การฝึกแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2567 ที่ขยายตัวขึ้นแสดงให้เห็นชัดถึงขีดความสามารถด้านการทำสงครามขั้นสูงในอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2567 การฝึกที่จัดขึ้นทุกสองปีกินระยะเวลา 12 วันในกวม ญี่ปุ่น หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ปาเลา และสถานที่อื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิก ทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรสามารถมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมหลากหลายขอบเขตได้
การฝึกนี้ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับกองกำลัง ทำให้สามารถตอบสนองต่อวิกฤตและสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วในการปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติไปจนถึงการขัดแย้งกันด้วยอาวุธการฝึกซ้อมประกอบด้วยการสกัดกั้นทางทะเล ปฏิบัติการต่อต้านทางอากาศ การทำสงครามปราบเรือดำน้ำ ข่าวกรอง การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการบังคับบัญชาและควบคุม
วิดีโอจาก: ส.ท. ไบรอัน ลอง/นาวิกโยธินสหรัฐฯ
ในการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ครั้งที่ 10 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังนี้:
- การฝึกนี้กลายเป็นกิจกรรมระดับพหุชาติครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ ทางบก และทางทะเลญี่ปุ่น ตลอดจนกองทัพเรือแคนาดาและกองทัพเรือฝรั่งเศส กองกำลังญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเรือดำน้ำจู่โจม เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ และเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ และมีบุคลากรราว 4,000 คน ยานพาหนะ 130 คัน และอากาศยาน 60 ลำ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์ ก่อนหน้านี้ การฝึกแวเรียนท์ชิลด์ ซึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2549 เป็นการฝึกของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังร่วมจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกเท่านั้น
- นาวิกโยธินและทหารเรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม “ระดับ 2” แห่งแรกในปาเลา โรงพยาบาลสนามเคลื่อนที่นี้สามารถให้บริการห้องปฏิบัติการ การเอกซเรย์ การสนับสนุนทางทันตกรรม การผ่าตัด การสนับสนุนการผ่าตัดฉุกเฉิน และการรักษาอื่น ๆ การกำหนดระดับ 2 ให้หมายความว่า โรงพยาบาลนี้มีห้องผ่าตัดแบบโรงพยาบาลและปริมาณโลหิตสำรองที่เหมาะสม “เมื่อเราถึงภาคพื้นดิน โรงพยาบาลระดับ 2 จะพร้อมใช้งานภายในสี่ชั่วโมง และสามารถสนับสนุนกองกำลังได้นานถึง 60 วัน” ร.อ. เจนนิเฟอร์ เคเทคินธา จากกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว
- กองทัพบกสหรัฐฯ แสดงศักยภาพในการทำสงครามขั้นสูงด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดรุ่นใหม่จากสนามบินนานาชาติปาเลา ทหารโจมตีเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ในทะเลได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นำเอาขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดมาใช้งานภายนอกสถานที่ทดสอบในสหรัฐฯ
ขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดจะช่วยให้ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมมีความสามารถในการปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงในทุกสภาพอากาศ ซึ่งจะช่วยรับมือกับความสามารถของศัตรูในการดำเนินการเคลื่อนที่ทางยุทธวิธีและการป้องกันทางอากาศ” นายดัก บุช รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงทหารบกฝ่ายการจัดหา โลจิสติกส์ และเทคโนโลยี กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เมื่อกองทัพบกได้รับการส่งมอบขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดชุดแรก

ภาพจาก: ส.ท. ไคล์ ชาน/นาวิกโยธินสหรัฐฯ
ในการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ ทหารได้ยิงขีปนาวุธโจมตีแม่นยำเฉพาะจุดสองลูกจากเครื่องยิงหลายขอบเขตอัตโนมัติรุ่นต้นแบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกว่า “เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการยิงระยะไกลของกองทัพบก”
การยิงเกิดขึ้นระหว่างการฝึกซ้อมจมเรือที่เกี่ยวข้องกับเรือ ยูเอสเอส คลีฟแลนด์ ที่ปลดประจำการแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของปาเลา
การฝึกแวเรียนท์ชิลด์ยังได้ขยายความร่วมมือระหว่างคำสั่งรบในหลายขอบเขตด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ และกองบัญชาการขนส่งสหรัฐฯ การร่วมมือกันในลักษณะดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับปฏิบัติการขนาดใหญ่ เช่น การฝึกแวเรียนท์ชิลด์ ซึ่งรวมกองกำลังพันธมิตรและหุ้นส่วนเข้ากับกองทัพบก กองทัพอากาศ กองกำลังรักษาชายฝั่ง กองทัพเรือ นาวิกโยธิน และกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ
“การฝึกแวเรียนท์ชิลด์มอบโอกาสพิเศษในการปฏิบัติการและมีส่วนร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของโลก” พล.ร.อ. สตีเฟน โคห์เลอร์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว “พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาความปลอดภัย เสถียรภาพ และความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก พร้อมกันนั้นก็แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถร่วมกันและผสมผสาน เพื่อพัฒนาการปฏิบัติการในหลายขอบเขต”