ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียใต้

จีนสร้างความกังวลโดยการส่งน้ำจากธารน้ำแข็งจากทิเบตไปยังมัลดีฟส์

เรดิโอฟรีเอเชีย

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดหาน้ำจากธารน้ำแข็งของทิเบต 3,000 ตันให้กับมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นประเทศเกาะ โดยแบ่งเป็นสองรอบในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม พ.ศ. 2567 และในเดือนเดียวกันนั้นจีนได้ประกาศและบังคับใช้กฎระเบียบการอนุรักษ์น้ำของทิเบต

คณะรัฐมนตรีจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่หนึ่งสัปดาห์ก่อนการขนส่งน้ำ 1,500 ตันไปยังมัลดีฟส์เป็นครั้งแรก ซึ่งแหล่งน้ำจืดของมัลดีฟส์ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

กฎระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีการส่งน้ำรอบที่สองไปยังมัลดีฟส์ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ราบสูงทิเบตประมาณ 3,400 กิโลเมตร

“ได้ยินมาว่าจีนบริจาคน้ำดื่มบรรจุขวดจากทิเบตให้กับประเทศอื่น ๆ ในโลกฟรีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง” ชาวทิเบตคนหนึ่งกล่าว “แต่ในทิเบตเอง ชาวทิเบตท้องถิ่นกลับมีน้ำดื่มไม่เพียงพอ บางครั้งก็มีน้ำไม่เพียงพอที่จะแปรงฟันด้วยซ้ำ”

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามัลดีฟส์ได้กู้เงินจากธนาคารจีนมากกว่า 3.64 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน

นายโมฮาเหม็ด มูอิซซู ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ได้ลงนามในข้อตกลง 20 ฉบับกับรัฐบาลจีน รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567

ชาวทิเบตกล่าวว่าพวกเขาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากทางการจีนได้รณรงค์อนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในหมู่บ้านและเมืองมานานกว่าสิบปี ชาวทิเบตอาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานับตั้งแต่กองทัพปลดปล่อยประชาชนบุกเข้ายึดครองบ้านของพวกเขาในช่วงต้นทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502)

ในวันเดียวกับที่มัลดีฟส์ระบุว่าได้รับน้ำรอบแรก เจ้าหน้าที่ในเขตอาหลี่ของทิเบต ซึ่งเป็นต้นกําเนิดของแม่น้ำสายหลักในเอเชียใต้ ได้เริ่มกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำเป็นเวลาหนึ่งปี

ในขณะเดียวกันแหล่งข่าวระบุว่า ชาวทิเบตถูกบังคับให้ย้ายออกจากดินแดนบรรพบุรุษของตนในเมืองกังการ์ เพื่อเปิดทางให้กับการขยายโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดของจีน

“กังการ์เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งน้ำจำนวนมากจากธารน้ำแข็ง ซึ่งมีน้ำพุ 15 แห่งที่ชาวทิเบตท้องถิ่นพึ่งพาเพื่อหาเลี้ยงชีพ” แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ทางการจีนวางแผนที่จะย้ายผู้อยู่อาศัยประมาณ 430 คนเพื่อควบคุมทรัพยากรน้ำ เขากล่าว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการกระทําของรัฐบาลจีนแสดงให้เห็นว่ากําลังมีส่วนร่วมใน “การเมืองด้านน้ำ” เพื่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียใต้

จีนมีโครงการขุดเจาะน้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุเพื่อขยายอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวด ผู้เชี่ยวชาญกล่าว นอกจากนี้ จีนยังต้องการควบคุมการไหลของน้ำที่ไหลไปยังประเทศท้ายน้ำ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา อินเดีย ลาว เนปาล ไทย และเวียดนาม เพื่อสานต่อความปรารถนาที่จะครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคต่อไป

“ความจําเป็นในการแก้ปัญหาภัยคุกคามของจีนที่ใช้น้ำเป็นอาวุธกับทิเบตนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง” นายนีราช ซิงห์ มานฮาส นักวิชาการ และ ดร. ราฮูล เอ็ม. แลด เขียนไว้ในรายงาน “การใช้น้ำเป็นอาวุธของจีนต่อทิเบต: บทเรียนสำหรับรัฐริมฝั่งตอนล่าง” ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ในวารสารกิจการอินโดแปซิฟิก

อีกทั้งยังเขียนระบุอีกว่า ด้วยเขื่อนที่จีนสร้างขึ้นประมาณ 87,000 แห่ง ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเขื่อนเหล่านั้นได้สร้างกั้นแม่น้ำภายในประเทศส่วนใหญ่แล้ว

ทิเบตอยู่ในแนวหน้าของ “สงครามทางน้ำ” ในภูมิภาคของรัฐบาลจีน นางอนุชกา ซัคเซนา นักวิเคราะห์การวิจัยจากสถาบันตักชาชิลา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายสาธารณะในอินเดีย

“ระบบแม่น้ำข้ามพรมแดนที่สําคัญแปดแห่งของทิเบตมีความสามารถในการทำให้จีน “มีอำนาจครอบงำทางน้ำ” เนื่องจากน้ำของพวกเขาสามารถนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นอาวุธที่เป็นอันตรายต่อรัฐริมฝั่งตอนล่าง” นางซัคเซนากล่าว

“ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการที่เกี่ยวกับการส่งออกทรัพยากรน้ำของจีนไปยังมัลดีฟส์จึงไม่สามารถแยกออกจากมาตรการที่ใหญ่กว่าของจีนในการใช้ทรัพยากรน้ำของทิเบตได้” นางซัคเซนากล่าวเสริม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button