อินโดแปซิฟิก การปรับปรุงยุทธศาสตร์
สหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญาอย่างลึกซึ้งต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนในการรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าอย่างมากในการใช้ยุทธศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อปรับปรุงความทันสมัยให้กับผู้เป็นพันธมิตรมาอย่างยาวนาน เสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เร่งด่วน ภัยคุกคามที่มีการพัฒนาและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ของภูมิภาคนี้มีตั้งแต่การรุกรานของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศในบลูแปซิฟิก
สำหรับการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงเหล่านี้ “เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าสหรัฐอเมริการวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราจะไม่ทำสิ่งนี้เพียงลำพัง และจะใช้อำนาจทุกรูปแบบของรัฐบาลของเรา” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในขณะนั้น ระบุในระหว่างการประชุมแปซิฟิก ฟอรัม เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับการดำเนินปฏิบัติการด้านการ บูรณาการในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งได้รวบรวมผู้นำ เจ้าหน้าที่ทหาร และผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนไปยังโฮโนลูลู รัฐฮาวาย “กองทัพไม่สามารถดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว” พล.ร.อ. อาควิลิโนระบุ แม้ว่ากองทัพจะ “ทำให้อำนาจฝ่ายอื่น ๆ ของประเทศสามารถดำเนินการจากสถานะที่เป็นต่อ และด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นลักษณะสำคัญในการป้องปรามศัตรูเหล่านี้… เราจำเป็นต้องคิด กระทำ และดำเนินการที่แตกต่างออกไปในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงนี้ในยุคนี้เพื่อต่อต้านศัตรูกลุ่มนี้”
สำหรับความพยายามที่เริ่มขึ้นนานกว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้ สหรัฐฯ ได้ปรับปรุงและเสริมสร้างพันธมิตรและความมุ่งมั่นตามสนธิสัญญาที่สำคัญกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไทย โดยสายสัมพันธ์ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาค ภายใต้ข้อตกลงอันแน่นแฟ้นอย่างยิ่งเหล่านี้ สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้การป้องกัน หากประเทศเหล่านี้ถูกโจมตี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้สร้างสายสัมพันธ์ระดับพหุภาคีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นผ่านสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน การเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด กับออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ตลอดจนกลไกความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้เสริมสร้างสายสัมพันธ์กับประเทศในอินโดแปซิฟิกที่เป็นหุ้นส่วนกันมาเป็นเวลานาน ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และอีกหลายประเทศในภูมิภาคบลูแปซิฟิก เช่นเดียวกับประเทศหุ้นส่วนใหม่ ๆ
สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนความมุ่งมั่นด้านกลาโหมเหล่านี้และความมุ่งมั่นอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุการป้องปรามที่แข็งแกร่ง วัดผลได้ และบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ กำลังระดับรูปแบบและโครงสร้างของกองกำลังในอินโดแปซิฟิก ขยายการฝึกระดับโลกครั้งใหญ่ และปรับปรุงขีดความสามารถทางทหารกับพันธมิตรและหุ้นส่วน
การเสริมสร้างสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกัน
สิ่งที่โดดเด่นในบรรดาสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วอินโดแปซิฟิกในช่วงหลังสงครามและความขัดแย้งครั้งใหญ่ คือ การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งลงนามใน พ.ศ. 2494 และมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2495 ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐเกาหลีใน พ.ศ. 1953 ซึ่งเป็นเวลาสองเดือนให้หลังจากข้อตกลงสงบศึกของเกาหลียุติการปะทะกันในสงครามเกาหลี
ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่งจะรุ่งเรืองขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของสนธิสัญญาด้วยข้อตกลงหลายฉบับ ซึ่งบางฉบับจัดอยู่ในประเภทที่ครอบคลุมลักษณะต่าง ๆ เช่น สถานะของกองกำลัง ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และการเพิ่มมิติทางไซเบอร์และอวกาศเมื่อไม่นานมานี้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2564 พล.ร.อ. อาควิลิโนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้ยกระดับขีดความสามารถในการป้องปรามและประสานงานกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงการร่วมดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลีได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ
ญี่ปุ่น
