พายุ ที่กำลังก่อตัว
การสำรวจความเชื่อมโยงระหว่าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ ความมั่นคงในประเทศไทยและเวียดนาม
พ.ต. อาฟัว โอ. โบอาเฮมา-ลี/กองทัพบกสหรัฐฯ | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้บันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เนื่องด้วยผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้จึงถือว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมากว่าสองทศวรรษ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้รวมไทยและเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงที่สำคัญสำหรับไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือ อุทกภัยเมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย
อุทกภัยครั้งดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และการดำรงชีวิต ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับความพยายามมากขึ้นในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนช่วงมรสุมที่เริ่มตกหนักในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 และตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อ 65 จังหวัดจาก 77 จังหวัดของไทย และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย โดยมีความเสียหายประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (ประมาณ 4.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ภัยพิบัติดังกล่าวยังผลักดันให้เกิดความท้าทายด้านความมั่นคง เช่น การพลัดถิ่นของประชากร ความไม่สงบทางสังคม และความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
แม่น้ำโขงเป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม อีกทั้งยังเปรียบเสมือนสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชีวิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งน้ำดื่ม การชลประทาน และการขนส่ง ตลอดจนเป็นแหล่งค้ำจุนผู้คนนับล้านที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด ลุ่มแม่น้ำโขงกำลังประสบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตลอดจนแรงกดดันทางนิเวศวิทยาจากการขยายตัวของเมือง การกัดเซาะชายฝั่ง และการตัดไม้ทำลายป่า
ไทยอยู่ในเขตชายฝั่งทะเลที่มีพื้นที่ราบต่ำของทวีปเอเชีย ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศที่รุนแรง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นได้ชัดของประชาชนชาวไทย ได้แก่ การขาดแคลนอาหาร ปัญหาคุณภาพน้ำ การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ และภาวะอดอยาก ความสำคัญของแม่น้ำโขงต่อประเทศไทยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับตัวและยุทธ์การบรรเทาภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญสำหรับไทยคือ การตรวจสอบและจัดการทรัพยากรของแม่น้ำ ปกป้องระบบนิเวศ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อรับมือกับความท้าทายที่มีร่วมกัน ซึ่งรวมถึงความมั่นคงด้านสุขภาพ การวิจัยชี้ให้เห็นว่าอุทกภัยเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเป็นโรคแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ภาวะการระบาดใหญ่เกิดเร็วขึ้น
ภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงเป็นสาเหตุของปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจหลายประการในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาชุมชนเกษตรกร ผลกระทบต่อพืชและผลผลิตทางการเกษตรส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงและผู้บริโภคต้องแบกรับราคาอาหารที่สูงขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านน้ำและอาหารในภูมิภาคอีกด้วย นักวิจัยยังได้คาดการณ์ว่าจำนวนพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกจะลดลงเป็นอย่างมากภายใน พ.ศ. 2613
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวียดนาม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างมากในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายฝั่งที่มีประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ เวียดนามที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนของซีกโลกเหนือ ได้เผชิญกับอุทกภัย ภัยแล้ง และคลื่นความร้อน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และสุขภาพของมนุษย์ ไอเอ็มเอฟรายงานว่า เวียดนามมีความเสี่ยงสูงต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพายุและไต้ฝุ่นที่มีความถี่และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เช่น ใน พ.ศ. 2560 พายุไต้ฝุ่นแดมเรย์พัดผ่านภาคกลางของเวียดนาม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน และสร้างความเสียหายมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคง รวมถึงการพลัดถิ่น ความไม่มั่นคงทางสังคม และการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน พ.ศ. 2593 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดภัยแล้งและฝนตกบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลที่ไม่มีมาตรการปรับตัว
เกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาคสามเหลี่ยมบริเวณปากแม่น้ำโขงซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของเวียดนาม จะมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ ดัชนีสภาพภูมิอากาศโลกรายงานว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้จะมีการบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความมั่นคงของเวียดนาม ข้อกังวลที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความเสี่ยงต่อการเกษตร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งในประเทศและในระดับโลก การเกษตรเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม และเวียดนามมีบทบาทสำคัญในตลาดอาหารโลกเนื่องจากมีการส่งออกข้าว อาหารทะเล และกาแฟในปริมาณมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความท้าทายด้านสุขภาพในเวียดนาม ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาพอากาศที่รุนแรงได้เพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน สภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นก็ส่งผลให้ชาวเวียดนามจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน
นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้คำมั่นสัญญาระหว่างประเทศว่าจะช่วยจัดการผลกระทบในท้องถิ่นอีกด้วย ไทยให้คำมั่นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ. 2573 ที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีสแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ไทยได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 โดยระบุและเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญในการแทรกแซงเป็นหลัก เมื่อไม่นานมานี้ ไทยได้ปรับใช้แผนปรับตัวแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนภายในภาคส่วนสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย พ.ศ. 2558 – 2593 เป็นเอกสารนโยบายระดับสูงสุดที่แนะนำเกี่ยวกับการรับมือกับสภาพภูมิอากาศในประเทศ แผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และให้สนับสนุนแหล่งพลังงานหมุนเวียน แผนดังกล่าวยังรวมถึงมาตรการในการปรับปรุงการจัดการน้ำและลดความเสี่ยงของประเทศต่อการเกิดอุทกภัย
ภาคเอกชนโดยเฉพาะองค์การนอกภาครัฐเองก็ต้องจัดการกับผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การนอกภาครัฐเป็นแนวหน้าในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย คณะทำงานด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศของไทยสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงชุมชนที่เปราะบาง และสนับสนุนนโยบายและการดำเนินการที่ส่งเสริมความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค คณะทำงานนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น พลังงานที่ยั่งยืน การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังกำลังช่วยให้รัฐบาลเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นองค์การนอกภาครัฐอีกองค์การหนึ่งที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และรัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันแห่งนี้ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นเวลาหลายปี และได้ให้คำแนะนำด้านนโยบายที่สำคัญ
แม้จะมีความพยายามดังกล่าว ทว่าการสนับสนุนระหว่างประเทศที่สำคัญก็เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการปรับตัวและความพร้อมรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคง ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือในการสร้างและดำเนินยุทธศาสตร์การปรับตัว การขยายการเข้าถึงเงินทุน และการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศที่ไม่พึงประสงค์อาจก่อให้เกิดความรุนแรงและความไม่มั่นคงทางการเมือง ดังนั้น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกองทัพ นอกเหนือจากการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยแล้ว กองทัพไทยยังให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยอีกด้วย บุคลากรทางทหารให้ความช่วยเหลือด้านการขนส่ง อาหาร และความมั่นคง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการด้านกลาโหม กองทัพไทยจึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผู้นำเวียดนามยังถือว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก รัฐบาลเวียดนามได้ร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อช่วยให้ได้มาซึ่งอนาคตที่ยั่งยืน ในการทำให้ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลเวียดนามได้จัดทำโครงการเป้าหมายแห่งชาติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการริเริ่มที่จะช่วยยกระดับการจัดการน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก
นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเวียดนามมีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 อีกทั้งใน พ.ศ. 2565 ยังได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย นอกจากนี้ เวียดนามได้เข้าร่วมในความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่ทะเยอทะยานของเวียดนามใน พ.ศ. 2593 และการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวียดนามได้บรรลุเป้าหมายโดยการอนุมัติแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่แปด ซึ่งเน้นย้ำถึงการอุทิศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความก้าวหน้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือเวียดนาม ตลอดการพัฒนาแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่แปด และยังคงสนับสนุนการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลเวียดนามยังได้มีส่วนร่วมกับองค์การนอกภาครัฐในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเวียดนามได้พยายามเป็นเวลาหลายปีเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย องค์การดังกล่าวส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รวมถึงให้การสนับสนุนทางการเงินและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน
องค์การนอกภาครัฐของเวียดนามอีกองค์การหนึ่งคือ ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและชุมชน ช่วยส่งเสริมด้านความเสมอภาคทางเพศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการขององค์การนี้ยังรวมไปถึงการควบคุมมลพิษทางน้ำและการลดขยะพลาสติก วัตถุประสงค์ขององค์การนอกภาครัฐเหล่านี้และองค์การนอกภาครัฐ อื่น ๆ ได้แก่ การประสานงาน การเจรจานโยบาย การปรับตัว การบรรเทา การเสริมสร้างศักยภาพ และการสนับสนุน
การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรงทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 30 เซนติเมตรภายใน พ.ศ. 2593 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะทำให้เกิดการกัดเซาะ น้ำท่วม และการรุกล้ำของน้ำเค็มที่จะส่งผลกระทบต่อการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว ทั้งไทยและเวียดนามมองเห็นถึงความเสียหายและความสูญเสียต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ การที่ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้นอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภูมิภาคนี้ลดลงร้อยละ 11 ภายในช่วงปลายศตวรรษนี้
รัฐบาลทั้งสองประเทศ รวมถึงองค์การนอกภาครัฐและองค์กรทางทหาร ได้พัฒนานโยบายและแผนการที่กำหนดไว้เป็นอย่างดีเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ไทยและเวียดนามต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกัน ไทยอยู่ห่างออกไปทางใต้และมีอุณหภูมิที่ร้อนมากกว่า ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งได้ง่ายกว่า ส่วนเวียดนามมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเกิดพายุ อุทกภัย และไต้ฝุ่นได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องทราบว่า ขั้นตอนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยนั้นดูเหมือนจะมีความครอบคลุมน้อยกว่าเวียดนาม แม้จะมีเป้าหมายในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่าไทยยังดำเนินมาตรการได้ช้า
กองทัพเวียดนามมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาภัยพิบัติและการฟื้นฟู เช่นเดียวกับกองทัพบกไทย
สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือไทยและเวียดนาม ในการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้ เช่น สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการศึกษา และส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มาตรการของรัฐบาล ทหาร และองค์การนอกภาครัฐ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อการแทรกแซงและความมั่นคงที่รัฐบาล กองทัพ และองค์การนอกภาครัฐนำเสนอ โดยคาดว่าจะมีความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยและเวียดนามมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก รัฐบาล กองทัพ และองค์การนอกภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ทรัพยากรน้ำและที่ดินอาจขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศและกลุ่มพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ทรัพยากรดังกล่าวมีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว รัฐบาล กองทัพ และองค์การนอกภาครัฐต้องร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งและส่งเสริมการกระจายทรัพยากรอย่างเสมอภาค เพื่อให้ชุมชนมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนมากขึ้น
แนวโน้มด้านความร่วมมือ
ไทย เวียดนาม และสหรัฐฯ สามารถร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ การทำงานร่วมกันสามารถพัฒนาแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมชั้นนำของโลกในด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่จะมอบความเชี่ยวชาญและความช่วยเหลืออื่น ๆ แก่ไทยและเวียดนามในขณะที่ทั้งสองประเทศเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการเกษตร ยังช่วยเหลือไทยและเวียดนามในการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความสามารถในการต้านทานต่อน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่น ๆ
ความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมเสถียรภาพในระดับภูมิภาคผ่านการส่งเสริมการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำและที่ดิน การทำงานร่วมกันนี้ช่วยลดโอกาสที่ไทยและเวียดนามจะเกิดความขัดแย้งจากการขาดแคลนทรัพยากรได้ เนื่องจากมีการแบ่งปันความรู้ การทำงานร่วมกัน และการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ไทย สหรัฐฯ และเวียดนามปรารถนาที่จะสร้างกรอบการทำงานที่รับประกันการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบและการจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญอย่างเป็นธรรม ในกรณีนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างสามประเทศจะบ่งบอกถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการเกษตรและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค
การทำงานร่วมกันดังกล่าวควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น และการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการขยายการเข้าถึงทางเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การมีส่วนร่วมทางการทหารในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญ โดยพิจารณาถึงผลกระทบด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญต่อไทยและเวียดนาม โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล องค์การนอกภาครัฐ และหุ้นส่วนระหว่างประเทศ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากกว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์การบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวเพื่อรับประกันความเป็นอยู่ที่ดี และความมั่นคงของประชาชนทั้งในประเทศและทั่วโลก
บทความฉบับนี้เดิมปรากฏในเล่มที่ 15 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2566 ของนิตยสารลิเอซอน ซึ่งเป็นสื่อตีพิมพ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่อยู่ในรัฐฮาวาย บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม