ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยกระดับ การป้องกันทาง ชีวภาพ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่า งพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ

ดร. ดีออน แคนยอน และ ดร. เบนจามิน ไรอัน
ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ
เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลกอยู่เสมอ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อเป็นพิเศษเนื่องจากสถานที่ตั้ง ความหนาแน่นของประชากร การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากขึ้น และทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดแปซิฟิกมีการระบาดของโควิด-19 โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช1เอ็น1 ไข้หวัดนก และไวรัสซิกา การระบาดเหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบและยุทธศาสตร์การป้องกันและเฝ้าระวังทางชีวภาพที่คล่องตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนี้พอจะกล่าวได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเสริมความเข้มแข็งให้ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติ กองทัพสามารถมีบทบาทสำคัญในการคาดการณ์และบรรเทาความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อ

ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพที่มีอยู่

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้และลงทุนในการพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพเพื่อปกป้องประชากรของตน เช่น สิงคโปร์ได้พัฒนายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการตรวจหาโรคตั้งแต่ระยะแรก การตอบสนองอย่างรวดเร็ว และการจัดการภัยคุกคามทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์นี้รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติใน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติกักกันทางชีวภาพระดับสูงและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

ประเทศไทยได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการก่อการร้ายทางชีวภาพ ซึ่งรวมถึงการจัดทำระบบเฝ้าระวังการก่อการร้ายทางชีวภาพ การเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการและทางระบาดวิทยา ตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์

มาเลเซียได้พัฒนากรอบการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2558 ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายทางชีวภาพแห่งชาติและระบบเฝ้าระวังการก่อการร้ายทางชีวภาพ ตลอดจนการพัฒนาแนวทางสำหรับการตอบสนองทางห้องปฏิบัติการและทางการแพทย์ต่อภัยคุกคามทางชีวภาพ

เรือพยาบาล ยูเอสเอ็นเอส เมอร์ซี มาถึงเมืองปวยร์โต ปรินเซซา ประเทศฟิลิปปินส์ระหว่างภารกิจความร่วมมือแปซิฟิก พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติแบบพหุชาติประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในอินโดแปซิฟิก พ.จ.ต. ราฟาเอล แม็กคอรีย์/กองทัพเรือสหรัฐฯ

ใน พ.ศ. 2534 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้แนวทางความมั่นคงแห่งชาติเพื่อรับมือความท้าทายนี้ ฟิลิปปินส์ได้พัฒนากรอบการทำงานด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงการฝึกอบรม การพัฒนาแนวทางสำหรับความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติ

อินโดนีเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติสำหรับความมั่นคงและความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำกับดูแลการพัฒนาและการดำเนินการตามนโยบายและแนวทางในการจัดการและขนส่งสารชีวภาพ ใน พ.ศ. 2563 อินโดนีเซียได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพระยะเวลา 5 ปี และได้ประกาศระบบความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพในทุกภาคส่วนของรัฐบาลสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ และการเกษตร

ใน พ.ศ. 2552 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จำนวน 10 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันข้อตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ

แม้ว่าจะมีบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มียุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติ แต่ทุกประเทศก็ได้มีการพัฒนานโยบายและแนวทางในการเฝ้าระวัง สนับสนุนความปลอดภัยทางชีวภาพ และตอบสนองต่อภัยคุกคามทางชีวภาพ ขณะนี้แผนงานนี้เตรียมไว้พร้อมสำหรับการปรับขนาดการป้องกันทางชีวภาพในแต่ละประเทศและร่วมกันทั้งภูมิภาค

เชื้อก่อโรคอุบัติใหม่จากเอเชียใต้

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรวางแผนที่จะต่อต้านเชื้อก่อโรคที่อุบัติใหม่จากเอเชียใต้ ตัวอย่างเช่น ในบังกลาเทศและอินเดีย โรคติดเชื้ออาจเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสาธารณสุขและความมั่นคงในระดับภูมิภาค บังกลาเทศและอินเดียมีประชากรหนาแน่น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดและการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ ทั้งสองประเทศต่างเคยผ่านการระบาด เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชากรของตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรจำนวนมาก รวมถึงมีความเชื่อมโยงด้านการค้าและการเดินทางที่สำคัญกับประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อและการระบาดของโรค

