ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

องค์การสหประชาชาติตำหนิอย่างรุนแรงเกี่ยวกับประวัติด้านสิทธิ์มนุษยชนของจีน

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 จากประเทศและองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เกี่ยวกับประวัติด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศสมาชิกของยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศต้องเข้ารับการตรวจสอบทุกสี่ถึงห้าปี ก่อนจะรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่ประเทศนั้น ๆ ยินดีที่จะยอมรับ

ในระหว่างการตรวจสอบของจีนในเดือนมกราคม ประเทศที่สำคัญต่าง ๆ ได้เน้นย้ำถึงการที่รัฐบาลจีนกีดกันเสรีภาพของพลเมืองและกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติอันครอบคลุมที่บังคับใช้กับฮ่องกงใน พ.ศ. 2563 เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างหลังจากการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านั้นยังส่งคำเตือนถึงความพยายามที่จะลบล้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาในทิเบต และการกดขี่ในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งรัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่าคุมขังชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ มากกว่า 1 ล้านคน

ประเทศต่าง ๆ ยื่นข้อเสนอแนะกว่า 428 รายการให้แก่จีน ซึ่งรวมถึงการประณามอย่างรุนแรง ทว่าก็ยังคงมีข้อเสนอแนะ เช่น “ปกป้องสิทธิ์ทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่อไป” จากอิหร่าน

ในระหว่างกระบวนการรับรองในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม คณะผู้แทนจีนคนหนึ่งได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจีนได้รับรองข้อเสนอแล้วร้อยละ 70 แต่ได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ของประเทศตะวันตกอย่างสิ้นเชิง

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าจีนกดดันผู้สนับสนุนของตนให้ใช้เวลาพูดที่กำหนดไปกับการกล่าวชื่นชม

โดยมีประเทศที่ได้รับอนุญาตให้พูดรวมทั้งหมด 15 ประเทศ ซึ่งรวมถึง รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เวเนซุเอลา และซิมบับเว

จีน “ได้ปฏิเสธที่จะดําเนินการใด ๆ ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาคมโลกเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และปฏิเสธข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์มากมาย” นางมิเชล เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว

เธอเน้นย้ำถึง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กําลังเกิดขึ้นในซินเจียง”

นี่เป็นครั้งแรกที่จีนได้รับการตรวจสอบนับตั้งแต่นางมิเชล บาเชเลต์ อดีตหัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ได้เผยแพร่รายงานชี้แจงรายละเอียดการละเมิดในซินเจียงใน พ.ศ. 2565 ซึ่งรัฐบาลจีนก็ปฏิเสธด้วยเช่นกัน

นายไซมอน แมนลีย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้จีนปฏิเสธทุกข้อเสนอแนะของสหราชอาณาจักร”

“ในการทําเช่นนั้น รัฐบาลจีนไม่ยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และได้พยายามอ้างอีกครั้งว่า การประเมินสถานการณ์ในซินเจียงของยูเอ็นเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมายและไม่ถูกต้อง” ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย”

“จีนปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ได้รับกว่าร้อยละ 30” นายราฟาเอล เวียนา เดวิด จากองค์การบริการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าว

“ภาพลักษณ์ที่รัฐบาลจีนพยายามสร้างว่าเป็นผู้มีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในยูเอ็นได้พังทลายลง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button