เรดาร์ที่ผลิตโดยญี่ปุ่นช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังของฟิลิปปินส์ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ระบบเรดาร์เคลื่อนที่ที่ญี่ปุ่นส่งมอบให้กับฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 จะช่วยเสริมสร้างการตระหนักรู้ในขอบเขตของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในขณะที่ความตึงเครียดกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้คุกรุ่นขึ้น
เรดาร์เฝ้าระวังทางอากาศที่ผลิตโดยญี่ปุ่น “เพิ่มช่องทางการเฝ้าระวัง” ให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตทางอากาศ นายกิลแบร์โต เตโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ กล่าวในระหว่างพิธีส่งมอบที่ค่ายอากีนัลโด ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์นิวส์เอเจนซี
ระบบ ทีพีเอส-พี14เอ็มอี ให้ภาพเป้าหมายทางอากาศและพื้นดินที่มีความละเอียดสูง เช่น อากาศยาน โดรน และเรือเดินทะเล ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์นิวส์เอเจนซี นอกจากนี้ยังช่วยให้รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว ตามรายงานของ พ.อ. มาเรีย คอนซูเอโล กัสติลโล โฆษกกองทัพฟิลิปปินส์
ระบบเรดาร์นี้ “ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของกองทัพฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก โดยได้ให้ความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ตามเวลาจริง การตรวจจับการแจ้งเตือนล่วงหน้า และขีดความสามารถในการติดตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ” พ.อ. กัสติลโลกล่าวในแถลงการณ์
เรดาร์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสี่ระบบเฝ้าระวังที่กองทัพฟิลิปปินส์จะได้รับภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 3.8 พันล้านบาท (ประมาณ 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กับบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ปอเรชัน ของญี่ปุ่นซึ่งลงนามในสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2563
ญี่ปุ่นส่งมอบระบบเรดาร์ระบบแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 และโอนย้ายการควบคุมให้แก่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ในเดือนธันวาคม หน่วยดังกล่าวทำหน้าที่ตรวจจับเครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธจากระยะไกล โดยติดตั้งไว้ที่ฐานทัพอากาศวอลเลซ ซึ่งเป็นอดีตฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือราว 270 กิโลเมตร
ระบบที่เหลืออีกสองระบบจะส่งมอบภายใน พ.ศ. 2569
ระบบเรดาร์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาถึงในระหว่างการฝึกบาลิกาตันหรือการฝึกเคียงบ่าเคียงไหล่ ซึ่งเป็นการฝึกทางทหารประจำปีในฟิลิปปินส์ โดยมีกำลังทหารเข้าร่วมมากกว่า 16,000 นายจากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ และผู้สังเกตการณ์จาก 14 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2568
ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงดำเนินแผนการการรุกรานในพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ด้วย รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด แม้ว่าใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศจะตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม
เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ทำการปิดกั้น พุ่งชน และยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือของฟิลิปปินส์ที่กำลังเดินทางไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลูกเรือประมงชาวฟิลิปปินส์ใกล้กับสันดอนสกาโบโรห์ ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์นิวส์เอเจนซี เรือฟิลิปปินส์สองลำได้รับความเสียหาย ทว่าก็สามารถทำภารกิจได้เสร็จสิ้น
รัฐบาลจีนได้ยกระดับการบีบบังคับในพื้นที่สีเทาดังกล่าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมา เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ใช้ยุทธวิธีที่เป็นอันตรายเช่นเดียวกันนี้กับเรือเติมเสบียงที่สันดอนโทมัสที่สอง ซึ่งเป็นที่ที่มีกองทัพเรือฟิลิปปินส์เป็นผู้ดูแลด่านทหารชั้นนอก
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้รายงานถึงกิจกรรมที่คล้ายกันของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนใกล้กับหมู่เกาะเซ็งกะกุที่อยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก รวมถึงการรุกรานของเรือติดอาวุธและการคุกคามลูกเรือประมง
นายมาโกโตะ โอนิกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมการส่งมอบระบบเรดาร์ครั้งล่าสุด กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถเพิ่มการป้องปรามได้ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ตามรายงานขององค์กรข่าวญี่ปุ่น เอ็นเอชเคเวิลด์
นายคาซึยะ เอนโด เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำฟิลิปปินส์ เรียกความร่วมมือครั้งล่าสุดของทั้งสองประเทศว่าเป็น “ชัยชนะครั้งสำคัญของความร่วมมือด้านกลาโหม”
“ระบบเรดาร์เฝ้าระวังทางอากาศเคลื่อนที่ ทีพีเอส-พี14เอ็มอี มีความสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในฟิลิปปินส์และภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในวงกว้าง” นายเอนโดโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์