การแพร่กระจายไปทั่วโลกของวัณโรคดื้อยาหลายขนานยังเป็นปัญหาที่สำคัญในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิด การขาดความร่วมมือในการรักษา และการควบคุมการติดเชื้อที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การระบุเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อโรคและขอบเขตการแพร่กระจายเชื้อโรคระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ นั้นทำได้ยาก เป็นที่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการปรับปรุงการป้องกัน การตรวจหา และการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถร่วมมือกับประเทศในเอเชียใต้และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างระบบสาธารณสุขของตน ปรับปรุงการเฝ้าระวังและการรายงานโรค เพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการ ยกระดับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากร ความพยายามเหล่านี้สามารถสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือเชื้อโรคอุบัติใหม่ และทำให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองต่อการระบาดอย่างพร้อมเพรียงกันและมีประสิทธิภาพ

เครื่องบินของแอร์เอเชียเตรียมลงจอดในมาเลเซียในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 หลังจากที่มาเลเซียได้นำการคัดกรองอุณหภูมิกลับมาใช้กับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ในจีน

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรวางแผนในการต่อต้านเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเช่นกัน มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้จีนเป็นแหล่งบ่มเพาะโรคที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้แพร่กระจายโรครายสำคัญ เช่น จีนเป็นต้นตอการแพร่กระจายไข้หวัดใหญ่เอเชียใน พ.ศ. 2500 และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงใน พ.ศ. 2511 ซึ่งแต่ละครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก, ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช5เอ็น1 ใน พ.ศ. 2539, โรคซาร์สใน พ.ศ. 2545 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 750 คน, ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอ-เอช7เอ็น9 ใน พ.ศ. 2560, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช1เอ็น1 และโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 6.9 ล้านคนทั่วโลก แม้ว่าจีนจะไม่ได้เป็นต้นตอการแพร่กระจายโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งฆ่าหมูไปเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่การบริหารจัดการและนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เต็มใจที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างโปร่งใส เนื่องด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ใกล้กับจีน และมีการเชื่อมโยงกันผ่านการค้าและการท่องเที่ยว การกำกับดูแลที่ไม่ดีดังกล่าวยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้โรคอุบัติใหม่แพร่กระจายจากจีนได้ง่ายขึ้น รัฐบาลจีนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อตรวจหา ป้องกัน และตอบสนองต่อการแพร่ระบาด แนวทางความร่วมมือนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องสาธารณสุข รักษาความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก และจำกัดขอบเขตการหยุดชะงักทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญและความวุ่นวายทางสังคมอย่างกว้างขวาง

ต่อต้านเชื้อก่อโรคใหม่

ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อจำกัดการแพร่กระจายข้ามพรมแดนของเชื้อโรคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจหาตั้งแต่เนิ่น ๆ และการตอบสนองอย่างรวดเร็วจะต้องเป็นแกนหลักในทุก ๆ แผน ควรมีระบบเฝ้าระวังเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่ชายแดนหรือในชุมชนตั้งแต่ระยะแรก การเฝ้าระวังควรตั้งอยู่บนรากฐานของการมีห้องปฏิบัติการที่ขีดความสามารถเพียงพอที่จะระบุและวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหาต้นกำเนิดของเชื้อก่อโรค ควรมีทีมตอบสนองอย่างรวดเร็วที่มีการจัดหาทรัพยากรและวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอไว้ต่อต้านการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแลทางการแพทย์และการกักตัว

การตรวจสอบน้ำเสียเป็นวิธีการที่ไม่แพงและมีประสิทธิภาพในการตรวจหาและติดตามเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโปลิโอ ซาร์ส เอชไอวี และไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสโปลิโอในการกดล้างชักโครกหนึ่งครั้งสามารถถูกตรวจพบได้ในโรงบำบัดน้ำเสียหลังจากผ่านไปนานกว่าสี่วัน การใช้วิธีนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิธีนี้ช่วยให้สามารถคาดการณ์การระบาดเฉพาะที่ได้ โรงพยาบาลจึงสามารถเตรียมพร้อมได้ดีขึ้นและสามารถเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบวิวัฒนาการของไวรัสได้

ยุทธศาสตร์การป้องกันชีวภาพแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกของห้องปฏิบัติการและขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรม และการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สิ่งนี้ช่วยให้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าการพัฒนาวัคซีนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติสำหรับประเทศที่มีความสามารถในการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนเท่านั้น แต่ทุกประเทศก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาและทดลองวัคซีนได้ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อาจต้องใช้เวลา แต่ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับความพยายามด้านนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานโดยเร็วที่สุด

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรักษาชายคนหนึ่งหลังจากเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเทียบท่าที่ชายหาดในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

