อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียใต้

อินเดียเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศและศรีลังกา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

อินเดียและบังกลาเทศกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยลงนามข้อตกลงเพื่อขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล เศรษฐกิจในมหาสมุทร และประเด็นอื่น ๆ ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากศรีลังกาเปิดเผยถึงการยกระดับศูนย์ติดตามของกองทัพเรือที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากอินเดีย

โครงการริเริ่มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงนโยบาย “เพื่อนบ้านต้องมาก่อน” ของอินเดียในการจัดการความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุด 8 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน มัลดีฟส์ เมียนมา เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา โดยมีเป้าหมายคือการยกระดับการเชื่อมโยงทางกายภาพ ดิจิทัล และระหว่างผู้คน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมด้านการค้าและการพาณิชย์ด้วย นโยบายดังกล่าว “ได้พัฒนาไปสู่ความสำคัญระดับสถาบันสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของรัฐบาล” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักการของอินเดียว่าด้วยความมั่นคงและการเติบโตสำหรับทุกฝ่ายในภูมิภาค ซึ่งสนับสนุนให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ “เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม สงบสุข และรุ่งเรือง” หลักการนี้มี “ความใกล้เคียง” กับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสถาบันวิจัยมูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา

มาตรการด้านความมั่นคงที่มีการยกระดับร่วมกับบังกลาเทศและศรีลังกาเกิดขึ้นภายหลังจากคำมั่นสัญญาของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ว่าจะยกระดับการเตรียมพร้อมและอิทธิพลทางทหารของประเทศ”รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การขยายการผลิตและการส่งออกด้านกลาโหม” นายโมทีกล่าว ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “เราจะไม่หยุดจนกว่าภาคกลาโหมจะพึ่งพาตนเองได้”

นอกจากนี้ อินเดียยังตระหนักดีว่าประเทศตนอยู่ติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งแสวงหาอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกผ่านมาตรการที่มิชอบด้วยกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และหลอกลวง อินเดียและจีนมีพรมแดนร่วมกันยาวถึง 2,100 กิโลเมตร หรือที่เรียกว่าเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามที่จะอ้างสิทธิ์ต่อไปว่าเป็นอาณาเขตของตนมาอย่างยาวนาน

“จีนถือเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวของอินเดียอย่างแท้จริงทั้งในบริเวณชายแดนและในมหาสมุทรอินเดีย” นายวิรัช โซลันกี ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “ประเด็นนี้ส่งผลให้ความร่วมมือด้านกลาโหมหลายประการของอินเดียเปลี่ยนแปลงไป หรือเพียงมุ่งเน้นที่การตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

การยกระดับความร่วมมือครั้งล่าสุดเริ่มต้นขึ้นในศรีลังกา โดยศูนย์ประสานงานช่วยเหลือทางทะเลที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 218 ล้านบาท (ประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากอินเดียได้เปิดทำการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ศูนย์ที่ได้รับการยกระดับแห่งนี้มีความสามารถในการติดตามการขนส่งในพื้นที่อันกว้างใหญ่ โดยกองบัญชาการกองทัพเรือของศรีลังกาในเมืองโคลัมโบประกอบด้วยสถานีระยะไกลเจ็ดแห่งตลอดแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงสถานีหนึ่งที่อยู่ใกล้กับท่าเรือฮัมบันโตตาที่ดำเนินการโดยจีน

นายเอส. ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เปิดสถานที่ดังกล่าวและระบุในสื่อสังคมออนไลน์ว่า เมืองโคลัมโบเป็นส่วนสำคัญของนโยบายความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคและความมั่นคงทางทะเลของอินเดีย ตามรายงานของเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

เพียงสองวันให้หลัง ระหว่างการมาเยือนอินเดียของนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงเพื่อกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมร่วมกัน จากนั้นกองทัพเรือบังกลาเทศได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทการ์เดนรีช ชิปบิลเดอร์ แอนด์ เอนจิเนียร์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับเรือลากจูงขนาด 800 ตัน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำคัญฉบับแรกที่อยู่ภายใต้วงเงินสินเชื่อจำนวน 1.82 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่รัฐบาลอินเดียเสนอให้กับบังกลาเทศใน พ.ศ. 2566 สำหรับการจัดซื้อด้านกลาโหม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button