ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การฝึกซ้อมระหว่างออสเตรเลียและฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือด้านกลาโหมที่แข็งแกร่ง

มาเรีย ที. เรเยส

เจ้าหน้าที่ทหารออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในระหว่างการฝึกซ้อมครั้งล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศ

เป็นครั้งแรกที่นักบินเครื่องบินขับไล่ของฟิลิปปินส์เข้าร่วมการฝึกพิตช์แบล็กที่นำโดยออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปีในเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย กองทัพฟิลิปปินส์ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟเอ-50พีเอช จำนวนสี่ลำ และเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ซี-130 พร้อมเจ้าหน้าที่ 162 คนเข้าร่วมการฝึกซ้อมซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคม ในอดีต กองทัพฟิลิปปินส์เคยส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการฝึกนี้ พิตช์แบล็ก พ.ศ. 2567 เป็นการฝึกที่ได้รวบรวมกองกำลังจาก 20 ประเทศเข้ามาไว้ด้วยกัน

“ความร่วมมือด้านกลาโหมที่พัฒนาขึ้นระหว่างฟิลิปปินส์และออสเตรเลียช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายและภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยการเสริมสร้างการป้องกันดินแดนผ่านการฝึกอบรมร่วมกัน การแบ่งปันข่าวกรอง และการลาดตระเวนร่วม” พ.อ. ลูอี้ เดมา-อาลา โฆษกกองทัพบกฟิลิปปินส์ กล่าวกับ ฟอรัม “ด้วยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกันประกอบกันการส่งเสริมแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียว ความร่วมมือนี้จะช่วยให้จุดยืนด้านกลาโหมมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค”

การเข้าร่วมของฟิลิปปินส์เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการอ้างสิทธิ์ในดินแดนอย่างก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์ด้วย

กองกำลังออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ยังได้ดำเนินการฝึกประจำปีคาซังกา ซึ่งแปลว่าหุ้นส่วนในภาษาฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. 2567 ที่เกาะลูซอนทางตอนเหนือ ประเทศฟิลิปปินส์ ทหารประมาณ 100 นายจากกองพันทหารราบที่ 86 กองพลทหารราบที่ 5 ของกองทัพฟิลิปปินส์ และเจ้าหน้าที่ 50 คนจากกองพันที่ 1 ของกรมทหารราบรอยัลออสเตรเลียของกองทัพบกออสเตรเลีย ได้ฝึกซ้อม ณ สถานที่ภายในเขตอำนาจของค่ายเมลชอร์ เดลา ครูซ ของกองพลทหารราบที่ 5 ในกามู จังหวัดอิซาเบลา

ข้อตกลงสถานะของกองกำลังเยือนของฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย ทำให้กองกำลังของแต่ละฝ่ายสามารถฝึกอบรมในดินแดนของกันและกันได้ เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ได้ฝึกอบรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับปฏิบัติการในเมืองและการต่อต้านการก่อการร้าย นับตั้งแต่กลุ่มนักรบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลามโจมตีเมืองมาราวีที่อยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2560 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งฟิลิปปินส์และออสเตรเลียยังได้ดำเนินการฝึกซ้อมทางทะเลและการลาดตระเวนร่วมกับหุ้นส่วนรายอื่น ๆ ด้วย

ที่การฝึกคาซังกา กองทัพบกของออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ได้แบ่งปันเทคนิค ยุทธวิธี และกระบวนการสำหรับปฏิบัติการในป่า ในเมือง และการฝ่าแนวป้องกัน การดูแลผู้บาดเจ็บทางยุทธวิธี การฝึกเอาตัวรอดในป่า ปฏิบัติการปืนครกและโดรน โลจิสติกส์ ปฏิบัติการสัญญาณ รวมถึงปฏิบัติด้านการข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน ทั้งสองประเทศยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในปฏิบัติการต่อต้านและเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายและภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากภายนอกอีกด้วย พ.อ. เดมา-อาลากล่าว

มีการส่งเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมฝึกอบรมร่วมออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ ซึ่งสร้างขึ้นมาสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

กิจกรรมที่ดำเนินการนั้นรวมไปถึงการฝึกอบรมแบบผสมผสานสำหรับปฏิบัติการป้องกันดินแดน

“เราได้ปรับการฝึกยิงปืนครกด้วยกระสุนจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์และช่วยพัฒนาทักษะของกองทัพบกฟิลิปปินส์ในการใช้งานปืนครกสำหรับการป้องกันดินแดน ตลอดจนประสานงานกับกองทัพบกออสเตรเลียในปฏิบัติการในภูมิภาค” ร.ท. ปีเตอร์ คุชเชิร์ท จากกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์

รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลฟิลิปปินส์มีข้อตกลงด้านความมั่นคงอีกสามฉบับนอกเหนือจากข้อตกลงสถานะของกองกำลังเยือน ได้แก่ บันทึกความเข้าใจใน พ.ศ. 2538 เกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือด้านกลาโหม ข้อตกลงความร่วมมืออย่างครอบคลุมใน พ.ศ. 2558 และข้อตกลงโลจิสติกส์ร่วมใน พ.ศ. 2564

ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นของฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย “ช่วยเสริมความสัมพันธ์ด้านกลาโหมภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในวงกว้างให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพที่มุ่งมั่นต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค” พ.อ. เดมา-อาลากล่าว “นี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่าออสเตรเลียและฟิลิปปินส์มุ่งมั่นที่จะยึดมั่นต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ป้องปรามการรุกราน และส่งเสริมสันติภาพ ซึ่งเป็นการสนับสนุนความสมดุลของอำนาจและเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ร่วมมือกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button