มาตรการควบคุมชายแดนและมาตรการจำกัดการเดินทางพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ มาตรการนี้ช่วยยื้อเวลาให้ชุมชนและประเทศต่าง ๆ ได้หาวิธีปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบาง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สังคมยังดำเนินต่อไปได้ ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพควรมีมาตรการจำกัดการเดินทางไปและกลับจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อในช่วงที่มีการระบาด รวมถึงการคัดกรองนักเดินทางเพื่อหาอาการและกักตัวผู้ป่วย ในกรณีของโควิด-19 ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จในประเทศเกาะ เล็ก ๆ หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการระบาดใหญ่คงอยู่นาน การป้องกันจึงอ่อนกำลังและเชื้อก่อโรคก็เข้าสู่ประเทศ

หลักการพื้นฐานของการตอบสนองต่อวิกฤตคือ การสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพควรจัดให้มีช่องทางการสื่อสารกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้สามารถแบ่งปันข้อมูลอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคใหม่และการดำเนินการตอบสนองที่เหมาะสม เครือข่ายดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเครือข่ายเฝ้าระวังสาธารณสุขแปซิฟิก ที่ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกและประชาคมแปซิฟิกใน พ.ศ. 2539 เครือข่ายเฝ้าระวังสาธารณสุขแปซิฟิกมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก โรคหัด หัดเยอรมัน ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู ไข้รากสาดน้อย โรคซาร์ส และเอชไอวี รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้โดยการ บูรณาการข้อมูลสุขภาพ ระบบเฝ้าระวัง การใช้งานคอมพิวเตอร์ การฝึกอบรม และการส่งเสริมเครือข่าย

บทบาทของกองทัพ

สินทรัพย์ทางทหารสามารถสนับสนุนศูนย์การป้องกันและเฝ้าระวังทางชีวภาพแห่งชาติได้โดยการตรวจหาและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางชีวภาพ ประการแรก สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องปฏิบัติการทางทหารสามารถส่งเสริมห้องปฏิบัติการในท้องถิ่นได้โดยมอบการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าและบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สามารถช่วยพัฒนาและตรวจสอบการทดสอบวินิจฉัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจหาและจำแนกลักษณะของเชื้อก่อโรค รวมถึงสนับสนุนการผลิตวัคซีนและยารักษาโรค บุคลากรทางทหารยังสามารถฝึกอบรมและสนับสนุนองค์กรพลเรือนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการและจัดเก็บสารชีวภาพ การใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ และการป้องกันการปล่อยเชื้อโรคโดยไม่เจตนา

ขีดความสามารถของหน่วยข่าวกรองทางทหารสามารถเตือนให้ทราบล่วงหน้าถึงภัยคุกคามทางชีวภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ สินทรัพย์ด้านข่าวกรอง เช่น ระบบเฝ้าระวัง แพลตฟอร์มการลาดตระเวน และเครือข่ายข่าวกรองบุคคล สามารถระบุและติดตามการระบาดของโรคติดเชื้อได้โดยให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของสารชีวภาพ รวมถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์

ศูนย์การป้องกันและเฝ้าระวังทางชีวภาพแห่งชาติสามารถจัดเตรียมทีมตอบสนองทางการแพทย์ของกองทัพเพื่อให้การดูแลและการรักษา แยกและกักตัวประชากรที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงให้การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์เพื่อแจกจ่ายเสบียงและอุปกรณ์ ตัวอย่างเช่น ทีมเคลื่อนที่เร็วระดับโลกของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ได้ระดมพลมากกว่า 2,400 ครั้งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนด้านสาธารณสุขภายในสหรัฐฯ และต่างประเทศ ทีมเคลื่อนที่เร็วระดับโลกนี้ได้รับมือกับอหิวาตกโรค โควิด-19 ไข้เลือดออก อีโบลา ไวรัสตับอักเสบเอ หัด โปลิโอ ไข้เหลือง ซิกา ความอดอยาก และภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกองทัพเรือยังอยู่ในฐานะที่เหมาะสมสำหรับการส่งมอบผลิตภัณฑ์และขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือ เช่น วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ การขนส่ง และห่วงโซ่โลจิสติกส์ กองกำลังสหรัฐฯ ยังสามารถเป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออันดับต้น ๆ ในการสนับสนุนและฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ ร่วมกับองค์การนอกภาครัฐทั้งในประเทศหรือระหว่างประเทศ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินงานทางคลินิก ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นจากความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นร่วมกัน มีประสิทธิภาพในการบรรเทาภัยพิภัติสึนามิในบันดาอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านการใช้เรือพยาบาล ยูเอสเอ็นเอส เมอร์ซี

