ญี่ปุ่นติดตั้งเรดาร์บนเกาะทางใต้สุดเพื่อตอบโต้การรุกล้ำของจีน
ฟีลิกซ์ คิม
ญี่ปุ่นจะติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์เคลื่อนที่บนเกาะคิตะไดโตจิมะ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในภูมิภาคใต้สุดของประเทศ เพื่อตรวจสอบกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นของเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกำลังแจ้งความคืบหน้าของโครงการนี้ให้กับชาวคิตะไดโตจิมะทั้ง 660 คนทราบ
คิตะไดโตจิมะเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะญี่ปุ่นที่ทอดตัวออกมาจากเกาะหลักของประเทศจนเกือบถึงไต้หวัน เกาะคิตะไดโตจิมะนี้ตั้งอยู่ในหมู่เกาะไดโต ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของโอกินาวะในทะเลฟิลิปปินส์ ทำให้ที่นี่เป็นตำแหน่งได้เปรียบที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนของญี่ปุ่น สามารถใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับการตระหนักรู้สถานการณ์ของตนได้ จะมีการติดตั้งเรดาร์ในหมู่บ้านคิตะซาโตะ
“การเสริมสร้างระบบตรวจการณ์บนชายฝั่งแปซิฟิกเป็นงานเร่งด่วน เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายตัวและรุนแรงขึ้น” นายมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567
ญี่ปุ่นได้พยายามขยายขอบเขตความครอบคลุมการตรวจการณ์ในพื้นที่ทางทะเลที่กว้างใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น ดร. เจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากแรนด์คอร์ปอเรชันที่เป็นศูนย์วิจัยในสหรัฐอเมริกา กล่าว “เป้าหมายหลักคือการยกระดับทัศนวิสัยที่มีต่อกิจกรรมของจีน โดยเฉพาะในบริเวณช่องแคบมิยาโกะ” ดร. ฮอร์นังกล่าวกับ ฟอรัม การติดตั้งระบบเรดาร์มีแรงผลักดันมาจากความกังวลเรื่อง “จีนเป็นหลัก และอาจรวมถึงรัสเซียด้วย” ดร. ฮอร์นังกล่าว
ช่องแคบมิยาโกะตั้งอยู่ระหว่างเกาะโอกินาวาและเกาะมิยาโกะ ช่องแคบมิยาโกะอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของกรุงไทเปประมาณ 380 กิโลเมตร
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 เรือของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนปรากฏตัวใกล้กับเกาะมิยาโกะ ตามรายงานของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ และเรือลาดตระเวนของรัสเซียได้แล่นผ่านเกาะโอชิมะของญี่ปุ่น ใกล้กับกรุงโตเกียว
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัสเซียได้เสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับจีน เช่น ทำการบินเครื่องทิ้งระเบิดร่วมกัน การเดินเรือร่วมกัน และการฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพจีนในหลายรูปแบบ” นายคิฮาระกล่าว นายคิฮาระเน้นย้ำถึงความสำคัญของอุปกรณ์เตือนภัยแบบติดตั้งถาวรและอุปกรณ์ควบคุมที่ติดตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น “ซึ่งสามารถตรวจจับและติดตามภัยคุกคามทางอากาศใหม่ ๆ นอกเหนือจากขีปนาวุธทิ้งตัวได้ เช่น ยานร่อนความเร็วเหนือเสียง …”
เกาะที่อยู่ห่างไกลของญี่ปุ่นอย่างเกาะคิตะไดโตจิมะไม่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของเรดาร์เฝ้าระวังแบบติดตั้งถาวร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งเรดาร์เคลื่อนที่ ดร. ฮอร์นังกล่าว นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างขีดความสามารถและการตระหนักรู้สถานการณ์ ญี่ปุ่นกำลังพยายามรับรู้สถานการณ์เกี่ยวกับน่านน้ำโดยรอบของตนให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเข้าใจกิจกรรมของจีน นี่เป็นเพียงชิ้นส่วนเพียงส่วนเดียวของจิ๊กซอว์ภาพขนาดใหญ่ รวมถึงการลงทุนในด้านโลจิสติกส์ การป้องกันเชิงรับ และกิจกรรมข่าวกรอง การตรวจตรา และการลาดตระเวน” ดร. ฮอร์นังกล่าว
ระบบเรดาร์ของคิตะไดโตจะเข้ามาเสริมการเฝ้าระวังจากดาวเทียมของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ดร. ฮอร์นังกล่าว “การมีพื้นที่ครอบคลุมที่ทับซ้อนกันไม่ทำให้เกิดผลเสีย”
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้พบกับผู้อยู่อาศัยในเกาะคิตะไดโตจิมะในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับการติดตั้งเรดาร์ที่วางแผนไว้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ นายมิสึมาสะ มิยางิ นายกเทศมนตรีคิตะไดโต กล่าวในภายหลังว่าตนอยากให้เกาะมีระบบเรดาร์มานานแล้ว การฝึกซ้อมของเรือรบจีนในพื้นที่นี้ทำให้ผู้อยู่อาศัยของเกาะคิตะไดโตรู้สึกเป็นกังวล นายมิยางิกล่าว
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้