ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิจัยระบุว่า การโจมตีโรงเรียนในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางการสู้รบที่เข้มข้นขึ้น

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กลุ่มที่เฝ้าติดตามการสู้รบของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า การสู้รบที่เข้มข้นขึ้นในสงครามกลางเมืองของเมียนมานำมาซึ่งการโจมตีอย่างรุนแรงต่อโรงเรียนที่ทวีความถี่ขึ้นแบบก้าวกระโดด

เมียนมาวิตเนสระบุว่า การโจมตีดังกล่าวยิ่งทำให้ระบบโรงเรียนที่แตกร้าวของเมียนมามีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เด็ก ๆ หลายล้านคนต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และประสบปัญหาการขาดสารอาหาร

กลุ่มซึ่งเป็นโครงการของศูนย์ความยืดหยุ่นทางข้อมูลที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ได้ระบุว่ามีการโจมตีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของเมียนมาถึง 174 ครั้ง นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

ในขณะเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมระดับโลกเพื่อปกป้องการศึกษาจากการถูกโจมตีที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ก็ได้อ้างอิงถึงการโจมตีโรงเรียนที่ได้รับรายงานมากกว่า 245 ครั้ง และรายงานเกี่ยวกับการใช้สถานศึกษาเป็นฐานทัพอีก 190 ครั้งใน พ.ศ. 2565 – 2666

การรัฐประหารของทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เผชิญกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยโดยสันติในวงกว้าง แต่ผู้ร่วมประท้วงกลับถูกเหยียบย่ำจากความรุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต ผู้ต่อต้านการปกครองของทหารจำนวนมากจึงเลือกที่จะจับอาวุธ ซึ่งทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้ง มีการคาดการณ์ว่ากองทัพจะควบคุมได้ไม่ถึงครึ่งประเทศ

“การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา ทว่าในปัจจุบัน เยาวชนเมียนมากลับต้องมองดูโรงเรียนและโอกาสในชีวิตของพวกเขาพังทลายลง” นายแมตต์ ลอว์เรนซ์ ผู้อำนวยการโครงการของเมียนมาวิตเนส กล่าว “หากไร้การปกป้องการศึกษาทั่วทั้งเมียนมา มุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ของคนรุ่นต่อไปก็เสี่ยงที่จะมีการขับเคลื่อนด้วยการแบ่งแยกฝักฝ่ายและสงคราม แทนที่จะเป็นความหวังและความเป็นเหตุเป็นผล”

การลงทะเบียนนักศึกษาในเมียนมาลดลงถึงร้อยละ 80 ตั้งแต่ที่เริ่มมีภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ใน พ.ศ. 2563 ถึง 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งปีให้หลังจากการยึดครองของทหาร ตามรายงานของกลุ่มมนุษยธรรมเพื่อการช่วยเหลือเด็ก จนถึงกลาง พ.ศ. 2565 เด็กประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศหรือเยาวชนถึง 7.8 ล้านคนไม่ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน รายงานดังกล่าวระบุ

เมียนมาวิตเนสระบุว่า มีบันทึกรายงานผู้เสียชีวิต 64 รายและผู้ได้บาดเจ็บ 106 รายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีโรงเรียนทั้ง 176 ครั้ง

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลแห่งชาติซึ่งเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ได้คาดการณ์ว่าจะมีเด็กมากกว่า 570 คนที่ถูกกองกำลังความมั่นคงคร่าชีวิตไป พลเรือนกว่า 8,000 คนถูกสังหารในความขัดแย้งครั้งนี้ ตามรายงานของโครงการข้อมูลสถานที่และเหตุการณ์ความขัดแย้ง

เมียนมาวิตเนสระบุว่า การโจมตีทางอากาศของทหารเป็นต้นเหตุที่สำคัญของการบ่อนทำลายโรงเรียน การโจมตีดังกล่าวปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นเมื่อกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกำลังได้เปรียบ

กองทัพ “ต้องใช้การโจมตีทางอากาศมากขึ้น โดยบ่อยครั้งจะใช้อากาศยานที่มีเหมาะสมน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถลงจอดบนพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายลอว์เรนซ์กล่าว

รายงานระบุว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านบางส่วนก็ได้โจมตีโรงเรียนเช่นกัน แต่อาจไม่บ่อยเท่าและมีความรุนแรงน้อยกว่ามาก ซึ่งมักจะใช้โดรนที่บรรจุวัตถุระเบิดขนาดเล็ก

ปัจจัยอื่น ๆ เองก็ขัดขวางการศึกษาเช่นกัน เยาวชนจำนวนมากรวมถึงนักเรียนที่มีอายุมากขึ้นต่างมีบทบาทในการต่อต้าน ครูหลายพันคนได้ออกจากงานหลังจากที่มีการรัฐประหาร และเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งอำนาจการควบคุมของทหารต่อสถาบันของรัฐ

การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองทำให้ยากต่อการจัดเตรียมบทเรียน และครูบางคนได้จัดตั้งหรือเข้าร่วมกับโรงเรียนที่อยู่นอกการควบคุมของทหาร

“สิ่งที่เราเห็นคือระบบการศึกษาที่แทบจะเป็นระบบคู่ขนานที่กำลังพัฒนาในเมียนมา โดยมีโรงเรียนที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอื่น ๆ และมีการตอบโต้สำหรับผู้ที่เข้าร่วมในระบบใดระบบหนึ่ง” นางลิซ่า ชุง เบนเดอร์ กรรมการบริหารกลุ่มแนวร่วมระดับโลกเพื่อปกป้องการศึกษาจากการถูกโจมตี กล่าว

“ด้วยเหตุนี้ เด็กและนักการศึกษาจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยจะต้องผ่านจุดตรวจและบอกว่าจะไปที่ใด และหากพิจารณาแล้วว่าจะไปโรงเรียนฝ่ายศัตรูไม่ว่าจะพวกใดก็ตาม คนเหล่านั้นก็จะถูกคุกคาม คุมตัว หรือถูกลงโทษได้” นางเบนเดอร์กล่าว

การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เพียงพอเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมา ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากบ้านเกิดเนื่องจากการสู้รบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ กองทุนสำหรับเด็กขององค์การสหประชาชาติระบุในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ว่า เด็กชาวเมียนมาร้อยละ 35 มีชีวิตอยู่กับความยากจนทางอาหาร ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงโภชนาการที่จำเป็นในการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างไม่เพียงพอ

ตามรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เด็กชาวเมียนมามากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางความยากจน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button