สหรัฐฯ ยังคงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ โดยการส่งทหารประมาณ 50,000 คนไปประจำการในญี่ปุ่น รวมถึงพนักงานพลเรือนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสมาชิกในครอบครัวอีกหลายพันคน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยที่สุดไปยังญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงกลุ่มการโจมตีด้วยเรือรบบรรทุกอากาศยาน เรดาร์ป้องกันขีปนาวุธ และเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม อีกทั้งสหรัฐฯ ยังส่งออกยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศไปยังญี่ปุ่น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ยกระดับความถี่ ความซับซ้อน และความเข้มข้นของการฝึกซ้อมร่วม เช่น ใน พ.ศ. 2550 ญี่ปุ่นเริ่มเข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทะเล มาลาบาร์ กับอินเดียและสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังได้ยกระดับโครงการริเริ่มความร่วมมือทางกลาโหมของทั้งสองประเทศ เช่น การแบ่งปันข้อมูลและยกระดับขีดความสามารถในการทำงานร่วมกัน ใน พ.ศ. 2011 กองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่บนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2561 กองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกเคลื่อนที่ของญี่ปุ่นและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมในจังหวัดคาโกชิมะของญี่ปุ่น เพื่อปรับแต่งการปฏิบัติการร่วมกันในดินแดนห่างไกล
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้เคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและสร้างความมั่นใจในอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเจรจาหารือด้านความมั่นคงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะปรับท่าทีของกองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นให้เหมาะสมที่สุด “โดยการส่งต่อขีดความสามารถที่หลากหลาย คล่องตัว และความยืดหยุ่นมากขึ้น” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุ ตามรายงานข่าว “การกระทำเหล่านี้จะเสริมสร้างการป้องปรามในภูมิภาคและช่วยให้เราสามารถปกป้องญี่ปุ่นและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
โดยแรกเริ่ม สหรัฐอเมริกาได้จัดกำลังนาวิกโยธิน 2,000 นายใหม่ โดยขอกำลังมาจากจำนวนกองกำลังที่มีอยู่ และเสริมสร้างด้านการข่าวกรองขั้นสูง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน ตลอดจนขีดความสามารถในการต่อต้านเรือและการขนส่ง เพื่อรวมระบบขัดขวางเรือของกองทัพเรือ/นาวิกโยธินนอกประเทศหน่วยใหม่ เจ้าหน้าที่ระบุ
เพื่อให้ตามทันกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ตกลงที่จะตีความสนธิสัญญาเพื่อให้ครอบคลุมการโจมตีจากหรือภายในพื้นที่ ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ ได้เพิ่มพื้นที่ทางไซเบอร์ลงในสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2562
“นอกจากนี้ เรายังได้หารือเกี่ยวกับการปรับปรุงการเป็นพันธมิตร บทบาท และภารกิจของเราเพื่อให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการรักษาความมั่นคงของภูมิภาค ไปพร้อม ๆ กันกับสหรัฐอเมริกาและหุ้นส่วนอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน” นายออสตินระบุ “เราสนับสนุนการตัดสินใจของญี่ปุ่นเพื่อให้ได้มาซึ่งขีดความสามารถในการต่อต้านการโจมตีอย่างยิ่ง และเรายืนยันว่าการประสานงานอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการใช้ขีดความสามารถนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น”
เกาหลีใต้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมระดับสูงของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ยืนยันความแข็งแกร่งด้านความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศหลายครั้ง และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความร่วมมือทางการทหาร ภายใต้กองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังทหารมากกว่า 28,000 นายมาประจำการในเกาหลีใต้เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นอันยั่งยืนในภารกิจร่วมดังกล่าว
“นับเป็นเวลาเกือบเจ็ดทศวรรษแล้วที่ความเป็นพันธมิตรนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งสันติภาพและความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีและทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกในวงกว้าง” นายออสตินระบุในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ระหว่างการประชุมหารือด้านความมั่นคงประจำปีครั้งที่ 54 ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “และในปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรที่มีความสามารถอย่างมากและเป็นผู้ให้บริการด้านความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนเป็นผู้ปกป้องระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่ทำให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย”
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังคงเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของความเป็นพันธมิตร ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการเสียสละร่วมกัน และมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ร่วมกันในการป้องปรามเกาหลีเหนือไม่ให้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการทำลายล้าง นายออสตินได้เน้นย้ำในการปรึกษาหารือ พ.ศ. 2565 ว่า การป้องปรามนั้นรวมถึงขีดความสามารถด้านการป้องกันด้วยนิวเคลียร์และขีปนาวุธตามแบบแผนของสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ “ในคาบสมุทรแห่งนี้ เราจะกลับสู่การดำเนินการฝึกซ้อมครั้งใหญ่เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการทำงานร่วมกันและความสามารถในการต่อสู้ หากจำเป็น” นายออสตินระบุ “เรามุ่งมั่นที่จะต่อยอดความพยายามเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างการป้องกรามแบบบูรณาการและสร้างความมั่นใจว่าความเป็นพันธมิตรนี้ยังคงเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีและทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก”
