ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลก

รายงานระบุว่าการประมงที่ผิดกฎหมายของจีนส่งผลกระทบต่อชุมชนในแอฟริกาตะวันออกอย่างรุนแรง

เรดิโอฟรีเอเชีย

อุตสาหกรรมการประมงระดับโลกที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังผลักดันให้มีเรือประมงที่ทำกิจกรรมผิดกฎหมายและใช้ประโยชน์จากแหล่งประมงนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกเพิ่มขึ้น ตามรายงานขององค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในลอนดอน

“ก่อนที่เรือประมงจีนจะมาที่นี่ เราคาดว่าจะจับปลาได้เป็นจำนวนมากจากการหว่านแห แม้ว่าเราจะหว่านแหเพียงสามครั้ง” ชาวประมงโมซัมบิกคนหนึ่งกล่าวกับมูลนิธิเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร “แต่ตอนนี้เราต้องอยู่ในทะเลทั้งวันเพื่อจับปลาให้เพียงพอ”

“นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เราไม่เพียงแต่หาปลาพวกนี้เพื่อตัวเราเอง แต่หาเพื่อลูกหลานของเราด้วย” เขากล่าว “พวกเขาได้ทำลายการช่องทางการดำรงชีพของเราในอนาคต”

เรือประมงจำนวนมากของจีน ซึ่งหว่านแหไปไกลถึงลาตินอเมริกา แอฟริกาตะวันตก และแอนตาร์กติกา ได้เพิ่มความตึงเครียดให้กับปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือทั่วโลก ตามรายงานขององค์กรที่ติดตามประเด็นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

กองเรือลากอวนระยะไกลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้จับปลาจํานวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้แหล่งปลาลดน้อยลง ขัดขวางวงจรการผสมพันธุ์ และก่อมลพิษให้กับชายฝั่งของเคนยา มาดากัสการ์ โมซัมบิก และแทนซาเนีย ด้วยการทิ้งปลาจำนวนมากลงทะเล ซึ่งจีนคิดว่าไม่คุ้มค่าพอที่จะนำไปแปรรูป พยานในท้องถิ่นกล่าวกับมูลนิธิ

โมซัมบิกเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมีประชากรราวสองในสามอาศัยอยู่บนชายฝั่งและพึ่งพาทะเลในการดำรงชีวิต

แต่รายงานระบุว่าเรือหลายลำในกองเรือแสดงพฤติกรรมที่ “ผิดกฎหมาย ไม่ยั่งยืน และไม่เหมาะสมต่อระบบนิเวศทางทะเลและลูกเรือ” ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นรายงานฉบับแรกที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำประมงของจีนในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้

รายงานที่มีชื่อว่า “กระแสน้ำแห่งความอยุติธรรม: การแสวงหาประโยชน์และการประมงที่ผิดกฎหมายของเรือจีนในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้” พบว่ามีการประมงที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนถึง 86 กรณีในพื้นที่ระหว่าง พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2566 โดยครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรือประมงจีน

อีกทั้งยังพบว่าการทำประมงที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งได้แก่การตัดครีบฉลามเป็นประจำ การจับและ/หรือการทำร้ายสัตว์ทะเลที่เสี่ยงสูญพันธุ์โดยเจตนา และลูกเรือประสบกับการทำร้ายร่างกาย สภาพการทำงานและการอยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม การข่มขู่และการคุกคาม รายงานดังกล่าวระบุ

นักวิจัยได้สัมภาษณ์ชาวประมงโมซัมบิกหลายสิบคนและอดีตลูกเรือของเรือประมงจีน

“ชาวประมงทุกคนที่มูลนิธิสัมภาษณ์ซึ่งเคยทำงานบนเรือตกปลาทูน่าของจีนในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ … ล้วนมีประสบการณ์หรือพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและ/หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระบุในรายงานเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน

ตามข้อมูลของดัชนีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จีนเป็นผู้กระทำผิดที่แย่ที่สุดในบรรดา 152 ประเทศที่ได้รับการประเมิน

มีการใช้ความรุนแรงอีกมากมายบนเรือประมงของจีน นางชิว เชาชื่อ ผู้จัดการมูลนิธิในเอเชียตะวันออกกล่าว

นางชิวกล่าวว่าร้อยละ 54 ของผู้ให้สัมภาษณ์พบเห็นหรือมีประสบการณ์ถูกทุบตีและทำร้าย รวมถึงการใช้มีดและอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ การเตะ และการละเมิดรูปแบบอื่น ๆ

ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่าตนถูกด่าว่าหรือข่มขู่ทางคำพูด บางครั้งก็โดนทำร้ายร่างกายจากหัวหน้างานของพวกเขาด้วยเช่นกัน

และประมาณร้อยละ 93 กล่าวว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างน้อยเกินไปหรือถูกหักค่าจ้างโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเป็นจำนวนเงินหลายร้อยถึงหลายพันดอลลาร์

บางคนถูกบังคับให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ได้งานและต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าขนส่ง และค่ารักษาพยาบาลคืนให้กับนายจ้าง รวมถึงการจ่ายเงินกู้คืน

“ชาวประมงหลายคนบอกเราว่าพวกเขาถูกบังคับให้เป็นทาส” นางชิวกล่าว

รายงานระบุว่า ลักษณะของการทำประมงในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งการขาดความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ทำให้การค้นหาและดำเนินคดีกับการทำประมงที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเรือทำงานอยู่ไกลจากท่าเรือบ้านเกิดของพวกเขา

บริษัทอาหารทะเลในจีน ซึ่งมักจะเป็นของรัฐบาลหรือได้รับเงินอุดหนุนและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในท้องถิ่น ได้ทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายปี

“ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา การประมงเกินขนาดโดยกองเรือในอุตสาหกรรมและการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน หรือไร้การควบคุมอย่างแพร่หลายได้ทำให้การผลิตทางการประมงเพื่อยังชีพในโมซัมบิกลดลงร้อยละ 30” นางชิวกล่าว โดยอ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลท้องถิ่น

โมซัมบิกสูญเสียรายได้ประมาณ 2.57 พันล้านบาท (ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี “เนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยริมชายฝั่ง” นางชิวกล่าว

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button