ยุทธวิธี “นรกบนดิน” ของฝูงโดรนช่วยยับยั้งการใช้กำลังของจีนกับไต้หวัน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
กุญแจสำคัญสำหรับการคงไว้ซึ่งอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างคือ การมีโดรนติดอาวุธนับพันลำที่จู่โจมด้วยยุทธวิธี “นรกบนดิน” เพื่อยับยั้งไม่ให้นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สั่งการให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนเดินทางข้ามช่องแคบไต้หวันและรุกรานไต้หวันที่ปกครองตนเอง
พล.ร.อ. ซามูเอล ปาปาโร จากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการ “ให้โลกเกิดสงครามระยะสั้นและรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จก่อนที่ทั่วโลกจะร่วมมือกันได้”
“หน้าที่ของผมคือการรับรองว่าระหว่างนี้จนถึง พ.ศ. 2570 และหลังจากนั้น กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรจะสามารถเอาชนะได้” พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเชื่อว่านายสีต้องการให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนเตรียมพร้อมภายใน พ.ศ. 2570 เพื่อรุกรานไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตนและขู่ว่าจะผนวกรวมกับไต้หวันโดยใช้กำลัง เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามพร่ากำลัง ซึ่งได้รับบทเรียนจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนไม่สำเร็จใน พ.ศ. 2565 กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีแนวโน้มที่จะพยายามโจมตีไต้หวันอย่างไม่หยุดหย่อนด้วยการโจมตีที่รุนแรงโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
เพื่อเป็นการตอบโต้ สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนมีแนวโน้มที่จะส่งโดรนทางอากาศไร้คนขับ เรือดำน้ำ และเรือเหนือผิวน้ำนับพันลำเพื่อชะลอกองกำลังที่รุกราน พร้อมทั้งเตรียมการตอบโต้เต็มรูปแบบ ตามรายงานของเดอะวอชิงตันโพสต์
“ผมต้องการเปลี่ยนช่องแคบไต้หวันให้กลายเป็นเหมือนนรกบนดินที่ไร้ซึ่งผู้คนด้วยการใช้ขีดความสามารถที่เป็นความลับหลายอย่าง” พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว “เพื่อที่ผมจะได้ทำให้ชีวิตพวกเขาทุกข์ทรมานอย่างสาหัสเป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาสำหรับจัดการทุกอย่างที่เหลือให้เสร็จ”
พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกก่อนหน้า พล.ร.อ. ปาปาโร ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์นี้ในที่ประชุมของสมาคมอุตสาหกรรมกลาโหมแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่สำหรับใช้งานด้านกลาโหม เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
“หน่วยต่าง ๆ ในกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ทดลองใช้ขีดความสามารถไร้คนขับดังกล่าวในช่วง 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากชาติอื่น” พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าว “ดังนั้นแนวคิดเชิงปฏิบัติการที่เรากำลังดำเนินการจะช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบของเราในยุทธบริเวณนี้ ซึ่งมีคำศัพท์หนึ่งคำที่เราใช้กันคือ ‘นรกบนดิน’ ”
พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายคือความสามารถในการโจมตี 1,000 เป้าหมายภายใน 24 ชั่วโมง ตามข้อมูลจากรายงาน
ในที่ประชุมเดียวกันนั้น นางเคทลีน ฮิกส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มเรพลิเคเตอร์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การนำระบบอัตโนมัตินับพันมาใช้ในหลาย ๆ ด้าน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการเสริมกำลังทางทหารอย่างรวดเร็วของจีน โดยให้ความสำคัญกับการจัดหาอากาศยานไร้คนขับที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ซึ่งช่วยให้ผู้บัญชาการสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นในการใช้งานทรัพยากรเหล่านี้ได้
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 นางฮิกส์ได้ประกาศว่าระบบเรพลิเคเตอร์ชุดแรกได้ส่งมอบให้กับนักรบสงครามแล้ว
ยูเครนได้ใช้ยุทธศาสตร์โดรนที่คล้ายคลึงกันนับตั้งแต่การรุกรานโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการนำโดรนทางอากาศเชิงพาณิชย์แบบใช้แล้วทิ้งมาเป็นอาวุธโจมตีหน่วยรบของศัตรู และการใช้โดรนผิวน้ำโจมตีเรือรัสเซียในทะเลดำ กองทัพปลดปล่อยประชาชนก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกันหากพยายามโจมตีไต้หวัน เนื่องจากการบุกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งใหญ่ที่จำเป็นจะทำให้เรือบรรทุกทหารจีนต้องเผชิญกับการโจมตีของโดรนจำนวนมากที่สามารถตอบโต้กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้
“ผมคิดว่ายุทธวิธีนรกบนดินคือ การสร้างสถานการณ์ที่โกลาหลและคาดเดาไม่ได้ในช่องแคบไต้หวันโดยใช้ระบบไร้คนขับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบเหนือผิวน้ำ แต่ยังอาจรวมถึงระบบใต้น้ำบางส่วนและระบบที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ” นายไบรอัน คลาร์ก ผู้อำนวยการศูนย์แนวคิดและเทคโนโลยีด้านกลาโหมที่สถาบันฮัดสันในสหรัฐฯ กล่าวกับสื่อเอวิเอชันวีคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 “พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจ . . จากสิ่งที่ชาวยูเครนได้ทำ และตั้งคำถามว่า “เราสามารถใช้รูปแบบเดียวกันนี้ในช่องแคบไต้หวันได้หรือไม่?” เพราะคุณมีโอกาสใกล้เคียงกัน ซึ่งทำได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก”