ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเจรจาระดับสูงเน้นย้ำถึงการกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมของอินโดนีเซียกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ

กัสดี ดา คอสตา

อินโดนีเซียกำลังกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกไม่นานมานี้

การเจรจาระหว่างนายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียและประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้ง กับ พล.ร.อ. โทนี่ ราดาคิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงโครงการริเริ่มในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน

ภาพจากการฝึกผสานความร่วมมือและความพร้อมทางเรือระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
วิดีโอจาก: ส.ท. ไอเดน เฮกเกอร์/ส.อ. แพทริค แคทซ์/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

การเดินทางเยือนอินโดนีเซียของ พล.ร.อ. ราดาคินในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อเคมฮัน การประชุมของ พล.ร.อ. ราดาคินกับนายปราโบโวได้ให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือ โดยเน้นไปที่การฝึกซ้อมร่วม โครงการฝึกอบรม และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านกลาโหม นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังได้หารือกันเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การจัดการภัยพิบัติ การให้ความรู้ทางการทหาร ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“ผมถือว่าอังกฤษเป็นประเทศที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาโหม” นายปราโบโว ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 กล่าว

การประชุมระหว่างนายปราโบโวกับนายออสตินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ระหว่างการประชุมความมั่นคงแชงกรีลาที่สิงคโปร์ ได้เสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย การอภิปรายในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการทหารผ่านการฝึกซ้อมร่วม การให้ความรู้ทางการทหาร และการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านกลาโหม นายปราโบโวแสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการปรับปรุงความทันสมัยของอุปกรณ์ด้านกลาโหมของกองทัพอินโดนีเซีย

ความร่วมมือทวิภาคีในด้านสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงทักษะและความเป็นมืออาชีพของกองทัพอินโดนีเซีย เพื่อให้มั่นใจว่าอินโดนีเซียพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง

การอภิปรายระดับสูงเหล่านี้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญด้านกลาโหมของอินโดนีเซียและมีส่วนสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศที่กว้างไกลขึ้น ตามรายงานของนายไครุล ฟาห์มี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากสถาบันศึกษาความมั่นคงและยุทธ์ศาสตร์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึง “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของทั้งสามประเทศในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค” นายเดฟ ลักโซโน สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ช่วยดูแลด้านกลาโหม กล่าวกับ ฟอรัม

การเสริมสร้างความร่วมมือทางการทหารกับสองมหาอำนาจช่วยให้อินโดนีเซียสามารถจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีส่วนช่วยให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาค นายลักโซโนกล่าว โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญอันเนื่องมาจากอาณาเขตทางทะเลที่กว้างใหญ่และตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย

การฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกัน เช่น การฝึกผสานความร่วมมือและความพร้อมทางเรือกับสหรัฐฯ และการฝึกคอนฟรอนตาซี มาริทิม กับสหราชอาณาจักร ช่วยยกระดับความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันและความพร้อมในการปฏิบัติงาน “การฝึกซ้อมเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการเฝ้าระวัง ความสามารถในการตอบโต้ และการประสานงานในการจัดการกับภัยคุกคามทางทะเล” รวมถึงการกระทำอันเป็นโจรสลัด การลักลอบขนสินค้า และการประมงที่ผิดกฎหมาย นายลักโซโนกล่าว

ไม่มีประเทศใดสามารถรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้เพียงลำพัง นายนิโคเลาส์ ลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยการพัฒนาแห่งชาติ “ทหารผ่านศึก” ในยอร์กจาการ์ตากล่าว “ดังนั้นความร่วมมือนี้จึงช่วยแบ่งเบาภาระในประเด็นด้านความมั่นคงทางทะเล ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่” นายลอยกล่าวกับ ฟอรัม

การเพิ่มความร่วมมือทางการทหารกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ นำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่อกองทัพอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นายลักโซโนกล่าว นอกจากนี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยียังช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซียเช่นกัน

นายลักโซโนกล่าวเสริมว่า “โครงการฝึกอบรมร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านกลาโหมขั้นสูงจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรช่วยเสริมสร้างความเป็นมืออาชีพและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของกองทัพอินโดนีเซีย”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button