ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างและขยายความเป็นพันธมิตร
ฟีลิกซ์ คิม
ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกมายาวนาน ได้ก้าวไปสู่อีกระดับของความร่วมมือ โดยเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ที่ขยายออกไปของความร่วมมือ ซึ่งไม่ได้เน้นย้ำเพียงแต่เสถียรภาพในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสถียรภาพระดับโลกด้วย
นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ยกย่องการพัฒนาความเป็นพันธมิตรครั้งนี้ว่าเป็น “ความร่วมมือระดับโลกที่เหมาะกับความท้าทายในปัจจุบันและในอนาคต” ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่แสดงให้เห็นถึงโครงการริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม
“ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในแถลงการณ์ร่วมหลังจากการประชุมสุดยอดของผู้นำทั้งสองเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ผู้นำทั้งสองให้คำมั่นว่าจะดำเนินการสร้างกรอบความร่วมมือซึ่งครอบคลุมด้านกลาโหม นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการทูตระดับโลก “จุดประสงค์ของเราในฐานะหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน คือ การยึดมั่นและสนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เปิดโอกาสให้หลายประเทศมีการพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง” นายคิชิดะกล่าว
ลักษณะสำคัญของการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง คือ การยกระดับสนธิสัญญาการป้องกันร่วม เช่น การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของญี่ปุ่นและการยืนยันของสหรัฐฯ เกี่ยวกับ “ความมุ่งมั่นที่แน่วแน่” ในการปกป้องญี่ปุ่น รวมถึงหมู่เกาะเซ็งกะกุที่อยู่ภายใต้การดูแลของญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์ว่าหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกเป็นอาณาเขตของตน และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประณามการรุกรานของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนและเรือลำอื่น ๆ ของจีนในน่านน้ำโดยรอบหมู่เกาะเหล่านี้
“หัวใจสำคัญของความร่วมมือระดับโลกของเราทั้งสองประเทศ คือ ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงระดับทวิภาคีภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงร่วม ซึ่งแน่นแฟ้นกว่าที่เคย” ผู้นำทั้งสองระบุ
สำหรับการจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะพัฒนากรอบการบัญชาการและควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่ามีการบูรณาการปฏิบัติการอย่างราบรื่น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยกระดับการทำงานร่วมกันและการวางแผนระหว่างกองกำลังญี่ปุ่นและกองกำลังสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่สงบสุขและสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการป้องปรามและส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังระบุถึงโครงการความร่วมมือที่มีความทะเยอทะยาน เช่น การพัฒนาระบบสกัดกั้นระยะไกลร่วมกันเพื่อต่อต้านอาวุธความเร็วเหนือเสียง ตลอดจนข้อตกลงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้ญี่ปุ่นออกแบบ พัฒนา และใช้งานยานสำรวจสำหรับภารกิจไปยังดวงจันทร์ทั้งแบบมีคนขับและไร้คนขับ ในขณะที่นาซาจะปล่อยและส่งมอบยานสำรวจไปยังพื้นผิวดวงจันทร์
“ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่ใช่ “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น” แต่เป็นข้อความพื้นฐานที่ว่า ในปัจจุบัน ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ก้าวไปสู่ระดับโลกแล้ว” นายเจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของแรนด์ คอร์ปอเรชัน เขียนไว้ในการวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์นิกเคอิ เอเชียของญี่ปุ่น “การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย พ.ศ. 2534 เมื่อสหรัฐฯ คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะทำบางอย่างที่สมน้ำสมเนื้อกับอำนาจทางการเมืองของตนเอง การยั่วยุของเกาหลีเหนือและจีนในปีถัด ๆ มาส่งผลกระทบต่อความเป็นพันธมิตรมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก”
นายฮอร์นังกล่าวว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พันธมิตรทั้งสองประเทศได้มีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มความมั่นคงกลุ่มย่อยและกลุ่มความมั่นคงที่ไม่เป็นทางการกับประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งเป็นการขยายการเข้าถึงเชิงยุทธศาสตร์ภายในอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ การขยายความสัมพันธ์เหล่านั้นรวมถึงสายสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่ได้รับการยกระดับขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ซึ่งเน้นย้ำถึงแนวโน้มการเติบโตของพันธมิตรด้านความมั่นคงที่มีสมาชิกถึง 32 ประเทศทั่วโลก
“ยังมีงานอีกมากที่ต้องดำเนินการตามแนวคิดสำคัญทั้งหมดที่ได้ประกาศไว้” นายฮอร์นังเขียน “อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็ประจักษ์แจ้ง ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นนั้นแข็งแกร่ง สอดคล้องกัน และเป็นสากลอย่างแท้จริง”
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้