ความร่วมมือโอเชียเนีย

ออสเตรเลียวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็นจำนวนมากสำหรับอินโดแปซิฟิก

ทอม แอบกี

เมื่อไม่นานมานี้ ออสเตรเลียได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติฉบับแรกและโครงการการลงทุนแบบบูรณาการ พ.ศ. 2567 เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหม โดยมีการคาดการณ์ว่าแผนการที่ครอบคลุมนี้จะใช้งบประมาณด้านกลาโหมประจำปีมากกว่า 2.45 ล้านล้านบาท (ประมาณ 6.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใน พ.ศ. 2576-2577 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โครงการริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์พยายามที่จะจัดหากองกำลังป้องกันแบบบูรณาการและกองกำลังป้องกันแบบมุ่งเน้นที่สามารถจัดการกับภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของออสเตรเลียและหยุดยั้งความขัดแย้งได้

รากฐานที่สำคัญของโครงการดังกล่าวคือ การนำ “ยุทธศาสตร์ในการปฏิเสธ” ซึ่งให้ความสำคัญกับการป้องปรามผ่านจุดยืนด้านกลาโหมที่แข็งแกร่ง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กองทัพออสเตรเลียกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นกองกำลังร่วมแบบบูรณาการเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางไซเบอร์ อวกาศ อากาศ ทะเล และภาคพื้นดิน โดยมีเป้าหมายคือเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้กองกำลังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยปกป้องเส้นทางคมนาคมเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย

จรวดหลายลำกล้องของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ทำการยิงในระหว่างการฝึกซ้อมในพื้นที่ฝึกซ้อมอ่าวโชลวอเทอร์ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
วิดีโอจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

“ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่รัฐบาลนำยุทธศาสตร์ในการปฏิเสธมาปรับใช้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดขึ้น” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่เพียงมุ่งเน้นด้านกลาโหมของประเทศ แต่ยังรวมถึงความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อรับประกันเสถียรภาพของภูมิภาคอีกด้วย

“ยุทธศาสตร์ในการปฏิเสธมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแสดงอำนาจของ “การรุกคืบอย่างทรงพลัง”” นายคาร์ล เธเยอร์ อดีตผู้อำนวยการด้านการศึกษาด้านความมั่นคงของภูมิภาคที่วิทยาลัยการบัญชาการและเสนาธิการของออสเตรเลีย กล่าวกับ ฟอรัม “สิ่งนี้หมายถึงการได้มาซึ่งขีดความสามารถที่สำคัญสำหรับการโจมตีระยะไกลและการสกัดกั้นอย่างแม่นยำ ซึ่งจะหยุดยั้งผู้ที่อาจเป็นศัตรูจากการส่งกองกำลังเข้าโจมตีออสเตรเลีย โดยทำให้ยุทโธปกรณ์ของศัตรูตกอยู่ในอันตรายในระยะไกลจากชายฝั่งของออสเตรเลีย”

โครงการลงทุนดังกล่าวเป็นแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติ นายเธเยอร์กล่าว ซึ่งโครงการนี้จะเน้นย้ำถึงการได้มาซึ่งขีดความสามารถยุคใหม่ รวมถึงการใช้งานเรือฟริเกตอเนกประสงค์แทนเรือฟริเกตชั้นอันแซก การได้มาซึ่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดอาวุธตามแบบ และการเพิ่มขีดความสามารถการโจมตีระยะไกลของกองทัพออสเตรเลีย โดยอย่างหลังนี้ยังรวมถึงการได้มาซึ่งระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ของกองทัพออสเตรเลีย และเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วมและเครื่องบินขับไล่ ซูเปอร์ฮอร์เน็ต ที่ติดตั้งขีปนาวุธขั้นสูงของกองทัพอากาศออสเตรเลีย

งบประมาณของโครงการประมาณร้อยละ 38 ได้รับการจัดสรรให้กับการเพิ่มขีดความสามารถทางทะเล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล โดยร้อยละ 22 ได้รับการจัดสรรให้กับองค์กรและโครงการที่กำลังดำเนินการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 16 ได้จัดสรรให้กับการเพิ่มขีดความสามารถภาคพื้นดิน ร้อยละ 14 สำหรับทางอากาศ ร้อยละ 7 สำหรับทางโลกไซเบอร์ และร้อยละ 3 สำหรับทางอวกาศ

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติยังเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของบุคลากรในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านกลาโหมของออสเตรเลีย “เราต้องเติบโต ปรับโฉม และปรับปรุงทักษะของเจ้าหน้าที่กองทัพของเราใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านไปใช้ยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ และสร้างขีดความสามารถให้กับความสามารถใหม่ ๆ จากขอบเขตทั้งห้าของเรา” พล.อ. แองกัส แคมป์เบลล์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออสเตรเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “บุคลากรเป็นและจะยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับขีดความสามารถของเรา”

ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติเสนอเกณฑ์คุณสมบัติที่กว้างขึ้นสำหรับการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนที่ไม่ใช่พลเมือง ตลอดจนการเสนอที่อยู่อาศัยที่ได้รับเงินอุดหนุน การสนับสนุนให้เป็นเจ้าของบ้าน โบนัสต่อเนื่อง 1.2 ล้านบาท (ประมาณ 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาคที่มีอุดมการณ์เดียวกันท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในอินโดแปซิฟิก

“วัตถุประสงค์หลักของยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติของออสเตรเลียคือการเปลี่ยนกองทัพออสเตรเลียให้เป็นกองกำลังร่วมแบบบูรณาการที่สามารถเผชิญกับความท้าทายและภัยคุกคามต่ออธิปไตยได้จากทุกขอบเขต” นายเธเยอร์กล่าว “ซึ่งรวมถึงการปกป้องออสเตรเลียและภูมิภาคใกล้เคียง การหยุดยั้งศัตรูไม่ให้แสดงอำนาจต่อออสเตรเลีย และการปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเลของออสเตรเลีย”

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button