ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ริมออฟเดอะแปซิฟิก: มรดกแห่งความร่วมมือทางทหารในทะเล

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเสริมสร้างขีดความสามารถทางยุทธวิธีและการทำงานเป็นทีมเป็นเป้าหมายระยะยาวของการฝึกร่วมทางทหารริมออฟเดอะแปซิฟิก กิจกรรมการฝึกซ้อมทางทะเลระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้จัดขึ้นโดยกองเรือประจำภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในบริเวณและพื้นที่รอบ ๆ หมู่เกาะฮาวาย

การฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิกครั้งที่ 29 จัดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยมี 29 ประเทศเข้าร่วม และประกอบไปด้วยเรือผิวน้ำ 38 ลำ เรือดำน้ำ 3 ลำ กองกำลังภาคพื้นดิน 14 ชาติ อากาศยานประมาณ 170 ลำ และเจ้าหน้าที่มากกว่า 25,000 คน หัวข้อของ พ.ศ. 2567 คือ “หุ้นส่วน: การรวมพลังและการเตรียมพร้อม” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเน้นย้ำด้านความสามารถในการทำงานร่วมกันดังที่เคยเป็นมาในอดีตของการฝึกที่จัดขึ้นทุกสองปีนี้

เรือจากบรูไน แคนาดา ชิลี เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เดินทางมาถึงเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 เพื่อเตรียมการสำหรับการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิก
วิดีโอจาก: ส.ท. เอมี บิลเลอร์/ส.ท. เพรสตัน แคช/ส.ท. ซาราห์ เอทัน/ส.ท. เบย์ลี ฟอสเตอร์/ส.ท. มาเรีย ลานอส/ส.ท. ฮานนาห์ โมร์/ส.ท. คริสโตเฟอร์ นีลเซน/ส.ท. คริสโตเฟอร์ เพรวิก/กองทัพเรือสหรัฐฯ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ผู้เข้าร่วมการฝึกร่วมริมออฟเดอะแปซิฟิกได้รับประโยชน์จากความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักก็ก่อให้เกิดประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่น การสื่อสารที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการยิงเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ตกโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่มีผู้เสียชีวิต ระหว่างการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิกใน พ.ศ. 2539

ในช่วงแรกนั้นการฝึกร่วมริมออฟเดอะแปซิฟิกจัดขึ้นทุกปี เมื่อมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงตัดสินใจจัดการฝึกนี้ทุกสองปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เพื่อให้มีเวลาในการวางแผนและการจัดการด้านโลจิสติกส์มากขึ้น มีห้าประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เข้าร่วมใน พ.ศ. 2514 หกประเทศเข้าร่วมใน พ.ศ. 2541 สิบประเทศเข้าร่วมใน พ.ศ. 2551 และยี่สิบห้าประเทศเข้าร่วมใน พ.ศ. 2561 ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ใน พ.ศ. 2563 การฝึกถูกจำกัดให้มีการเข้าร่วมเฉพาะทางทะเลเท่านั้น

เรือพิฆาต ซอแอ ริว ซอง-รยอง จากสาธารณรัฐเกาหลี แล่นร่วมเป็นกระบวนทัพร่วมกับเรือและเรือดำน้ำจากหลายชาติในการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิก พ.ศ. 2557
ภาพจาก: จ.อ. แชนนอน เรนโฟร/กองทัพเรือสหรัฐฯ

เหตุการณ์สำคัญในการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิก ได้แก่

  • พ.ศ. 2514: จัดการฝึกร่วมริมออฟเดอะแปซิฟิกเป็นครั้งแรกโดยมีการประกาศให้สาธารณชนทราบเล็กน้อย การฝึกในระยะแรกแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในช่วงสงครามเย็น โดยมีศัตรูที่ชัดเจนและโครงสร้างการฝึกที่สอดคล้องกัน
  • พ.ศ. 2529: ญี่ปุ่นเสริมการมีส่วนร่วมในริมออฟเดอะแปซิฟิกด้วยเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีสองลำ เรือพิฆาตหกลำ และเรือดำน้ำหนึ่งลำ
  • พ.ศ. 2551: กองกำลังจากออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐฯ บริหารการบังคับบัญชาและการควบคุมการเคลื่อนที่ทางอากาศและอวกาศ “เมื่อคุณเริ่มทำงานในสภาพแวดล้อมระดับนานาชาติ ในตอนเริ่มต้นคุณยังไม่มีความไว้วางใจกันหรอก” พล.อ.จ. อีวาน บลอนดิน แห่งกองทัพอากาศแคนาดาในสมัยนั้น กล่าว “ดังนั้น หากคุณสามารถสร้างความไว้วางใจกันได้ในการฝึก ความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่คุณสร้างขึ้นจะทำให้การลงมือปฏิบัติจริงเป็นเรื่องง่ายขึ้น”
  • พ.ศ. 2555: มีการจัดกิจกรรมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติเป็นครั้งแรกในริมออฟเดอะแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นไปที่การรับมือร่วมกัน
  • พ.ศ. 2557: กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนเข้าร่วมการฝึกด้วยเรือสี่ลำ และเรือสอดแนมที่ไม่ได้รับเชิญที่ลาดตระเวนนอกพื้นที่การฝึกอีกหนึ่งลำ สหรัฐฯ เพิกถอนการส่งคำเชิญให้กับรัฐบาลจีนใน พ.ศ. 2561 เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงดำเนินการจัดกำลังทหารในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2559: การฝึกซ้อมบรรเทาภัยพิบัติมีผู้เข้าร่วมเป็นกองกำลังพหุชาติ และการผสมผสานระหว่างหน่วยปฏิบัติการแบบดั้งเดิมและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ
  • พ.ศ. 2561: อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมทางทะเลของตนด้วยการส่งเรือไปเข้าร่วมริมออฟเดอะแปซิฟิก อิสราเอล ศรีลังกา และเวียดนามได้เข้าร่วมการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิกอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2567: ระยะการฝึกทางยุทธวิธีที่ยาวนานขึ้นทำให้เกิดการโต้ตอบอย่างไม่หยุดนิ่งมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดการฝึกซ้อมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ทหารเรืออินโดนีเซียฝึกซ้อมปฏิบัติการค้นหาและจับกุมบนเรือฟริเกตของอินโดนีเซียในการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิก พ.ศ. 2565
ภาพจาก: น.ท. วายู วิดาดี/กองทัพเรือสหรัฐฯ

พ.ร.อ. เจมส์ สตาฟริดิส ทหารเรือสหรัฐฯ ผู้เกษียณอายุราชการ เขียนว่าริมออฟเดอะแปซิฟิก “ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่กองทัพเรือทั่วโลกแล้วว่าเป็นเหมือนกีฬาโอลิมปิกของมหาอำนาจทางกองทัพเรือ” และยังกล่าวอีกว่า เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว การฝึกนี้เป็น “สัญญาณที่ชัดเจนว่ากองทัพที่สำคัญที่สุดของพื้นที่แปซิฟิกที่กว้างใหญ่นี้มีความเต็มใจที่จะแบ่งปันการฝึกอบรม ยุทธวิธี และเทคโนโลยี”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button