ความร่วมมือโอเชียเนีย

ประเทศหุ้นส่วนอูกัสยกระดับปฏิบัติการร่วมและการบูรณาการเทคโนโลยี

ทอม แอบกี

กองทัพของออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาจะเป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการภายใต้เสาหลักที่ 2 ของอูกัส ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงของทั้งสามประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม และส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ผู้บัญชาการกองทัพกล่าว

เสาหลักที่ 1 ของสนธิสัญญาไตรภาคีนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งอาวุธตามแบบให้กับออสเตรเลีย ในขณะที่เสาหลักที่ 2 ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม ความเร็วเหนือเสียง และเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติ

“โครงการริเริ่ม เช่น โครงการคอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งประเทศสมาชิกอูกัสทำงานร่วมกันเพื่อทดสอบและปรับใช้แนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับสถานการณ์จริง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันและปรับปรุงยุทธวิธีร่วมกัน” พล.อ. แรนดี้ เอ. จอร์จ เสนาธิการแห่งกองทัพสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการหารือเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 กับเสนาธิการแห่งกองทัพออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

โครงการคอนเวอร์เจนซ์ แคปสโตน 4 เป็นโครงการริเริ่มที่นำโดยกองทัพสหรัฐฯ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางทหารผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงและการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร โดยเฉพาะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ในระหว่างการฝึกโครงการคอนเวอร์เจนซ์ แคปสโตน 4 ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2567 กองทัพของอูกัสทดสอบการบูรณาการระบบการป้องกันหลายชั้นและขีดความสามารถอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงระบบอาวุธและการปกป้องกองกำลัง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา

การฝึกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เซ็นเซอร์และการสื่อสารขั้นสูงช่วยยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกันในสนามรบระหว่างกองทัพทั้งสาม “ด้วยความเร็วของเครื่องจักร” พล.อ. แพทริค แซนเดอร์ส ผู้บัญชาการแห่งกองทัพอังกฤษ กล่าวในงานของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรจะแฝงตัวกับหน่วยเฉพาะกิจแบบหลายมิติที่ 3 ในฮาวายแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ในช่วงกลาง พ.ศ. 2567 เพื่อทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูงภายใต้เสาหลักที่ 2 ตามรายงานของนิตยสารดีเฟนส์ นิวส์ กองพันประสิทธิผลหลายมิติของหน่วยเฉพาะกิจแบบหลายมิติที่ 3 ประกอบด้วยไซเบอร์ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยสื่อสาร รวมถึงได้รับมอบหมายให้บูรณาการความสามารถเหล่านั้นเข้ากับกองกำลังร่วม

“นี่คือสิ่งที่ผมจะเรียกว่าเมล็ดข้าวโพดในช่วงเริ่มต้นของการสร้างขีดความสามารถแบบผสมผสาน” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวกับนิตยสารดีเฟนส์ นิวส์ “ผมเชื่อว่าการพัฒนาเหล่านี้และการมีส่วนร่วมอย่างน้อยจากทั้งสองประเทศนั้นจะช่วยทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน อีกทั้งยังจะช่วยเร่งให้มีกิจกรรมและงานจำนวนมากที่เราต้องทำร่วมกันในเสาหลักที่ 2 ของอูกัส”

นอกจากนี้ ภายใต้เสาหลักที่ 2 กองกำลังภาคพื้นดินของหุ้นส่วนอูกัส ยังร่วมมือกันเพื่อขยายและยกระดับขีดความสามารถในการปะทะ หรือที่เรียกว่าการยิงพิสัยไกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสามประเทศ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567

“ตัวพลิกเกมจากการมีส่วนร่วมในขอบเขตภาคพื้นดินไปจนถึงกองกำลังหลายมิติแบบผสมผสาน คือ ความสามารถในการปรับใช้การยิงในช่วงยุทธศาสตร์และช่วงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง” พล.ท. ไซมอน สจวร์ต ผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย กล่าวที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ

“และถือเป็นหน้าที่ของเราในฐานะทหารและฐานะผู้นำกองทัพของเรา ในการทำให้แน่ใจว่าเรากำลังทำหน้าที่ของตนเองในการสร้างขีดความสามารถที่มีร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังหลายมิติแบบผสมผสาน เพื่อให้รัฐบาลและชุมชนที่เราให้บริการมีทางเลือกในการแสดงขีดความสามารถร่วมกันได้อย่างเห็นผล มีการแสดงออก และมีเจตจำนงร่วมกัน” พล.ท. สจวร์ตกล่าว

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button