ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมนวัตกรรมและการส่งออก

ฟีลิกซ์ คิม
การเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีการคาดหวังไว้อย่างสูงใน พ.ศ. 2567 จะเป็นการส่งเสริมโครงการเทคโนโลยีกลาโหมในญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนานี้สร้างตามแบบอย่างของสถาบันหลายแห่ง เช่น สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์วิจัยนี้จะรวมเอาความเชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในภาคกลาโหมของญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกจากการมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ยานพาหนะอัตโนมัติและยานพาหนะไร้คนขับแล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนานี้ยังสามารถส่งเสริมการส่งออกด้านกลาโหมและความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนได้อีกด้วย
ศูนย์นี้ได้ดำเนินการสรรหาบุคลากรประมาณ 100 คนจนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 โดยที่พนักงานประมาณครึ่งหนึ่งมาจากภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ตามรายงานของนิตยสารนิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น โครงการต่าง ๆ จะมุ่งเน้นไปที่การใช้งานปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการจดจำภาพเพื่อสร้างยานพาหนะอัตโนมัติที่สามารถทำงานได้ในสภาวะมืดสนิท ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจจับเรือดำน้ำโดยใช้อนุภาคย่อยของอะตอมและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญด้วย
มีการวางแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนานี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 เพื่อผสานรวมเทคโนโลยีของพลเรือนที่ทันสมัยและพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของสงคราม ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2566
“นั่นเป็นจุดที่สถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะสถาบันเหล่านั้นสามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีของตนเองเพื่อสร้างระบบขั้นสูงเหล่านี้ขึ้นมา หรือเพียงแค่อาศัยความคิดสร้างสรรค์เพื่อคิดหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อใช้ในสงครามยุคใหม่” ดร. เจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม
ดร. ฮอร์นังกล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้จะจัดหาโครงการนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมกลาโหมของญี่ปุ่นในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสนับสนุนระบบดั้งเดิมที่มีอยู่ด้วย การสนับสนุนดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกลาโหมซึ่งอาจลดการพึ่งพาการจัดซื้อทางการทหารจากต่างประเทศ และยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของการส่งออกด้านกลาโหมด้วย
ดร. ฮอร์นังกล่าวว่าผู้วางแผนด้านกลาโหมของญี่ปุ่นได้บอกเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าพวกเขาประทับใจกับการเติบโตขึ้นของเกาหลีใต้ในฐานะผู้จัดหาอาวุธระหว่างประเทศ และต้องการให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ตลาดโลก
เมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎระเบียบการส่งออกด้านกลาโหม ทำให้สามารถส่งออกยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมที่ผลิตภายใต้ใบอนุญาตจากต่างประเทศได้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ไม่อนุญาตให้ส่งออกอาวุธที่ผลิตในประเทศไปยังประเทศที่กำลังทำสงครามได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น
จากการเติบโตขึ้นของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ ตลอดจนระบบอาวุธที่ยังอยู่ในขั้นแนวคิดหรือยังไม่สามารถใช้งานจริงได้ การร่วมมือกันระหว่างบริษัทและรัฐบาลในประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“หากสงครามในอนาคตจะมีความซับซ้อนและยุ่งยากดังที่ผู้คนกล่าวกัน คุณก็ต้องร่วมมือกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของคุณอย่างแน่นอน” ดร. ฮอร์นังกล่าว
สมุดปกขาวของกระทวงกลาโหมยังเชื่อมโยงการเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาเข้ากับความจำเป็นในการพัฒนาระบบที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในแวดวงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการอย่างปัญญาประดิษฐ์ สมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของโครงการขีปนาวุธร่อนความเร็วสูงในการป้องกันเกาะที่อยู่ห่างไกลของญี่ปุ่น
ดร. ฮอร์นังกล่าวว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการหารือกันในเรื่องอาวุธความเร็วเหนือเสียงในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
“นั่นดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะยังไม่มีใครมีเทคโนโลยีนั้น” ดร. ฮอร์นังกล่าว “ยังไม่มีใครที่เชี่ยวชาญในด้านนี้จริง ๆ และยังมีโอกาสอีกมากมายสำหรับการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และดูเหมือนว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นช่วงที่พวกเขากำลังรอคอย”
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้