ดังนั้น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 การประชุมครั้งแรกของกลุ่มการปรึกษาหารือด้านนิวเคลียร์ระดับทวิภาคี ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้จัดขึ้นในกรุงโซลเพื่อหารือเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล การสั่งการและการควบคุมเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ตลอดจนการวางแผนและการดำเนินการร่วมกันเพื่อยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ตามรายงานของรอยเตอร์
“เนื่องด้วยขีดความสามารถในการสู้รบที่พร้อมรบและท่าทีความพร้อมที่มีความมั่นคง กองทัพของเราจะตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนือในทันที” นายยุนระบุในพิธีการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงโซล ซึ่งเป็นวันครบรอบ 75 ปีของกองทัพบกเกาหลีใต้ และครบรอบ 70 ปีของการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ “เมื่อใดเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์ ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือจะสิ้นสุดลงเนื่องด้วยการตอบโต้อย่างท่วมท้นจากความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ”
ฟิลิปปินส์
การยืนหยัดต่อความมุ่งมั่นด้านความมั่นคงที่มีต่อฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯ ก็แข็งแกร่งขึ้นเช่นเดียวกัน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 พันธมิตรได้ดำเนินการฝึกบาลิกาตันระดับพหุภาคีร่วมกันครั้งใหญ่ที่สุดโดยมีบุคลากรเข้าร่วมมากกว่า 17,600 คนจากทั้งสองประเทศ และออสเตรเลียได้เข้าร่วม ณ สถานที่ต่าง ๆ ทั่วฟิลิปปินส์ การฝึกครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมของการเป็นพันธมิตร
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้เสนอแนวทางการป้องกันประเทศระดับทวิภาคีเพื่อปรับปรุงความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แนวทางดังกล่าวยืนยันว่าการโจมตีด้วยอาวุธในมหาสมุทรแปซิฟิกบนเรือสาธารณะ อากาศยาน หรือกองกำลังติดอาวุธของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะก่อให้เกิดความมุ่งมั่นภายใต้สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2494 แนวทางดังกล่าวกำหนดเส้นทางเพื่อสร้างขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันในมิติตามแบบและนอกแบบ โดยตระหนักว่าภัยคุกคามอาจเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในมิติทางบก ทางทะเล และทางอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในพื้นที่ทางไซเบอร์และอวกาศด้วย ภัยคุกคามดังกล่าวอาจถือว่าเป็นรูปแบบของการทำสงครามแบบอสมมาตร ไฮบริด และไม่ปกติ หรือยุทธวิธีพื้นที่สีเทา
แนวทางดังกล่าวเน้นย้ำถึงความเกี่ยวข้องที่ยั่งยืนของสนธิสัญญา ซึ่งส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจ และขีดความสามารถภายใต้กรอบการทำงานของความเป็นพันธมิตร ผลักดันความสามัคคีในความพยายามทุก ๆ ด้านของความมั่นคงระดับทวิภาคีและความร่วมมือทางกลาโหม และชี้แนะถึงความสำคัญของความร่วมมือทางกลาโหม ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังระบุวิธีการต่าง ๆ มากมายในการพัฒนาความพยายามนี้ โดยรวมถึงการประสานงานเกี่ยวกับการปรับปรุงการป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย การจัดลำดับความสำคัญของการจัดซื้อแพลตฟอร์มการป้องกันประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ และการขยายการลงทุนในการสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งสองประเทศวางแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลและขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศฉบับปรับปรุง
ไทย
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของการเป็นพันธมิตรกับไทย ทั้งสองประเทศยังคงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการป้องกันประเทศร่วมกัน สนธิสัญญามะนิลาที่จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 ภายใต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ทางการทูตและค่านิยมที่มีร่วมกันมานานกว่า 190 ปี ซึ่งรวมถึงการสร้างประชาธิปไตยที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม และเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ไทยได้รับยุทโธปกรณ์ทางทหาร เสบียง การฝึกอบรม ตลอดจนความช่วยเหลือในการสร้างและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกจากสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2546 สหรัฐฯ ได้กำหนดให้ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ถือเป็นผู้จัดหาด้านกลาโหมรายใหญ่สำหรับไทยและเป็นหุ้นส่วนทางการค้าชั้นนำของไทย ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
การฝึกคอบร้าโกลด์ซึ่งไทยและสหรัฐฯได้ร่วมกันจัดขึ้น ถือเป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุชาติประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในภูมิภาค โดยใน พ.ศ. 2567 ก็เป็นการฝึกปีที่ 44 แล้ว ในทุก ๆ ปี ทั้งสองประเทศจะดำเนินการฝึกซ้อมและการมีส่วนร่วมทางทหารร่วมกันมากกว่า 400 ครั้ง ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังร่วมกันเปิดสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในกรุงเทพฯ ซึ่งได้ฝึกอบรมบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากกว่า 22,000 คนจากทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนังสือแถลงการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทยใน พ.ศ. 2565 ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ได้ระบุถึงลำดับความสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การบังคับใช้กฎหมาย และเทคโนโลยี จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ หวังจะสานต่อความร่วมมือในด้านเหล่านี้ต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อฟิลิปปินส์และไทยยังสามารถช่วยเสริมศักยภาพและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนได้ ภายใต้การเป็นพันธมิตรกับไทย สหรัฐฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาภูมิภาคริมแม่น้ำโขงผ่านความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างสภาพเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และช่วยในการจัดการทรัพยากร การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดี ความพยายามนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องอธิปไตยของไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลประโยชน์ในภูมิภาคที่สำคัญนี้ด้วย
ออสเตรเลีย
สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในความมุ่งมั่นด้านสนธิสัญญาต่อออสเตรเลีย กองกำลังของทั้งสองประเทศได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันเป็นครั้งแรกในยุทธการแห่งฮาเมลในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2461 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ต่อสู้ร่วมกันในทุก ๆ ความขัดแย้งที่สำคัญนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญาอันซัสใน พ.ศ. 2494 และออสเตรเลียเรียกร้องให้อันซัสให้การสนับสนุนสหรัฐฯ หลังจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544
ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมทาลิสมันเซเบอร์ที่จัดขึ้นทุกสองปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เพื่อช่วยให้มั่นใจถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและการรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2554 สหรัฐฯ ได้หมุนเวียนกำลังนาวิกโยธินประมาณ 2,000 คนต่อปีไปประจำการยังเมืองดาร์วินทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และเมื่อไม่นานนี้ก็ได้มีทหารอากาศเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมอื่น ๆ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมกับญี่ปุ่นในการเจรจาไตรภาคี รวมถึงกับญี่ปุ่นและอินเดียในความร่วมมือของควอด
สหรัฐฯ ยังได้พัฒนาความสัมพันธ์กับออสเตรเลียผ่านข้อตกลงทางความมั่นคงไตรภาคีฉบับปรับปรุง ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ในชื่อ ข้อตกลงอูกัส ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนออสเตรเลียในการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดอาวุธตามแบบ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจว่าหุ้นส่วนทั้งสามประเทศนี้จะรักษามาตรฐานการป้องกันการแพร่ขยายทางนิวเคลียร์ระดับสูงสุดไว้ได้ ไม่เพียงแค่นั้น หุ้นส่วนทั้งสามประเทศยังจะยกระดับขีดความสามารถร่วมกันและการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเน้นย้ำด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และขีดความสามารถใต้ทะเล
การเสริมสร้างความร่วมมือ
นอกเหนือจากการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรแล้ว สหรัฐฯ ยังต้องพัฒนาความร่วมมือทางกลาโหมในด้านขีดความสามารถทางทหารที่สำคัญอื่น ๆ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันและในบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก ดร. มาร่า คาร์ลิน รักษาการรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบาย ระบุในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 “เครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ที่คู่แข่งไม่สามารถทัดเทียมได้” ดร. คาร์ลินระบุ
อินเดีย
ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตามรายงานของนายสิทธัตถ์ ไอเยอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเอเชียใต้แห่งสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทั้งสองประเทศกำลังกระชับความสัมพันธ์และสายสัมพันธ์ทางกลาโหม
นายไอเยอร์ระบุว่า ความร่วมมือทางกลาโหมแสดงถึง “แรงผลักดันอย่างเหลือเชื่อและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ในขณะที่ “ความอบอุ่นและความคุ้นเคย” ระหว่างสองประเทศได้พัฒนาขึ้น ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 นายออสตินได้เดินทางไปเยือนอินเดียเป็นจำนวน 3 ครั้งนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2564
“เราเชื่อมั่นว่าการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียถูกต้องไม่ใช่เพียงสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แต่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุยุทธศาสตร์ของเราในอินโดแปซิฟิก” นายไอเยอร์ระบุ “มีความมุ่งมั่นในวงกว้างและลึกซึ้งที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ”
เช่น ระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัท สตาร์ทอัพ และสถาบันวิจัยของอินเดียและสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็วด้วยการใช้ประโยชน์ทางการทหาร
