ไต้หวันให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านสงครามทางความคิด

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสามารถศึกษาบทเรียนจากไต้หวันเพื่อตอบโต้ปฏิบัติการที่มีอิทธิพลทางความคิด ตามบทความของวารสารฉบับใหม่
ในบทความดังกล่าว พ.อ. ฉู่ มินเฉิง แห่งกองทัพบกไต้หวัน ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยกลาโหมของไต้หวัน ได้สำรวจถึงวิธีการที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีน ใช้เทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การปลอมแปลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกทางสังคมและทำลายความสามารถในการฟื้นคืนประเทศให้กลับสู่ปกติ บทความของ พ.อ. ฉู่ ใช้ชื่อว่า “การปลูกฝังให้สังคมต่อต้านอิทธิพลของระบอบเผด็จการในยุคดิจิทัล: การเสริมสร้างเกราะป้องกันเพื่อต่อต้านสงครามทางความคิดของระบอบเผด็จการ” โดยได้ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในวารสารกิจการอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นวารสารวิชาชีพของทบวงทหารอากาศสหรัฐอเมริกา
พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้พฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจและการควบคุมอัลกอริทึมเพื่อเผยแพร่เรื่องราวที่ทำให้เข้าใจผิดผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อครอบงำความคิดเห็นของประชาชน ลดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมวาระของสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.อ. ฉู่ อธิบาย โดยอ้างอิงรายงานการป้องกันประเทศของไต้หวันที่เผยแพร่ใน พ.ศ. 2566
“วิธีการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แก่ การเจาะระบบและแทรกแซงอินเทอร์เน็ต เผยแพร่ข้อความที่สร้างความขัดแย้ง เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่มากเกินควร ใช้ยุทธวิธีแนวร่วม ทำการบิดเบือนโดยเจตนา ปลอมแปลงข้อมูลโดยตรง สร้างความขัดแย้ง และพยายามทำการยั่วยุ” พ.อ. ฉู่ เขียน
แนวร่วมดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองและโครงการริเริ่มที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้บุคคล กลุ่ม และเครือข่ายภายใต้การควบคุมของตนเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แก่ตนเอง เช่น ฝ่ายงานแนวร่วมต่อ ซึ่งนำโดยหัวหน้าสำนักเลขาธิการแห่งคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้คอยกำกับดูแลองค์กรแนวหน้าในประเทศต่าง ๆ และบริษัทในเครือ เช่น สมาคมนักเรียนและนักวิชาการชาวจีน พ.อ. ฉู่ อธิบาย
สำหรับการตอบสนองต่อพฤติกรรมดังกล่าว กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้ทำการวิจัยอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับยุทธวิธีและวัตถุประสงค์ของสงครามทางความคิด และดำเนินมาตรการตอบโต้หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น การเฝ้าระวังข่าวในประเทศและต่างประเทศ และการชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกบิดเบือนทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ
พ.อ. ฉู่สำรวจแนวทางจากทุกภาคส่วนของสังคมที่จะช่วยยกระดับความรู้ความสามารถด้านสื่อ ส่งเสริมการต่อต้านทางสังคม และ “เสริมสร้างเกราะป้องกัน” แก่ประชาชนให้ต่อต้านการรณรงค์เพื่อสร้างอิทธิพลที่มุ่งร้าย
ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสามารถปกป้องคุณค่าและอธิปไตยของตนได้ด้วยการยกระดับการป้องกันทางความคิด และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากระบอบเผด็จการที่มีการปรับปรุงใหม่ พ.อ. ฉู่ เขียน
“โครงการริเริ่มที่ดำเนินการโดยไต้หวันและกระทรวงกลาโหมไต้หวัน สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและแบบจำลองซึ่งประมาณค่ามิได้สำหรับพันธมิตรและประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” พ.อ. ฉู่ สรุป