ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกโอเชียเนีย

การฝึกอบรมและฝึกซ้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกับสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนให้ปาปัวนิวกินีสามารถรับมือกับเหตุการณ์ดินถล่มร้ายแรงได้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองทัพปาปัวนิวกินีและเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินอื่น ๆ รับมือกับเหตุการณ์ดินถล่มที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยได้ปรับใช้เทคนิคและความเชี่ยวชาญที่ได้รับระหว่างการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมเป็นประจำกับกองทัพสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานอื่น ๆ ของประเทศหุ้นส่วน

ในขณะเดียวกัน อากาศยานและยานพาหนะอื่น ๆ จากสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก ได้รับส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ เสบียงบรรเทาทุกข์ และอุปกรณ์ค้นหาและกู้ภัยไปยังจังหวัดเอนก้าที่อยู่บนพื้นที่ราบสูงอันห่างไกล ซึ่งคาดการณ์ว่ามีประชาชนกว่า 2,000 คนถูกฝังอยู่ใต้โคลนและเศษหินในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ยอดผู้เสียชีวิตยังไม่ชัดเจนในช่วงสองสัปดาห์หลังเหตุการณ์ดินถล่ม

ดร. บิลลี่ โจเซฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุในหนังสือพิมพ์โพสต์-เคอเรียร์ของปาปัวนิวกินีว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยรับมือกับเหตุการณ์อย่างรวดเร็วแม้จะมีความท้าทายด้านการส่งกำลังบำรุง เช่น สะพานถล่มและถนนถูกปิดกั้น รวมถึงอาจเกิดดินถล่มอีกครั้ง

ดร. โจเซฟกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินในจังหวัดเอนก้า และส่งทีมจากกองบัญชาการปฏิบัติการแห่งกองทัพปาปัวนิวกินีและศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติในเมืองพอร์ตมอร์สบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่อยู่ห่างไปทางใต้ประมาณ 600 กิโลเมตร

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในปาปัวนิวกินีได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือควอด ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น “ภารกิจส่วนหนึ่งที่สหรัฐฯ จะดำเนินการผ่านความพยายามของเราคือ การประสานงานด้านการส่งกำลังบำรุงในช่วงระยะสุดท้ายสำหรับเสบียงบรรเทาทุกข์ที่หุ้นส่วนควอดมอบให้ปาปัวนิวกินี” นางมิรา รัปป์-ฮูเปอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย กล่าวเมื่อต้นเดือนมิถุนายน

ใน พ.ศ. 2565 ประเทศสมาชิกต่างได้ลงนามในแนวทางสำหรับกลุ่มความร่วมมือควอดว่าด้วยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในอินโดแปซิฟิก

“ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ควอดได้ทำงานเบื้องหลังเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติเพื่อที่ … เราจะได้มีความพร้อมในการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้นสำหรับการประสานงานความช่วยเหลือของเรา” นางรัปป์-ฮูเปอร์กล่าวกับสำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย “เราได้เห็นถึงแนวทางเหล่านั้นในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก”

เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์ดินถล่ม กองทัพปาปัวนิวกินีและเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ได้เสร็จสิ้นการฝึกซ้อมการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในเมืองพอร์ตมอร์สบีพอดี การฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 11 วันนี้ดําเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมที่ลงนามใน พ.ศ. 2566 ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น การอพยพทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วย และการส่งมอบความช่วยเหลือ

เจ้าหน้าที่กองทัพปาปัวนิวกินีและกองกำลังหมุนเวียนทางทะเล-ดาร์วินของสหรัฐฯ ฝึกซ้อมแผนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังในระหว่างการฝึกซ้อมใน พ.ศ. 2567 ที่พอร์ตมอร์สบี
วิดีโอจาก: ส.ท. มิเกล เรย์โนซา/ส.ท. ฮวน ทอร์เรส/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

“ในปาปัวนิวกินี เรามีความต้องการด้านการบรรเทาภัยพิบัติมากมาย เนื่องจากมักจะมีเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งภัยพิบัติ” ร.ท. เฮย์ดัน ชาน เจ้าหน้าที่ประสานงานการฝึกซ้อมของกองทัพปาปัวนิวกินี กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “ความรู้ที่เราให้ไว้แก่กัน … มีประโยชน์ต่อกองทัพปาปัวนิวกินีและสหรัฐอเมริกา”

ปาปัวนิวกินี “เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดอันตรายมากที่สุดในโลก” โดยประชากรกว่า 10 ล้านคนต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด และดินถล่มเป็นประจำ รวมถึงน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุหมุนเขตร้อน และคลื่นความร้อน ตามรายงานของจีโอไซแอนซ์ออสเตรเลีย หน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือปาปัวนิวกินีในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการบรรเทาอันตรายทางธรรมชาติ

การฝึกซ้อมการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติครั้งล่าสุดถือเป็นการขยายความร่วมมือแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมและรับมือของปาปัวนิวกินี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 แพทย์ ศัลยแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อื่น ๆ จากกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพอร์ตมอร์สบีเจเนอรัลเป็นเวลา 10 วัน

การฝึกซ้อมและการแลกเปลี่ยนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งจัดโดยกองทัพปาปัวนิวกินีและกองทัพสหรัฐฯ ในเมืองพอร์ตมอร์สบีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ประกอบไปด้วยการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติเพื่อพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติและการตัดสินใจ

หนึ่งเดือนต่อมา ภูเขาไฟระเบิดที่ภูเขาบากานาของปาปัวนิวกินี ส่งผลให้ชาวบ้านหลายพันคนในภูมิภาคบูเกนวิลล์ต้องเผชิญกับลาวา ก๊าซ ไอน้ำ และเถ้าถ่าน องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ตอบรับคำขอของปาปัวนิวกินีโดยการมอบเงินจำนวน 7.27 ล้านบาท (ประมาณ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับชุดสิ่งของเพื่อการหลบภัยและเสบียงฉุกเฉินอื่น ๆ บุคลากรและยานพาหนะของนาวิกโยธินและกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ เรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ยูเอสเอส อเมริกา, อากาศยานใบพัดกระดก รุ่นเอ็มวี-22 ออสเปรย์ และเฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-53อี ซูเปอร์ สตัลเลียน ได้เข้าประจำการเพื่อจัดส่งเสบียงบรรเทาทุกข์ไปยังพื้นที่ห่างไกล

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเบื้องต้นจำนวน 18 ล้านบาท (ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ) หลังเหตุการณ์ดินถล่ม ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับชุดสิ่งของเพื่อการหลบภัยฉุกเฉิน และความช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ได้ช่วยเสริมสร้างความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้แก่ปาปัวนิวกินี อีกทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและบรรเทาสาธารณภัยแก่ประชาชนหลายพันคนตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวที่เปิดสำนักงานในพอร์ตมอร์สบีใน พ.ศ. 2566 ยังสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความร่วมมือในการเชื่อมต่อไฟฟ้าในประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือให้ชาวปาปัวนิวกินีร้อยละ 70 เข้าถึงไฟฟ้าได้ภายใน พ.ศ. 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2564 ประมาณร้อยละ 13

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ตั้งอยู่ที่ฮาวาย ร่วมมือกับกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อเป็นผู้นำการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในเมืองพอร์ตมอร์สบีเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ผู้เข้าร่วมจากกองทัพปาปัวนิวกินี สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติปาปัวนิวกินีและศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติปาปัวนิวกินี กองทัพออสเตรเลีย กองทัพบกสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ได้ยกระดับขีดความสามารถในการรับมือ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างพลเรือนและทหาร

การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือแปซิฟิกที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติข้ามชาติประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button