อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การสร้างเกาะเทียมของเวียดนามทำให้ได้รับการตอบโต้อย่างระมัดระวังจากฟิลิปปินส์และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เวียดนามเร่งดำเนินการโครงการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาท ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการขุดลอกพื้นทะเลและกองวัสดุลงบนแนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้สั่งขุดพื้นที่เพิ่มเติมมากกว่า 280 เฮกตาร์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นพื้นที่มากกว่าที่เวียดนามสร้างขึ้นในสองปีที่ผ่านมารวมกัน

จีนได้สร้างเกาะเทียมมาเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปีแล้ว และได้จัดกำลังทหารจำนวนมากในพื้นที่เกาะเทียมของเส้นทางน้ำที่เป็นข้อพิพาท รัฐบาลจีนอ้างว่าประเทศอื่นจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเพื่อแล่นเรือเข้าใกล้เกาะเทียมของตน ซึ่งการอ้างสิทธิ์นี้ไม่เป็นไปตามพื้นฐานทางกฎหมาย และประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกายังคงออกปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำสากลใกล้หมู่เกาะสแปรตลีเป็นประจำ

การอ้างสิทธิ์ของจีนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ รวมถึงหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งเป็นกลุ่มของเกาะเล็ก ๆ และแนวปะการังกว่า 100 แห่งที่ล้อมรอบด้วยแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังอาจเป็นแหล่งของน้ำมันและก๊าซในอนาคต ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 หมู่เกาะนี้ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายร้อยกิโลเมตร

การอ้างสิทธิ์ของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีไม่เพียงทับซ้อนกับการอ้างสิทธิ์ของเวียดนาม แต่ยังรวมถึงของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันด้วย

จีนมีท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นต่อประเทศผู้อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติขยายไปถึงหมู่เกาะเหล่านั้น ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิ์อธิปไตยในหมู่เกาะเหล่านี้ใช้แนวทางด้านการทูตมากขึ้น

พล.ร.จ. รอย วินเซนต์ ทรินิดาด แห่งกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่กำลังเฝ้าติดตามการสร้างเกาะเทียมของเวียดนาม แต่ระบุว่าการตอบโต้เป็นไปด้วยความระมัดระวัง ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย

ฟิลิปปินส์และเวียดนามมี “ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกัน” พล.ร.จ. ทรินิดาดกล่าว และเสริมว่า “เวียดนามไม่ได้เริ่มต้นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ รุกราน หรือหลอกลวงต่อเรา เหมือนกับจีน”

พล.ร.จ. เจย์ ทาร์ริเอล่า แห่งกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เวียดนามไม่ “มีพฤติกรรมคุกคามชาวประมงของเราหรือส่งเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลอย่างผิดกฎหมายเข้ามาในน่านน้ำรอบพื้นที่ทางทะเลที่เราครอบครอง”

จีนได้ข่มขู่ฟิลิปปินส์หนักขึ้นในทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังกดดันหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ให้คำมั่นว่าฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสนธิสัญญาป้องกันประเทศกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน จะไม่ยอมสละดินแดนของตน

จากการปะทะกันเมื่อไม่นานมานี้ใกล้บริเวณสันดอนโทมัสที่สอง ที่ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้จัดตั้งด่านทหารชั้นนอกไว้ ทหารของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ใช้อาวุธมีคมสร้างความเสียหายให้กับเรือยางท้องแข็งของฟิลิปปินส์ก่อนจะขึ้นเรือไปปล้นทรัพสินย์บนเรือ ตามรายงานของกองทัพฟิลิปปินส์ การโจมตีดังกล่าวทำให้ทหารเรือฟิลิปปินส์บาดเจ็บ 8 นาย ตามข้อมูลจากรายงาน

เป็นเวลากว่าสิบปีที่จีนได้ขัดขวางแท่นขุดเจาะน้ำมันเวียดนามในบริเวณน่านน้ำของรัฐบาลเวียดนาม ตามรายงานของนิตยสารฟอเรนโพลิซี นอกจากนี้ จีนยังคงแสดงตนอยู่เกือบตลอดเวลาในบริเวณน่านน้ำที่มาเลเซียอ้างสิทธิ์ รวมถึงบริเวณที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์

ในทางกลับกัน ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ตกลงที่จะส่งเสริมการเจรจาและจัดตั้งกลไกสร้างความเชื่อมั่น เช่น การจัดตั้งสายด่วน นักวิเคราะห์กล่าวว่าบันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองประเทศลงนามในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 อาจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญ เช่น ข้อตกลงใน พ.ศ. 2565 ระหว่างอินโดนีเซียและเวียดนามในการกำหนดขอบเขตของเขตเศรษฐกิจพิเศษในทะเลจีนใต้

นอกจากจะช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคแล้ว ทะเลแห่งนี้ยังมีความสําคัญต่อการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยคาดว่ามีมูลค่าการค้าที่ขนส่งผ่านทะเลนี้ประมาณ 184 ล้านล้านบาท (ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี

สหรัฐฯ เองจะคอยสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและปกป้องเส้นทางการสื่อสารทางทะเลทั่วโลก อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการใช้หลักปฏิบัติที่มีผลผูกพันในภูมิภาค การเจรจาข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กับรัฐบาลจีนเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2545 ทว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ชะลอการบรรลุข้อตกลงต่าง ๆ ที่อาจจำกัดการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่อันกว้างขวางของจีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button