พันธมิตรและหุ้นส่วนสนับสนุนการฟื้นฟูของปาปัวนิวกินีหลังเกิดเหตุดินถล่มรุนแรง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
พันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกเร่งรวมตัวกันเพื่อให้การสนับสนุนปาปัวนิวกินีหลังเกิดเหตุดินถล่มอย่างรุนแรง ตั้งแต่การจัดหาที่หลบภัยและชุดสิ่งของเพื่อสุขอนามัย ไปจนถึงการจัดตั้งทรัพย์สินทางทหารและจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเหตุฉุกเฉิน
ออสเตรเลียได้ประกาศมอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเบื้องต้นจำนวน 62 ล้านบาท (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือแห่งนี้ และสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นผู้นำในการรับมือและฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติในจังหวัดเอนก้าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
“กองทัพออสเตรเลียกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทัพปาปัวนิวกินีเพื่อช่วยเหลือในการรับมือภัยพิบัติ” นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์ “ภารกิจนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศและกองทัพของเราอีกครั้ง”
องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกามอบเงินสนับสนุนด้านมนุษยธรรมจํานวน 18 ล้านบาท (ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงที่พักพิงฉุกเฉิน และความช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำพอร์ตมอร์สบี ซึ่งกําลังร่วมมือกับหน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติในท้องถิ่น ระบุว่า “ในวันนี้สหรัฐอเมริกายืนหยัดเคียงข้างปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรของเรา และจะยืนหยัดตลอดไป”
“เราขอภาวนาให้ทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้และเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทุกคนที่ยอมเสี่ยงชีวิตในสถานการณ์อันตรายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ” นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์
เมื่อเวลาประมาณ 3:00 น. ดินถล่มได้ไหลทะลักเข้าหมู่บ้าน และคาดว่าประชาชนกว่า 2,000 คนถูกฝังทั้งเป็นภายใต้กองซากปรักหักพัง รวมทั้งก้อนหินขนาดใหญ่ขนาดเท่าตู้คอนเทนเนอร์ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม บ้านและสถานประกอบการหลายสิบแห่งถูกทําลาย หนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดภัยพิบัติ จํานวนผู้เสียชีวิตยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเศษซากทางหลวงที่กระจัดกระจายอยู่ สะพานที่พังทลาย และความกังวลว่าจะเกิดดินถล่มมากขึ้นได้ขัดขวางการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ราบสูงห่างไกลนี้
ประชาชนหลายพันคนอาจต้องอพยพออกจากพื้นที่และประสบปัญหาเรื่องน้ำดื่มซึ่งมีอยู่อย่างจํากัด
“หลังเกิดภัยพิบัติครั้งนี้ เราเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก” นายเซอร์ฮาน อัคโตปราค เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ในปาปัวนิวกินี กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “พื้นที่นี้ยังคงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเกิดการไหลของดินอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งถนนที่อุดตัน ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยยังเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร”
หุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ปาปัวนิวกินี ซึ่งประกอบด้วย
- นิวซีแลนด์มอบเงินสนับสนุนประมาณ 33 ล้านบาท (ประมาณ 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงการส่งเครื่องบิน ซี-130 ของกองทัพนิวซีแลนด์เพื่อขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์และส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเหตุฉุกเฉิน “ภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก และกองทัพนิวซีแลนด์เองก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการรับมือครั้งนี้” นางจูดิธ คอลลินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ กล่าวในแถลงการณ์
- สภากาชาดสิงคโปร์สัญญาว่าจะจัดหางบประมาณเกือบ 1.5 ล้านบาท (ประมาณ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ) สําหรับอาหาร ที่อยู่อาศัย การดูแลผู้บาดเจ็บ รวมทั้งสิ่งของช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย และได้เปิดให้มีการเรียกร้องระดมทุนสาธารณะสําหรับความพยายามในการฟื้นฟู “เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนจากกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงเพื่อติดตามสถานการณ์ และพิจารณาว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเราสามารถช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ดีที่สุดอย่างไร” นายเบนจามิน วิลเลียม ประธานกรรมการบริหารของสภากาชาดสิงคโปร์ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์
- ยูเอ็นกำลังประสานกับหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับประเทศเพื่อรับมือ พร้อมจัดเต็นท์ ชุดตรวจสุขภาพ การสนับสนุนด้านจิตสังคม และการบรรเทาทุกข์อื่น ๆ
ดินถล่มในจังหวัดเอนก้า ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงพอร์ตมอร์สบีไปทางเหนือประมาณ 600 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคนนี้ใน พ.ศ. 2567
“เรากำลังเผชิญกับรูปแบบสภาพอากาศที่ผิดปกติตั้งแต่ภัยแล้งไปจนถึงฝนตกหนัก น้ำท่วมในพื้นที่แม่น้ำ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และดินถล่มบนภูเขา” นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี กล่าวกับรัฐสภาไม่กี่วันหลังเกิดเหตุดินถล่ม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โพสต์-เคอเรียร์ ในปาปัวนิวกินี
เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ กําลังช่วยเหลือปาปัวนิวกินีในการสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติสำหรับประชาชนกว่า 12,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่จากกองทัพปาปัวนิวกินีและกองทัพสหรัฐฯ ยังได้ฝึกซ้อมการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเสร็จสิ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ในพอร์ตมอร์สบี ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันความเชี่ยวชาญในการรับมือกับวิกฤตในด้านต่าง ๆ เช่น การอพยพทางการแพทย์และการดูแลผู้ป่วย
การฝึกอบรมครั้งนี้ดําเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมที่ลงนามใน พ.ศ. 2566 ซึ่งรวมถึงการฝึกซ้อมวางแผนการให้ความช่วยเหลือทั่วปาปัวนิวกินีในช่วงเกิดภัยพิบัติ
“วัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมนี้คือการยืนยันขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตที่เราเผชิญ พร้อมกับเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือในระดับภูมิภาค” พ.อ. ไบรอัน มัลวิฮิลล์ ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังหมุนเวียนนาวิกโยธิน-ดาร์วิน กล่าว “การรักษาความพร้อมและเตรียมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในยามที่จำเป็นคือสิ่งสำคัญสำหรับเรา”