ประเทศในบลูแปซิฟิก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังฟื้นฟูความร่วมมือกับประเทศในบลูแปซิฟิกอีกด้วย ข้อตกลงของสมาคมเสรีกับรัฐที่มีความสัมพันธ์อย่างเสรี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) ระหว่างสหรัฐฯ และสามประเทศอธิปไตยในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำหน้าที่เป็นรากฐานสำคัญของความร่วมมือ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ ได้ขยายข้อตกลงกับหมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย และปาเลาที่ให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงทางทหารในส่วนยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรแปซิฟิก ตามรายงานของรอยเตอร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมกับปาปัวนิวกินีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
ประธานาธิบดีไบเดนจัดการประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาวใน พ.ศ. 2565 และ 2566 ร่วมกับสมาชิกการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคดังกล่าว และเจตนารมณ์ที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศในบลูแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศหมู่เกาะซึ่งเป็นที่ราบลุ่มจมอยู่ใต้น้ำ “สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะรับประกันถึงภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง” ประธานาธิบดีไบเดนเน้นย้ำในการประชุมสุดยอดครั้งดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566
ตัวแทนจากประเทศสมาชิกการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกทั้ง 18 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย หมู่เกาะคุก ฟิจิ เฟรนช์พอลินีเชีย คิริบาตี หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู นิวแคลิโดเนีย นิวซีแลนด์ นีวเว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองงา ตูวาลู และวานูอาตู “เรารับฟังเสียงเรียกร้องทั้งหมดเพื่อรับประกันว่าทุกประเทศจะไม่มีวันสูญเสียความเป็นรัฐหรือการเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น อันเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวกับบรรดาผู้นำประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก “ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาก็กำลังแสดงออกอย่างชัดเจนว่านี่คือจุดยืนของเราเช่นกัน”
คณะบริหารของสหรัฐฯ กำลังขยายให้การรับรองทางการทูตไปยังหมู่เกาะคุกและนีวเว โดยต่อยอดจากการเปิดสถานทูตในหมู่เกาะโซโลมอนและตองงาเมื่อไม่นานมานี้ และวางแผนที่จะเปิดสถานทูตในวานูอาตูใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
สหรัฐฯ ให้สัญญาในการประชุมสุดยอด พ.ศ. 2565 ว่าจะช่วยหมู่เกาะแปซิฟิกในการตอบโต้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจของจีน และบริจาคเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับโครงการใหม่ในทศวรรษหน้า ตามรายงานของรอยเตอร์ สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินเพิ่มอีก 7.27 พันล้านบาท (ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่การประชุมสุดยอดครั้งที่สอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหมู่เกาะแปซิฟิก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศโครงการริเริ่มเพื่อสนับสนุนข้อจำกัดและขอบเขตทางทะเลโดยการยกระดับขีดความสามารถทางกฎหมาย พัฒนาการแบ่งปันข้อมูลทางสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ ช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับความพยายามในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติในภูมิภาค เพิ่มการเชื่อมต่อแบบดิจิทัล เพิ่มการสนับสนุนกองกำลังรักษาชายฝั่ง ให้ทุนสนับสนุนเคเบิลใต้ทะเล และช่วยเหลือในด้านการต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ
“เรามีผลประโยชน์ทางศีลธรรม ยุทธศาสตร์ และประวัติศาสตร์อย่างล้ำลึก ณ ที่แห่งนี้” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน “และผมคิดว่าเรากำลังยืนยันคำสัญญานั้นอีกครั้ง”
ความมุ่งมั่นในอนาคต
ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนยังคงลึกซึ้งยิ่งขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกและแผนการรณรงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งผ่านการป้องปรามแบบบูรณาการ “สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามความรับผิดชอบในสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันของเรา ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของเราในญี่ปุ่น เกาหลี พื้นที่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศฉบับปรับปรุงของเราในฟิลิปปินส์ หรือภายในออสเตรเลียพร้อมกับพันธมิตรของเรา” พล.ร.อ. อาควิลิโนระบุในที่ประชุมแปซิฟิก “เรามารวมตัวกันเนื่องจากได้รับเชิญให้มาทำงานและปฏิบัติการร่วมกัน”
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว สหรัฐฯ ยังทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินโดแปซิฟิกและยูโรแอตแลนติกอีกด้วย เช่น สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ในการกระชับความสัมพันธ์กับนาโต
สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนและความซับซ้อนของการฝึกซ้อมทางทหารกับพันธมิตรตามสนธิสัญญา และพัฒนาความร่วมมือทางทหารกับหุ้นส่วนอื่น ๆ และประเทศในอินโดแปซิฟิกที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของอาเซียนเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันสำหรับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตลอดจนรับประกันถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพในภูมิภาค