เสรีภาพแห่งท้องทะเล
ปฏิบัติการเคลื่อนที่ผ่านของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ระดับโลกเพื่อรักษาช่องทางการขนส่งที่เสรีและเปิดกว้าง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ดำเนินการรณรงค์ระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนความพยายามในปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เพื่อรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัย มั่นคง และเปิดกว้าง
กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ประสานงานการรณรงค์ดังกล่าวกับกองบัญชาการกำลังรบสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยได้ปฏิบัติการตามกิจวัตรไปทั่วโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงการป้องกันช่องแคบที่สำคัญตลอดเส้นทางคมนาคมทางทะเล ปฏิบัติการหลายขอบเขตที่สอดประสานกันเหล่านี้มีการใช้งานสินทรัพย์ทางเรือ ทางอากาศ และภาคพื้นดินร่วมกัน
“กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งในอดีตได้รวมถึงการปกป้องเส้นทางในทะเลทั้งในยามสงบและยามสงคราม” ตามรายงานของ พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในขณะนั้น
ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ยืนยันว่าสหรัฐฯ “จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อรับรองว่าภูมิภาคนี้ยังคงเปิดกว้างและเข้าถึงได้ ซึ่งทะเลและน่านฟ้าของภูมิภาคนี้ก็จะได้รับการกำกับดูแลและใช้งานตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย” โดยที่กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกมีอำนาจในการรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังนำพาให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกายกระดับขีดความสามารถในการป้องปรามการรุกรานและต่อต้านการบีบบังคับที่มีต่อสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน เราควรมองปฏิบัติการร่วมทุกมิติผ่านเลนส์ของการป้องปรามแบบบูรณาการ เพื่อขัดขวางผู้มีบทบาทที่จะลดทอนบรรทัดฐานและกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้
การรณรงค์เกี่ยวกับเคลื่อนที่ผ่านนี้ช่วยให้พันธมิตรและหุ้นส่วนมั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่า สหรัฐฯ จะปกป้องเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ ให้คงอยู่สืบไป ผ่านช่องแคบสำคัญที่ทอดยาวจากช่องแคบมะละกาและช่องแคบฮอร์มุซไปยังจะงอยแอฟริกาและคลองปานามา
สหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสนับสนุนหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล พ.ศ. 2525 และการปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าเส้นทางน้ำที่สำคัญนี้จะยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและการพาณิชย์ ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือเป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อบรรลุการป้องปรามแบบบูรณาการ ใน พ.ศ. 2567 หลายประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรืออยู่ และยืนยันที่จะสนับสนุนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลให้เป็นดั่งกรอบทางกฎหมายสำหรับกิจกรรมในมหาสมุทรและทะเล
การปิดกั้นช่องแคบที่มีความเสี่ยงและการอ้างสิทธิ์อย่างก้าวร้าวเหนือดินแดนและทรัพยากร ไม่ใช่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเลเพียงอย่างเดียวของโลก อุบัติเหตุในการขนส่ง การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นด้วยอาวุธ การหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตร และการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความท้าทายที่ร้ายแรงข้ามภูมิภาคด้วยเช่นกัน
กิจกรรมการเคลื่อนที่ผ่านที่มีการประสานงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในอินโดแปซิฟิก ช่วยเสริมสร้างความพยายามในการป้องปรามโดยรวมผ่านการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล นอกจากนี้ยังเพิ่มการหมุนเวียนสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ไปยังคาบสมุทรเกาหลี เช่น เรือดำน้ำที่มีความสามารถด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้เข้าเทียบท่ายังเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี และเรือ บี-52 ที่มีความสามารถด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีเป็นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 สินทรัพย์ทั้งสองรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเคลื่อนที่ผ่านครั้งใหญ่ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก
ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือ
การรณรงค์ปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ประกอบด้วยปฏิบัติการตามลำดับหลายปฏิบัติการในสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงในภูมิภาคนี้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการริเริ่มโดยกองบัญชาการกำลังรบอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแอฟริกา กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นยุโรป และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนใต้ ภายในและใกล้กับช่องแคบสำคัญทั่วโลก
กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกประกอบไปด้วย กองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กองกำลังนาวิกโยธิน ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพอวกาศ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ได้เข้าร่วมในการรณรงค์กับพันธมิตรและหุุ้นส่วนจากออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอื่น ๆ สินทรัพย์ที่เข้าร่วม ได้แก่ กองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม หน่วยสะเทินน้ำสะเทินบกพิเศษ และเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ เครื่องบิน บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส, บี1-บี แลนเซอร์ และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นที่ห้า ได้ให้การสนับสนุนทางอากาศตลอดการรณรงค์เคลื่อนที่ผ่าน
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน ได้ดำเนินปฏิบัติการด้านกลาโหมเหล่านี้เป็นประจำทุกเดือนใกล้กับช่องแคบสำคัญทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก ปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินการใกล้กับช่องแคบแปซิฟิกตะวันตก เช่น บาลาบัค เกาหลี ลูซอน มะละกา มินโดโร มิยาโกะ และสิงคโปร์ รวมถึงในสถานที่สำคัญในทะเลฟิลิปปินส์ ทะเลอันดามัน และทะเลจีนใต้ นอกเหนือจากพื้นที่ปฏิบัติการในอินโดแปซิฟิก โครงการริเริ่มนี้ยังรวมถึงปฏิบัติการป้องกันช่องแคบในบริเวณใกล้กับคลองสุเอซ ช่องแคบยิบรอลตาร์ และช่องแคบฮอร์มุซ
การเปิดเส้นทางน้ำเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพาณิชย์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก การขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 60 เป็นการขนถ่ายมายังท่าเรือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ขณะที่การบรรทุกออกนั้นมีมากกว่าร้อยละ 40 ตามรายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
ปฏิบัติการแบบหลายขอบเขตเหล่านี้มีการใช้งานสินทรัพย์ทางเรือ ทางอากาศ และภาคพื้นดินร่วมกัน โดยเป็นการผสมผสานแบบหลายขอบเขต ซึ่งประสานระหว่างช่วงเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ปฏิบัติการเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่ตามมาในภายหลังได้ปรับใช้ทรัพย์สินและกองกำลังที่แตกต่างกันไปตามแต่ละจุดที่เป็นปัญหา เช่น การรณรงค์ดังกล่าวกำหนดเป้าไปยังพื้นที่ที่มีการแข่งขันใกล้กับหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนใต้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส ฮ็อปเปอร์ ยังได้ยืนยันสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ใกล้กับหมู่เกาะพาราเซลอันเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยูเอสเอส ฮ็อปเปอร์ ได้ท้าทายความพยายามของประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พยายามจำกัดการเคลื่อนที่ผ่านโดยบริสุทธิ์
“การอ้างสิทธิ์ในทะเลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างกว้างขวางในทะเลจีนใต้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพในทะเล รวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านน่านฟ้า การค้าเสรี และโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่มีชายฝั่งติดกับทะเลจีนใต้” กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์หลังจากสิ้นสุดการเคลื่อนที่ผ่านในทะเลจีนใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนระมัดระวังในการดำเนินปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานในอินโดแปซิฟิก เพื่อสร้างความมั่นใจในเสรีภาพในการเดินเรือ “สหรัฐอเมริกาท้าทายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินเลยทั่วโลก โดยไม่สนว่าผู้อ้างสิทธิ์ดังกล่าวจะเป็นใคร”
กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ทุกวัน เหมือนดังเช่นที่เคยทำมานานกว่าศตวรรษ โดยปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มุ่งมั่นทำเพื่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างซึ่งสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง
การดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือเป็นประจำและตามกิจวัตรเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนผลประโยชน์ระดับชาติของสหรัฐฯ อันยาวนานในด้านเสรีภาพในทะเล กิจกรรมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ภายใต้โครงการเสรีภาพในการเดินเรือได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการอย่างมืออาชีพ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการท้าทายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินเลยไป 22 ครั้งจากผู้อ้างสิทธิ์ 15 รายทั่วโลก ตามรายงานเสรีภาพในการเดินเรือประจำปีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ความพยายามระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ กองบัญชาการกำลังรบอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ยังได้ดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือที่มีการประสานงานในพื้นที่รับผิดชอบของตนตลอดทั้ง พ.ศ. 2566 กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้ดำเนินปฏิบัติการเคลื่อนที่ผ่านร่วมกับความพยายามของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก และของบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วน เช่น กองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม ยูเอสเอส ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ จากกองทัพเรือสหรัฐฯ เคลื่อนที่ผ่านช่องช่องแคบฮอร์มุซไปยังอ่าวเปอร์เซียในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 “การที่เราเคลื่อนที่ผ่านช่องแคบที่สำคัญนี้และการมีบทบาทอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค” พล.ร.ต. มาร์ก มิกูเอซ ผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม กล่าว
ความสำคัญของปฏิบัติการเส้นทางคมนาคมทางทะเลดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลแดงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของ พ.ศ. 2566 ในช่วงกลางเดือนธันวาคม กบฏฮูตีในเยเมนได้กำหนดเป้าหมายของขีปนาวุธทิ้งตัวและ โดรนไปยังเรือสินค้าอย่างน้อย 10 ลำที่บรรทุกสินค้าจากกว่า 35 ประเทศ ตามรายงานข่าว
ในการต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าว นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศเริ่มดำเนินปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรื่อง ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงข้ามชาติเพื่อปกป้องเรือสินค้าในพื้นที่ทะเลแดง ในแต่ละปีมีเรือพาณิชย์ประมาณ 20,000 ลำที่เคลื่อนที่ผ่านทะเลแดงและอ่าวเอเดน ตามรายงานของข่าวกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
“ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรื่องได้รวบรวมหลายประเทศมาไว้ด้วยกัน ซึ่งได้แก่ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เซเชลส์ และสเปน เพื่อช่วยกันรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในทะเลแดงตอนใต้และอ่าวเอเดน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสรีภาพในการเดินเรือสำหรับทุกประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาค” นายออสตินกล่าว
“นี่เป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศในการแก้ไข” นายแกรนท์แชปป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าว
“เราจำเป็นต้องเพิ่มการแสดงตนในพื้นที่เพื่อสร้างเงื่อนไขในการรักษาเสถียรภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเกิดขึ้นอีกครั้ง” ซึ่งการก่อการร้ายดังกล่าวอาจมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นายกุยโด โครเซตโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิตาลี กล่าวในแถลงการณ์
ความร่วมมือของหลายประเทศที่เรียกว่ากองกำลังทางทะเลแบบผสมผสาน ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในบาห์เรน ได้คอยให้การดูแลความพยายามดังกล่าว กองกำลังทางทะเลแบบผสมผสานซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2544 โดยมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ทว่าในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 39 ประเทศ และกองกำลังเฉพาะกิจต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องอ่าวโอมาน มหาสมุทรอินเดีย อ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และอ่าวเอเดน
ฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกองกำลังทางทะเลแบบผสมผสาน ได้เริ่มลาดตระเวนบริเวณทะเลแดงตอนใต้และอ่าวเอเดนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เรือฟริเกต ลองเกอด็อก ของกองทัพเรือฝรั่งเศสยิงโดรน 2 ลำที่ดูเหมือนจะมาจากเยเมนจนตก และทำลายโดรนลำหนึ่งที่คุกคามเรือบรรทุกน้ำมันของนอร์เวย์ กองทัพเรือฝรั่งเศสระบุว่า เรือลอง
เกอด็อกได้ให้ความช่วยปกป้องเรือบรรทุกน้ำมันจากการถูกจี้
กองกำลังทางทะเลแบบผสมผสานจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจแบบผสมผสาน 153 ใน พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินการด้านความมั่นคงทางทะเลและการสร้างขีดความสามารถในทะเลแดง ช่องแคบบับเอลมันเดบ และอ่าวเอเดน ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ
“ภูมิภาคตะวันออกกลางกว้างใหญ่และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา กองทัพเรือเพียงกองทัพเดียวไม่สามารถลาดตระเวนทั่วทั้งน่านน้ำรอบนอกได้เพียงลำพัง” พล.ร.ท. แบรด คูเปอร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กองเรือที่ 5 และกองกำลังทางทะเลแบบผสมผสาน กล่าวในการเริ่มปฏิบัติการของกองกำลังเฉพาะกิจแบบผสมผสาน 153 “เมื่อมีการร่วมมือกับหุ้นส่วน เราจะทำได้ดีที่สุดเสมอ”
กองกำลังเฉพาะกิจของกองกำลังทางทะเลแบบผสมผสานอื่น ๆ ได้แก่ กองกำลังเฉพาะกิจแบบผสมผสาน 150 ซึ่งมุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางทะเลในอ่าวโอมานและมหาสมุทรอินเดีย กองกำลังเฉพาะกิจแบบผสมผสาน 151 ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดในระดับภูมิภาค และกองกำลังเฉพาะกิจแบบผสมผสาน 152 ซึ่งมุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางทะเลในอ่าวอาหรับ ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ
ความสำเร็จของการรณรงค์โดยรวม
ความพยายามโดยรวมของปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานแสดงให้เห็นถึงความสามารถของสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน ในการรับรองเส้นทางเศรษฐกิจที่เสรีและเปิดกว้างทั่วโลก และขีดความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็นต้องปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเลทุกแห่ง
สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนกำลังดำเนินงานร่วมกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อปรับใช้วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงร่วมกันในระดับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอินโดแปซิฟิก การรณรงค์เส้นทางคมนาคมทางทะเลที่มีการประสานงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในภูมิภาค
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการฝึกไตรภาคีซึ่งมีระยะเวลาหลายปี และการเปิดใช้งานกลไกการแบ่งปันข้อมูลคำเตือนเกี่ยวกับขีปนาวุธตามเวลาจริงเพื่อตอบโต้เกาหลีเหนือ ออสเตรเลียและญี่ปุ่นกระชับความร่วมมือผ่านการฝึกทวิภาคีและไตรภาคี รวมถึงผ่านการรวมญี่ปุ่นเข้ากับโครงการริเริ่มด้านการแสดงจุดยืนของกองกำลังของออสเตรเลียและสหรัฐฯ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ในขณะเดียวกัน อินเดียได้นำเครื่องบินรบขั้นสูงและเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์เข้าร่วมการฝึกกับสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำงานร่วมกัน และปลูกฝังความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ได้เสนอแนวทางเพื่อกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ในทุกขอบเขต การฝึกทวิภาคีและพหุภาคีอื่น ๆ ยังคงมีการขนาดและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกแปซิฟิก แวนการ์ด พ.ศ. 2566 ได้มีบุคลากรของกองทัพเรือและกองกำลังทางทะเลเข้าร่วมมากกว่า 2,000 นาย ทั้งจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนตลอดทั้ง พ.ศ. 2566 เพื่อส่งมอบความสำเร็จที่ก้าวล้ำด้านสันติภาพ เสถียรภาพ และการป้องเพื่อสนับสนุนให้เกิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ปฏิบัติการเคลื่อนที่ผ่านที่มีการประสานงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก จะยังคงเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสรีภาพและความปลอดภัยในทะเล การรณรงค์เส้นทางคมนาคมทางทะเลแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์การป้องกันของสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