมันที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นอันตรายต่อป่าฝนเขตร้อน

แนวปะการังนั้นยากต่อการอนุรักษ์ในระดับประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิโลก รวมทั้งมลพิษ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อินโดนีเซียไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง

ข้อตกลงดังกล่าวจะยกเว้นหนี้ของรัฐบาลอินโดนีเซียจำนวน 955 ล้านบาท (ประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้กฎหมายคุ้มครองป่าเขตร้อนและแนวปะการังแห่งสหรัฐฯ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติจะบริจาคเงิน 110 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอีก 55 ล้านบาท (ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะมาจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอื่นที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการแลกเปลี่ยนหนี้สิน

อินโดนีเซียจะมุ่งมั่นฟื้นฟูแนวปะการัง ในขณะที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่นจะใช้เงินทุนจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อระบบนิเวศของแนวปะการังและการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของผู้คนที่พึ่งพาแนวปะการัง

นายพอร์ตนอยกล่าวว่า การแลกเปลี่ยนหนี้สินเพื่อธรรมชาติได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อ “ทลายวงจร” ความตึงเครียดทางหนี้ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button