จุดยืนร่วมกัน
พันธมิตรและหุ้นส่วนปรับการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคง ให้เหมาะกับความต้องการของอินโดแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก มาตรการร่วมกันในการสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ครอบคลุมถึงการลงทุนในระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันซึ่งจะช่วยยกระดับค่านิยมที่มีร่วมกัน สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนขีดความสามารถในการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างการป้องปรามในภูมิภาคและต่อต้านการบีบบังคับ
ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีตามค่านิยม
โครงการริเริ่มของอินเดียและสหรัฐอเมริกาในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ ตระหนักถึงจุดร่วมระหว่างความท้าทายด้านภูมิยุทธศาสตร์และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เนื่องจากเป็นการสร้างขีดความสามารถให้กับทั้งสองประเทศ
“เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่า ในขณะที่โลกแห่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปนั้น ประเทศที่มีเสรีภาพและเป็นอิสระอย่างอินเดียและสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้ เนื่องจากมีความหวั่นเกรงว่า … เทคโนโลยีเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อบ่อนทำลายเสรีภาพของเรา” นายอาร์ตูร์ เคชาป ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ และอินเดีย กล่าวกับเกตเวย์เฮาส์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในมุมไบ ประเทศอินเดีย
เมื่อเปิดตัวโครงการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2565 ทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำว่าค่านิยมประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนสากลควรมีผลต่อการออกแบบ การพัฒนา และการกำกับดูแลทางเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ อินเดียและสหรัฐฯ จึงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมในแวดวงการศึกษา อุตสาหกรรม รัฐบาล และกลาโหม หนึ่งในความก้าวหน้าแรกของโครงการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ในการส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของอินเดีย คือข้อตกลงระหว่างหน่วยงานการบินและอวกาศของเจเนรัล อิเล็กทริก ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กับฮินดูสถาน แอโรโนติกส์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินเดียเพื่อร่วมกันผลิตเครื่องยนต์ไอพ่น เอฟ414
ข้อตกลงนี้รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ เพื่อให้อินเดียสามารถผลิตเครื่องยนต์ขั้นสูงและมีส่วนช่วยด้านความสามารถภายในประเทศของอินเดียได้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง “การลงทุนในความสัมพันธ์รุ่นต่อรุ่น” นางทันวี มาดัน นักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการอินเดียที่สถาบันบรูกกิงส์ในสหรัฐฯ กล่าวในพอดแคสต์ ดอลลาร์แอนด์เซนส์ ขององค์กรนโยบายสาธารณะ
ในขณะที่ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ทางการค้าและเทคโนโลยีมีมายาว
นานระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ โครงการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ได้สร้างกรอบการทำงานเพื่อร่วมมือกันในเวทีอุตสาหกรรมกลาโหม ในการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานสารกึ่งตัวนำ และในความก้าวหน้าด้านอวกาศ ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรมที่ครอบคลุม” นางมาดันกล่าว
ข้อกำหนดอื่น ๆ ของโครงการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่เรียกร้องให้เสนอการฝึกอบรมกับนาซาสำหรับนักบินอวกาศชาวอินเดีย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ของอินเดีย ลดอุปสรรคในการส่งออกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของสหรัฐฯ และเสริมสร้างสถานะของอินเดียในการผลิตสารกึ่งตัวนำ
ในช่วงหลายเดือนหลังจากโครงการริเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับการตรวจสอบและทบทวนคำแนะนำจากคณะทำงานด้านสารกึ่งตัวนำ
การเจรจาการค้าเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการควบคุมการส่งออก ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
การประชุมสุดยอดระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ เปิดตัวในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเร่งการผลิตร่วมกันและการพัฒนาร่วมกันในการป้องกันประเทศ
มุมมองที่มีร่วมกัน
ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ สร้าง ความร่วมมือในอินโดแปซิฟิกเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลเมื่อ พ.ศ. 2565 เหล่าหุ้นส่วนการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด กำลังเตรียมความพร้อมให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีและการฝึกอบรมที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้ข้อมูลตามเวลาจริงเกี่ยวกับน่านน้ำชายฝั่ง
