ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ช่วยเสริมสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นคาดว่าจะนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่จะอนุญาตให้กองทัพของทั้งสองประเทศดำเนินการฝึกอบรมในดินแดนของกันและกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรับรองถึงอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกิลแบร์โต เตโอโดโร จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ยอมรับว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ในการบรรลุข้อตกลงนี้ระหว่างการประชุมทวิภาคีระดับสูงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดนิวส์ นายเตโอโดโรและนายเอนริเก มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ มีกำหนดการร่วมประชุมกับนายมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น และนายโยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ในกรุงมะนิลา

นายเตโอโดโรกล่าวว่าข้อตกลงนี้จะช่วยให้กองกําลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมการฝึกซ้อมบาลีกาตันครั้งใหญ่ประจําปีที่จัดโดยฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในช่วงเวลาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อเรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะมอบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ฟิลิปปินส์ 1.51 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่น 5 ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ญี่ปุ่นได้จัดหาเรือลาดตระเวน 12 ลําให้แก่กองกำลังรักษาชายฝั่งของฟิลิปปินส์ โดย 2 ลําที่มีความยาว 97 เมตรถือเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในบรรดากองเรือของรัฐบาลฟิลิปปินส์

คาดว่าเรือขนาดใหญ่ดังกล่าวอีก 5 ลำจะส่งมอบภายใน พ.ศ. 2571 และจะช่วยสนับสนุน “ขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางทะเล การตอบโต้ และการบังคับใช้กฎหมายของกองกำลังรักษาชายฝั่ง เพื่อให้แน่ใจว่าท้องทะเลจะปลอดภัยและมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับประชาชนของเราและผู้ที่เดินทางข้ามน่านน้ำของเรา” นายมานาโลกล่าวในพิธีลงนามในกรุงมะนิลา

นายคาซึยะ เอนโดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำฟิลิปปินส์ ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการริเริ่มเสริมสร้างขีดความสามารถของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ “เนื่องจากสถานการณ์โดยรอบฟิลิปปินส์มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กองกำลังรักษาชายฝั่งเองจึงต้องเป็นแนวหน้าในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของเราและระเบียบทางทะเลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา”

เรือของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลและกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนยังคงพยายามปิดกั้นเรือของฟิลิปปินส์ในภารกิจส่งเสบียงไปยังด่านทหารชั้นนอกที่สันดอนโธมัสที่สอง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โดยเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ยิงปืนใหญ่ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ ส่งผลให้ลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และทำให้เรือเสบียงเสียหาย กองทัพฟิลิปปินส์ระบุว่า เรือฟิลิปปินส์อีกลําถูกโจมตีโดยกองกำลังรักษาชายฝั่งจีน และในเดือนพฤษภาคมเรือยางท้องแข็งของจีนได้สกัดกั้นการส่งเสบียงทางอากาศที่ส่งไปยังด่านชั้นนอก

พฤติกรรมยั่วยุเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการอ้างสิทธิ์ในวงกว้างตามใจชอบของรัฐบาลจีนในน่านน้ำรอบ ๆ สันดอนโธมัสที่สอง ใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ตัดสินว่าจีนไม่สามารถอ้างสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าวภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ได้

ฟิลิปปินส์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สําคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนทางทะเลร่วมกันในทะเลจีนใต้ นายอูร์ส เชิตลี ที่ปรึกษาด้านกิจการเอเชีย เขียนให้กับบทความของหน่วยข่าวกรองทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในลิกเตนสไตน์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“นโยบายการตอบโต้ความท้าทายที่ทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เผชิญนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก” นายเชิตลีเขียน และชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงกับฟิลิปปินส์ในการจัดหายุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2559 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นผู้รับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการรายแรกของญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับกองกำลังของประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์เกิดขึ้นหลังจากนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ซึ่งเหล่าผู้นำกล่าวว่าทั้งสามประเทศ “รวมตัวกันด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกันของเราในการสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และเราสัญญาว่าจะผลักดันวิสัยทัศน์นี้ร่วมกันไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button