อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นยกระดับการป้องกันทางทะเล ท่ามกลางการบีบบังคับจากจีนที่กระทำต่อหมู่เกาะเซ็งกะกุ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางทะเลของตนขึ้น รวมถึงการเพิ่มงบประมาณของกองกำลังรักษาชายฝั่งและจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการทางทะเลเพื่อการขนส่งกองกำลังอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้นำของญี่ปุ่นประณามการรุกล้ำของเรือจากจีนที่เข้ามาในดินแดนของตนอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมเชิงบีบบังคับของสาธารณรัฐประชาชนจีนรอบ ๆ หมู่เกาะเซ็งกะกุที่อยู่ในการบริหารของญี่ปุ่นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อไม่นานมานี้ เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้เผชิญหน้ากับเรือวิจัยของญี่ปุ่นที่กำลังทำการสำรวจหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่

เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นเผชิญกับเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนใกล้กับหมู่เกาะเซ็งกะกุที่ญี่ปุ่นบริหารอยู่ ในช่วงต้น พ.ศ. 2566
วิดีโอจาก: นิปปง ทีวี/รอยเตอร์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทไกจากกรุงโตเกียว ร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติของญี่ปุ่นห้าคน รวมถึงนางโทโมมิ อินาดะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกบังคับให้ต้องย่นระยะเวลาการศึกษาที่วางแผนไว้เวลาสองวันให้สั้นลง ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของสื่อ

ในเดือนพฤษภาคม กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นยังกล่าวว่า เรือของจีนสี่ลำ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีลำที่เชื่อว่ามีอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติอยู่ ลาดตระเวนแถวน่านน้ำของญี่ปุ่นรอบหมู่เกาะเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมง

“ความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และนี่เป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งสำหรับเรา” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวกับนิตยสารนิวส์วีก “ญี่ปุ่นจะยืนกรานถึงสิ่งที่จำเป็นต้องยืนกรานกับจีน และจะตอบสนองอย่างสงบและแน่วแน่ต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องดินแดนของญี่ปุ่น ตลอดจนน่านน้ำ และน่านฟ้า”

ญี่ปุ่นได้บริหารหมู่เกาะเซ็งกะกุ ซึ่งอยู่ห่างจากไต้หวันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 170 กิโลเมตรตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) และซื้อเกาะสามในห้าเกาะจากเจ้าของเอกชนใน พ.ศ. 2555

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การอ้างสิทธิในอาณาเขตของรัฐบาลจีน ซึ่งไม่มีพื้นฐานอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ มีความเชื่อมโยงกับความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญ และยังมีพื้นที่การทำประมง รวมถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

ความพยายามของจีนในการช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนตะวันออกเหมือนกันกับการกระทำเชิงก้าวร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการทำแผนที่ขึ้นใหม่เองตามอำเภอใจใน พ.ศ. 2566 เพื่ออ้างสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น ๆ กลยุทธ์ดังกล่าวหรือที่เรียกกันว่าการหั่นซาลามี่ เป็นกลยุทธ์ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ด้วยการดำเนินการบีบบังคับขนาดเล็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อสะสมรวมกันมากพอก็อาจบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรที่เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลจีนได้

เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้แล่นเข้ามาปรากฏตัวรอบ ๆ หมู่เกาะเซ็งกะกุเกือบจะตลอดเวลาเป็นเวลาหลายปีแล้ว กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นกล่าวว่า เรือของจีนเข้าสู่เขตติดต่อของหมู่เกาะซึ่งทอดยาวเป็นระยะทาง 22 ถึง 44 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เกือบทุกวันใน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมต โดยรวมแล้ว กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นมองเห็นเรือจีนประมาณ 1,300 ลำใน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีจำนวน 42 ครั้งที่เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนบุกรุกเข้าไปในน่านน้ำของญี่ปุ่น โดยเข้ามาภายในรัศมี 22 กิโลเมตรจากชายฝั่ง

จีนกำลังพยายามผลักดันการอ้างสิทธิในอาณาเขตโดยการจัดให้มี “เรือของตนในน่านน้ำรอบ ๆ หมู่เกาะในจำนวนที่มากขึ้นและยืนหยัดยิ่งขึ้น” นายเจมส์ บราวน์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทมเพิลวิทยาเขตโตเกียว กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

หลังจากการเคลื่อนไหวของจีน ญี่ปุ่นก็เพิ่มงบประมาณให้กับกองกำลังรักษาชายฝั่งตลอดช่วง 3 ปีนับจากนั้น งบประมาณด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2567 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 16.5 ตลอด พ.ศ. 2566 ยังได้รวมถึงการจัดหาเงินทุนให้กับกลุ่มการขนส่งทางทะเลใหม่ ตลอดจนเรือขนส่งขนาด 114 ฟุต เพื่อให้สามารถทำการขนส่งกองกำลังได้อย่างรวดเร็วในตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะเซ็งกะกุด้วย

ในขณะเดียวกัน นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่ “เหนียวแน่น” ภายใต้การเป็นพันธมิตรร่วมกันมาอย่างยาวนาน เพื่อปกป้องญี่ปุ่นและดินแดนของญี่ปุ่นทั้งหมด รวมถึงหมู่เกาะเซ็งกะกุ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button