“ความร่วมมือของเรามุ่งเน้นไปที่การนำสินค้าสาธารณะที่ใช้งานได้จริงมาสู่ภูมิภาค วิธีที่เราเริ่มสร้างภาพรวมการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ทางทะเล” นางลินด์ซีย์ ฟอร์ด รองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประจำเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในการประชุม พ.ศ. 2566 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นเวทีเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยให้ประเทศพันธมิตรมีมุมมองร่วมกันที่สามารถเพิ่มการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร่งความช่วยเหลือในภัยพิบัติทางมนุษยธรรมหรือธรรมชาติ และเสริมสร้างความพยายามในการต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลจากดาวเทียมเชิงพาณิชย์ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามเรือที่ปิดใช้งาน ดัดแปลง หรือไม่มีระบบระบุตัวตนและระบบติดตาม “เทคโนโลยีได้พัฒนาไปถึงระดับที่คุณไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ในที่ที่ไม่มีคนเห็นได้อีกต่อไป” นางฟอร์ดกล่าว “ดังนั้นนี่ … จึงเป็นเพียงแค่การแสดงออกว่า ‘มาทําให้เราทุกคนเห็นสิ่งเดียวกัน ขอให้เราทุกคนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อที่เราจะไม่มีประเทศที่ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้’ ”
ออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำในความพยายามที่จะเสริมสร้างการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลในหมู่เกาะแปซิฟิกผ่านหน่วยงานประมงการประชุม ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ฮอว์กอาย 360 กล่าวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ว่า ออสเตรเลียได้จัดทำสัญญาเพื่อให้บริษัทแห่งนี้ทำการจัดหาเครื่องมือและการฝึกอบรมสำหรับการตรวจจับและป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมายให้กับหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย
อินเดียกำลังสร้างขีดความสามารถด้านการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลผ่านศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลโดยการสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ
นับตั้งแต่การสร้างความร่วมมือในอินโดแปซิฟิกเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเล สหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าถึงข้อมูลดาวเทียมเพื่อข้อมูลเชิงลึกที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นเกี่ยวกับขอบเขตทางทะเล ตามรายงานของเว็บไซต์ดีเฟนส์สกูป
“เราจะยังคงทำงานร่วมกับนักนวัตกรรมจากทั่วภูมิภาคเพื่อปรับแนวทางของเราและพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเด็นการรับรู้เกี่ยวกับขอบเขตทางทะเลที่ตั้งไว้ รวมถึงผ่านความท้าทายด้านเทคโนโลยี” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับดีเฟนส์สกูป
การส่งเสริมการยกระดับความปลอดภัย
ด้วยแผนการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมของตนเอง ฟิลิปปินส์มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างการป้องปรามและสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านการบีบบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มุ่งเป้าไปที่เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ คุกคามชาวประมง ขัดขวางภารกิจการวิจัย อีกทั้งยังขัดขวางการสำรวจพลังงานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์กำลังร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญามานานกว่าเจ็ดทศวรรษ เพื่อจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมที่มีความสำคัญในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ลงทุนด้านกลาโหมร่วมกัน และสร้างขีดความสามารถด้านสถาบัน
นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ระบุว่าระบบเรดาร์ โดรน เครื่องบินขนส่งทางทหาร และระบบป้องกันชายฝั่งและทางอากาศ เป็นอันดับความสำคัญหลักสำหรับฟิลิปปินส์ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ใน พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ พันธมิตรทั้งสองประเทศนี้กำลังวางแผนที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ให้แก่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ และจะมีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ทหารให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 3.3 พันล้านบาท (ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2566 เพื่อนำไปใช้ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงานข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมขั้นสูงแห่งใหม่และที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่รองรับกองกำลังหมุนเวียนสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์
สถานที่ของสำนักงานข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมขั้นสูงทำหน้าที่สนับสนุนการฝึกอบรม การฝึกซ้อม และการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังพันธมิตร ตลอดจนการเตรียมความพร้อมและความสามารถในการรับมือภัยพิบัติที่นำโดยพลเรือนของฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ยังมุ่งมั่นที่จะเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมขั้นสูงและโครงการอื่น ๆ ด้วยกิจกรรมที่เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการสร้างขีดความสามารถในการบรรเทาภัยพิบัติการเข้าถึงแหล่งน้ำที่ปลอดภัยการศึกษาการดูแลสุขภาพการจัดการประมงที่ยั่งยืนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน มีการให้การสนับสนุนในทันทีเป็นมูลค่า 2.5 พันล้านบาท (ประมาณ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลและยกระดับระบบการจัดการจราจรทางเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์
พันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ “มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการรักษาระเบียบสากลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาหลัง พ.ศ. 2488 … ซึ่งโดยทั่วไปจะช่วยให้ประเทศและพลเมืองของตนเจริญรุ่งเรืองอย่างสันติสุข” นายเอนริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวในระหว่างการจัดงาน พ.ศ. 2566 ที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
นายมานาโลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์การเมืองเรียกร้องให้พันธมิตรพิจารณากลยุทธ์ใหม่สำหรับอนาคตของความร่วมมือที่ “มีความสำคัญต่อการก้าวไปสู่ผลประโยชน์ของชาวฟิลิปปินส์และชาวอเมริกา ค่านิยมร่วมกันของเรา และจุดประสงค์ร่วมกันของเราในการรักษาระเบียบสากลที่จะต้องยังคงมั่นคงและต้องช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เจริญรุ่งเรืองอย่างสงบสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
การสนับสนุนการป้องกันตัวเอง
พันธกรณีด้านกลาโหมของญี่ปุ่นยังคงขยายขอบเขตออกไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ผู้นำของญี่ปุ่นเรียกว่ามีความซับซ้อนมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง นโยบายความมั่นคงของรัฐบาลญี่ปุ่นอ้างถึงการพัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัวและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่สั่งห้ามโครงการนี้ จากการใช้งบประมาณด้านกลาโหมที่เป็นสถิติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางทหารของจีนและการขาดความโปร่งใสของรัฐบาลจีนนอกเหนือจากการรุกรานทางทะเลและทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและการโจมตีทางไซเบอร์ก่อให้เกิดความจำเป็นในการขยายขีดความสามารถในการป้องกันตนเองของรัฐบาลญี่ปุ่น
ในสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาความพยายามเหล่านั้นคือ ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันจากระยะไกล รวมถึงขีปนาวุธระยะไกลและสินทรัพย์การป้องกันทางอากาศและการป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุม ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันเพื่อการนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกขั้นตอนนี้ว่า เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญที่สนับสนุนการป้องปรามพันธมิตรและจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวยกย่องแผนการของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นสองเท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ผมคิดว่าการที่เรามีญี่ปุ่นผู้มีอำนาจ และยังเป็นญี่ปุ่นที่มีความสามารถทางทหารซึ่งมีพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ จะช่วยยับยั้งสงครามได้มาก” พล.อ. มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ในสมัยนั้น กล่าวในระหว่างเดินทางไปเยือนกรุงโตเกียวใน พ.ศ. 2566
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ส่งโดรน เอ็มคิว-9 รีเปอร์ ไปยังทะเลจีนตะวันออก ฝูงบินลาดตระเวนปฏิบัติการนอกประเทศที่ 319 ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ได้ประจำการเป็นเวลาหนึ่งปีที่ฐานทัพอากาศคาโนยะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเพื่อสำรวจกิจกรรมทางทะเลที่เพิ่มขึ้นของจีนในพื้นที่ ใน พ.ศ. 2566 ฝูงบินและยานพาหนะทางอากาศที่ไม่มีลูกเรือได้ย้ายไปยังฐานทัพอากาศคาเนดะในโอกินาวะ ซึ่งเป็นที่ที่โดรนเอ็มคิว-9 จะสามารถเข้าถึงภูมิภาคได้ดีขึ้นและมีเวลามากขึ้นสำหรับภารกิจข่าวกรอง การค้นหา และการลาดตระเวน นายมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวเมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
“ในขณะที่สภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยทวีความรุนแรงมากขึ้น เราจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการยับยั้งและตอบโต้ของพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมถึงขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง” นายคิฮาระกล่าว
ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะร่วมมือกันในด้านขีดความสามารถของขีปนาวุธสำคัญเพื่อสกัดกั้นอาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการบินทำให้ยากต่อการตอบโต้ กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นกล่าวว่าการพัฒนาควรจะแล้วเสร็จภายในกลางทศวรรษ 2030 (พ.ศ. 2573-2582)
การสร้างการป้องปรามที่น่าเชื่อถือ
สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนขีดความสามารถด้านกลาโหมของไต้หวันมานานกว่าสี่ทศวรรษ ซึ่งจีนอ้างว่าเกาะไต้หวันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นดินแดนของตน และข่มขู่ว่าจะผนวกไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยใช้กำลัง ความสนใจอย่างต่อเนื่องในสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำระหว่างประเทศที่เป็นกุญแจสำคัญในการค้าโลก รวมถึงการคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะการณ์ที่เป็นอยู่เพียงฝ่ายเดียว เป็นแนวทางในนโยบาย “จีนเดียว” ของสหรัฐฯ นโยบายดังกล่าวยอมรับว่ารัฐบาลจีนเป็น “รัฐบาลตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว” แต่ไม่แสดงจุดยืนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันของสหรัฐฯ ระบุว่าการกระทำใด ๆ ที่ก่อความไม่สงบที่ส่งผลต่ออนาคตของไต้หวัน ไม่ว่าจะด้วยการใช้กำลังหรือการบีบบังคับ ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ดังนั้นกฎหมายใน พ.ศ. 2522 จึงกำหนดให้สหรัฐฯ “จัดหาสิ่งของและบริการด้านกลาโหมดังกล่าวให้แก่ไต้หวันในปริมาณที่จำเป็น เพื่อให้ไต้หวันสามารถรักษาขีดความสามารถในการป้องกันตนเองได้อย่างเพียงพอ”
ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันมุ่งเน้นไปที่การช่วยไต้หวันสร้างขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ จากการตอบโต้ของยูเครนต่อการรุกรานของรัสเซียใน พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่ได้เน้นย้ำถึงการสร้างกองกำลังที่สามารถขับไล่การโจมตีได้ แม้กระทั่งจากกองทัพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยุทธศาสตร์แบบ “เม่น” นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไต้หวันเป็นเป้าหมายที่ทำให้ผู้โจมตีรู้สึกเจ็บตัวเกินไปที่จะทำการรุกราน ยุทโธปกรณ์ประเภทจรวดเคลื่อนที่ที่ผลิตในสหรัฐฯ เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และกระสุนต่อต้านเรือ เช่นเดียวกับที่ไต้หวันจัดซื้อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหมาะสมที่สุดสำหรับการขับไล่กองกำลังที่รุกราน ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์
ใน พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ ได้ตกลงที่จะถ่ายโอนยุทโธปกรณ์มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปยังไต้หวันด้วยความพยายามในการเร่งการจัดซื้อด้านกลาโหมสำหรับไต้หวัน นอกเหนือจากความสามารถในด้านข่าวกรองและการเฝ้าระวังแล้ว การถ่ายโอนที่ได้รับอนุมัติยังรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบพกพาระบบเครื่องยิงต่อต้านอากาศยานประทับบ่า ซึ่งตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ระบุว่า เป็นประเภทอาวุธเคลื่อนที่ที่สามารถสนับสนุนกองทัพที่ได้รับมอบหมายให้ป้องกันผู้รุกรานที่มีอุปกรณ์ครบครันกว่า การถ่ายโอนยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2566 เป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติของสหรัฐฯ มูลค่า 3.64 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สหรัฐฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือ 5 พันล้านบาท (ประมาณ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีเดียวกันสำหรับการจัดซื้อด้านกลาโหมของไต้หวัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 สหรัฐฯ ได้ประกาศขายอาวุธให้กับรัฐบาลไต้หวันมากกว่า 7.64 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
“หนึ่งในกุญแจสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันคือการป้องปรามที่น่าเชื่อถือ” นางมีรา เรสนิค รองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งภูมิภาคสหรัฐฯ กล่าวต่อคณะกรรมการบริการติดอาวุธแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 “ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ยาวนานของเรา เรามุ่งเน้นไปที่การเสริมความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของเรา ในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านป้องกันและป้องปรามของไต้หวันในอีกหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า นโยบายของสหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ขีดความสามารถด้านการป้องกันของไต้หวันต้องเปลี่ยนไป”
ความต้องการที่หลากหลาย แนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย
ความร่วมมืออื่น ๆ กับพันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก ได้แก่
สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินทุนสนับสนุนโครงการในประเทศบลูแปซิฟิกที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุน 2.59 แสนล้านบาท (ประมาณ 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่ประกาศในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพแก่ผู้นำหน้าใหม่
การทำงานร่วมกับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับความสามารถขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การสงครามใต้น้ำอัตโนมัติ การป้องกันทางไซเบอร์ สงครามแม่เหล็กไฟฟ้า อาวุธความเร็วเหนือเสียง และคอมพิวเตอร์ควอนตัม
การมีส่วนร่วมและการฝึกซ้อมเพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรไตรภาคีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค ขณะที่ยังคงมุ่งมั่นในการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี
นายเอลี แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก กล่าวระหว่างงานของสถาบันบรูกกิงส์ พ.ศ. 2566 ว่ารูปแบบความร่วมมือที่หลากหลายในภูมิภาคนี้ได้รับการปรับแต่งมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของพันธมิตรและหุ้นส่วน
“นี่ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ สำหรับอินโดแปซิฟิก” นายแรตเนอร์กล่าว “แต่เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันที่แสดงออกโดยชาวญี่ปุ่น โดยหมู่เกาะแปซิฟิก โดยชาวออสเตรเลีย โดยชาวเกาหลี … ในภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ปราศจากการบีบบังคับ และมีการจัดการข้อพิพาทด้วยสันติวิธี สํา หรับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่แตกต่างกัน เราก็มีรูปแบบการมีส่วนร่วมและเครื่องมือที่ใช้ที่แตกต่างกันออกไป แต่ผมคิดว่านี่เป็นความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกันมาก และเราก็ได้พบกับหุ้นส่วนของเราในจุดที่พวกเขาอยู่”