พันธมิตรและหุ้นส่วนยังคงผลักดันการต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เจ็ดปีหลังจากที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนเป็นวันแห่งการต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมสากล พันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกยังคงเป็นผู้นำในการต่อสู้กับกิจกรรมผิดกฎหมายที่องค์การสหประชาชาติระบุว่า “มีผลกระทบสำคัญต่อการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา”
การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมคิดเป็นการจับปลามากถึง 14 ล้านตันต่อปี และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดการณ์ได้สูงถึง 1.83 ล้านล้านบาท (ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตามข้อมูลจากนักวิจัย
“ไม่มีที่ใดบนโลกที่รอดพ้นจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และนั่นคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” พล.ร.อ. ลินดา ฟาแกน ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ กล่าวกับสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 “นี่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอื่นหรือในทะเลหลวง … ซึ่งเป็นการทำประมงในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนและไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ตกลงกันไว้”
กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้จัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในฮาวาย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ศูนย์แห่งนี้ร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมายในอินโดแปซิฟิก ส่งเสริมการประสานงานระดับภูมิภาค และพยายามเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศหุ้นส่วนในการต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อีกทั้งยังพยายามเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับเขตแดนทางทะเล แลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกัน และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด
ในขณะเดียวกัน ปาเลาและสหรัฐฯ ได้ลงนามเพื่อขยายข้อตกลงบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในระดับภูมิภาค เนื่องจากทำให้กองกำลังรักษาชายฝั่งของสหรัฐฯ สามารถบังคับใช้กฎระเบียบในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้ โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่กฎหมายของปาเลาอยู่ด้วย
“ข้อตกลงนี้ช่วยเหลือปาเลาในการสังเกตการณ์เขตเศรษฐกิจพิเศษของเราเอง ปกป้องการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และขัดขวางเรือที่ไม่ได้รับเชิญจากการดำเนินการเคลื่อนที่ที่น่าสงสัยภายในน่านน้ำของเรา” นายเซอร์รังเจล เอส. วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีปาเลา กล่าวในแถลงการณ์ “ความร่วมมือประเภทนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามุ่งสู่เป้าหมายที่มีร่วมกันในด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค”
กฎหมายระหว่างประเทศให้สิทธิพิเศษเฉพาะแก่รัฐชายฝั่งในการใช้และรับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการประมง ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะ 200 ไมล์ทะเลของตนเอง การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมละเมิดอำนาจอธิปไตยเหล่านั้น เรือที่ติดธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีกองเรือประมงระยะไกลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้กระทำผิดหลักในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามรายงานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยหน่วยจัดการทรัพยากรทางน้ำโพไซดอนและโครงการริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
อีกทั้งจีนยังเป็นผู้บังคับใช้แรงงานบนเรือประมงอันดับหนึ่งของโลก ตามการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ของแนวร่วมความโปร่งใสทางการเงินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งพบว่าร้อยละ 25 ของเรือประมงพาณิชย์ที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานเป็นเรือสัญชาติจีน
การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มักอาศัยแรงงานกลุ่มเปราะบางและประชากรที่ด้อยโอกาส ซึ่งถูกหลอกลวงให้ขึ้นเรือภายใต้ข้อตกลงการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และติดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการละเมิด การขาดการดูแลทางการแพทย์ และภาวะขาดสารอาหารเกิดขึ้นจนเป็นประจำ รายงาน “การประเมินการเป็นทาสสมัยใหม่ทั่วโลก” ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2565 คาดว่ามีชาวประมงประมาณ 128,000 คนทั่วโลกถูกบังคับให้ทำงานบนเรือประมง
ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกกำลังร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ และหน่วยงานหุ้นส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบลูแปซิฟิก ที่ส่งเสริมความปลอดภัย ความมั่นคง อธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
ภายใต้โครงการชิปไรเดอร์แบบทวิภาคี เจ้าหน้าที่ทหารและ/หรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทางทะเลของแต่ละประเทศสามารถขึ้นเรือของอีกฝ่ายหนึ่ง และบังคับใช้กฎหมายภายในน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจพิเศษของอีกฝ่ายได้ เช่น เรือคัตเตอร์ของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ แฮเรียต เลน ได้ดำเนินการขึ้นเรือตรวจสอบประมาณ 30 ครั้งร่วมกับหน่วยงานหุ้นส่วนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างการลาดตระเวนเป็นเวลา 79 วัน ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
ประเทศในอินโดแปซิฟิกที่เข้าร่วมประกอบไปด้วย หมู่เกาะคุก ฟิจิ คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู ปาเลา ปาปัวนิวกินี ซามัว ตองงา ตูวาลู และวานูอาตู
พล.ร.อ. ฟาแกนกล่าวว่า กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ช่วย “สร้างศักยภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคสามารถบังคับใช้และรักษาอธิปไตยของตนเองได้”