กองทัพยังมีขีดความสามารถอย่างมากในการจัดการโล จิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสามารถใช้ในการขนส่งบุคลากร เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว จัดให้มีการจัดเก็บและการขนส่งสารชีวภาพที่ปลอดภัย และประสานงานการกระจายวัคซีนและยารักษาโรค การตอบสนองที่ดีที่สุดเกิดจากการผสมผสานขีดความสามารถที่สำคัญของระบบโลจิสติกส์ทางทหาร ภาคเอกชน และผู้มีมนุษยธรรม

ปรับปรุงการเตรียมความพร้อม

ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติจะช่วยให้มั่นใจว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมมากขึ้นในการตรวจหาและตอบสนองต่อโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และเพื่อป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ ยุทธศาสตร์นี้ควรประกอบด้วยระบบการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพสำหรับการตรวจหาตั้งแต่เนิ่น ๆ และการวางแผนที่ครอบคลุม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและมาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ ขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการสำหรับความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพต้องมีการปรับปรุงในวงกว้าง และต้องสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา สุดท้าย การสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวก ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ การศึกษาและการฝึกอบรม รวมถึงการลงทุน

การใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของกองทัพและภาคเอกชนจะช่วยให้ศูนย์การป้องกันและเฝ้าระวังทางชีวภาพแห่งชาติสามารถยกระดับขีดความสามารถของรัฐบาลในการตรวจหาและตอบสนองต่อภัยคุกคาม ปกป้องสาธารณสุข และรักษาความมั่นคงของชาติ

การลงทุนดังกล่าว ตลอดจนการยกระดับการสื่อสารและความร่วมมือกับประเทศในเอเชียใต้ จีน และพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถบรรเทาความเสี่ยงของการได้รับเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ รวมถึงปกป้องสาธารณสุขและความมั่นคงของชาติ ท้ายที่สุด ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติมีความสำคัญต่อการปกป้องความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก และจำกัดผลกระทบของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของมนุษย์

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเอกสาร หัวใจสำคัญของความมั่นคง โดยศูนย์เอเชียแปซิฟิกแดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง ฉบับที่ 24 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม


องค์ประกอบของ ยุทธศาสตร์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติ

การประเมินความเสี่ยง: ระบุภัยคุกคามและช่องโหว่ ที่อาจเกิดขึ้น

การตรวจหาและเฝ้าระวังตั้งแต่เนิ่น ๆ: พัฒนาและรักษาระบบเฝ้าระวังที่แข็งแกร่งเพื่อตรวจหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการ การสร้างเครือข่ายจุดเฝ้าระวัง และการเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองของหน่วยงานสาธารณสุข

ขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการ: สร้างและรักษาระบบห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพสูงสำหรับการระบุและจำแนกลักษณะของสารชีวภาพ ควรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและการปรับปรุงอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน

มาตรการตอบโต้ทางการแพทย์: ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีวัคซีน ยา และการวินิจฉัยไว้สำหรับป้องกันและรักษาการติดเชื้อ

การวางแผนการตอบสนองและการเตรียมความพร้อม: วางแผนการตอบสนองที่ระบุบทบาทและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรการจัดการกรณีที่ต้องสงสัย การติดตามผู้สัมผัสโรค และการให้การดูแลทางการแพทย์

การตอบสนองด้านสาธารณสุข: พัฒนาและดำเนินกลยุทธ์สำหรับภัยคุกคามทางชีวภาพ ซึ่งรวมถึงแผนรับมือเหตุฉุกเฉินและการประสานงานกิจกรรมการตอบสนองด้านสาธารณสุข

ความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ: ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจัดการ ขนส่ง และเก็บรักษาสารชีวภาพอย่างปลอดภัยและมั่นคง เพื่อป้องกันการปล่อยเชื้อก่อโรคออกมาโดยไม่เจตนาหรือการใช้ในทางที่ผิดโดยเจตนา

การวิจัยและพัฒนา: ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับสารชีวภาพและการพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์

การสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูล: ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเครือข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ และเพื่อสนับสนุน การตอบสนองอย่างพร้อมเพรียงกัน

ความร่วมมือระหว่างประเทศ: ร่วมมือกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลกและป้องกันการแพร่กระจายข้ามพรมแดนของภัยคุกคามทางชีวภาพ

การศึกษาและการฝึกอบรม: เพิ่มความตระหนักถึง ภัยคุกคามทางชีวภาพและสร้างขีดความสามารถในการตรวจหา การป้องกัน และการตอบสนอง

เงินทุนและทรัพยากร: ตรวจสอบให้แน่ใจว่า มีเงินทุนและทรัพยากรที่พร้อมใช้ในการดำเนินการและรักษายุทธศาสตร์ การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button