มัลดีฟส์ได้รับคําเตือนเกี่ยวกับหนี้สินของจีนที่ใกล้เข้ามา
เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส
กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เตือนมัลดีฟส์ว่า มัลดีฟส์กำลังเผชิญกับ “ปัญหาหนี้สิน” ที่ใกล้เข้ามา เนื่องจากประเทศในมหาสมุทรอินเดียพยายามที่จะกู้เงินเพิ่มเติมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
นับตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2566 นายโมฮาเหม็ด มูอิซซู ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ได้ปรับเปลี่ยนประเทศที่เป็นแนวปะการังแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องรีสอร์ทริมชายหาดและนักท่องเที่ยวชื่อเสียงโด่งดัง จากการพึ่งพาผู้สนับสนุนทางการเงินเดิมอย่างอินเดียไปเป็นรัฐบาลจีน
พรรคการเมืองของนายมูอิซซูชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 หลังสัญญาว่าจะสร้างคอนโดมิเนียมหลายพันแห่ง ยึดที่ดินคืนเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและยกระดับสนามบิน ซึ่งทั้งหมดได้รับเงินทุนจากจีนที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของมัลดีฟส์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่ามัลดีฟส์ยังคง “เผชิญกับความเสี่ยงสูงของปัญหาหนี้ภายนอกและหนี้โดยรวม” โดยไม่มี “การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญ”
กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า “แนวโน้มมีความไม่แน่นอนสูงและความเสี่ยงมีแนวโน้มไปสู่ด้านลบ รวมถึงความล่าช้าในการปรับโครงสร้างการคลังและการเติบโตที่อ่อนแอของตลาดซึ่งเป็นแหล่งหลักของภาคการท่องเที่ยว”
โดยเรียกร้องให้มัลดีฟส์เพิ่มรายได้ ลดการใช้จ่าย และลดการกู้ยืมจากภายนอก เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ
ประเทศนี้มีเกาะปะการังเล็ก ๆ 1,192 เกาะ กระจัดกระจายอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร 800 กิโลเมตร ข้ามเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญจากตะวันออกไปตะวันตก การท่องเที่ยวเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ
ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าหนี้ต่างประเทศของมัลดีฟส์พุ่งสูงกว่า 1.46 แสนล้านบาท (ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2566 ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 118 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และเพิ่มขึ้นเกือบ 9.14 พันล้านบาท (ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จาก พ.ศ. 2565
ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศจีนมีหนี้ต่างประเทศของมัลดีฟส์อยู่ที่ร้อยละ 25.2 และเป็นผู้ให้กู้รายเดียวซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ตามรายงานของกระทรวงการคลังมัลดีฟส์
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศใน พ.ศ. 2565 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงเป็นเวลาหลายเดือนและโค่นล้มรัฐบาล
หนี้ทวิภาคีมากกว่าครึ่งหนึ่งของศรีลังกาเป็นหนี้จีน และประเทศเกาะแห่งนี้กําลังมองหาการปรับโครงสร้างการกู้ยืมด้วยความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้จำนวนมหาศาลของจีนในการสร้างท่าเรือทางตอนใต้ ศรีลังกาจึงอนุญาตให้บริษัทของรัฐจีนเข้ายึดครองสถานที่ดังกล่าวด้วยสัญญาเช่าระยะเวลา 99 ปีใน พ.ศ. 2560 ข้อตกลงนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะใช้ “กับดักหนี้” ในการแผ่อิทธิพลไปยังต่างประเทศ รวมทั้งในมหาสมุทรอินเดีย