ความร่วมมือด้านการป้องกันอวกาศ
ในขณะที่ศัตรูดำเนินการเพียงลำพัง สหรัฐฯ และพันธมิตรก็พยายามสร้างความสัมพันธ์
เจ้าหน้าที่ อะโปจี
เเริ่มที่ที่การสร้างความสัมพันธ์กับออสเตรเลียใน พ.ศ. 2556 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลงกับกว่า 30 ประเทศเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก ข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศเหล่านี้จัดทำขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วยภาษากฎหมาย ซึ่งโดยทั่วไปจะระบุเกี่ยวกับการปล่อยสินทรัพย์สู่อวกาศ การหลีกเลี่ยงการชน และวัตถุที่หลุดออกจากวงโคจร ทว่าคุณค่าที่แท้จริงของข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศนี้อาจอยู่ที่ความร่วมมือซึ่งกันและกัน มากกว่าข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงในเอกสารเพียงเก้าหน้า
ผู้นำด้านการป้องกันอวกาศได้อธิบายถึงข้อตกลงทวิภาคีเหล่านี้ว่า เป็นประตูสู่ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงทางอวกาศที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านอวกาศของโลก ข้อเสนอของหุ้นส่วนใหม่แต่ละรายมีความหลากหลายมากซึ่งส่วนหนึ่งมีกองกำลังป้องกันอวกาศเป็นของตนเองและทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา แต่ในทางกลับกัน บรรดาประเทศหุ้นส่วนในข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศส่วนใหญ่ได้รับการมองว่ามีความทะเยอทะยาน “คุณกำลังแสดงให้เราเห็นถึงสิ่งที่คุณมี และทำให้เราทราบว่าสิ่งนั้นอยู่ที่ใด หรือคุณพร้อมที่จะใช้งานแล้ว” นาย
เกล็น เกรดี้ ผู้จัดการโครงการการแบ่งปันข้อมูลในข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศแห่งกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าว “ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับอวกาศมากขึ้นแล้ว”
มี 6 ประเทศที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับความมั่นคงทางอวกาศ โดยได้แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลาผ่านศูนย์ปฏิบัติการอวกาศร่วม ประเทศดังกล่าว ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คือ พลจัตวาจากกองทัพอังกฤษได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการแห่งกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ สำหรับความร่วมมือด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ภายใต้สายการบังคับบัญชาของสหรัฐฯ
หุ้นส่วนในปฏิบัติการอวกาศร่วมได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับสูงสุดจากในบรรดาประเทศที่สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศด้วย โดยรวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ญี่ปุ่น และล่าสุดได้แก่ อินเดีย การร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเหล่านี้เพื่อขยายการเฝ้าระวังทางอวกาศ ในขณะที่รัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามที่จะมีขีดความสามารถเหนือกว่าในด้านนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำด้านการป้องกันอวกาศของสหรัฐฯ และกลุ่มของประเทศที่อาจไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการทางอวกาศระดับสูงแต่เห็นคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการนี้ ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน อีกนัยหนึ่งคือ การแสวงหาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมองว่าเป็นอำนาจอ่อน
กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ และเหล่าทัพอิสระของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ “มีความโดดเด่นในการทำงานเพื่อก้าวไปข้างหน้าพร้อมสิ่งนี้” ดร. อัลเฟรด โอห์เลอร์ส ศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง ในฮาวาย ซึ่งเป็นสถาบันของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาที่มุ่งเน้นด้านการรักษาความปลอดภัยระดับภูมิภาคและระดับโลก กล่าว เหล่าผู้นำด้านการป้องกันอวกาศได้ส่งบุคลากรของตนไปยังต่างประเทศ และขยายขอบเขตการเชื่อมสัมพันธ์ไปยังประเทศที่ไม่มีขีดความสามารถในการท่องอวกาศ ดร. โอห์เลอร์ส กล่าวกับนิตยสาร อะโปจี ของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ “การสร้างมาตรฐานที่ไม่สูงนักถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะปลูกฝังกองกำลังรักษาความมั่นคงทั่วโลกให้ตระหนักถึงความสำคัญของอวกาศ และความสำคัญของประเทศต่าง ๆ ที่จะลงทุนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในอวกาศ” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามอาจไปได้ไกลกว่าความสัมพันธ์แบบเครือข่ายความร่วมมือโดยมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง และไปสู่ระบบที่หลายประเทศเชื่อมโยงกัน “เราต้องรวบรวมชุมชนที่ช่วยเสริมกำลังให้ก้าวไปข้างหน้า และพัฒนาความสัมพันธ์นั้น” ดร. โอห์เลอร์กล่าวว่า ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการนี้คือการตั้งคำถามนั่นคือ คุณเชื่อในอวกาศที่เสรีและเปิดกว้างหรือไม่? ดร. โอห์เลอร์สกล่าวว่า เขารู้สึกตกตะลึงในระหว่างการไปเยือนบางประเทศและได้ทราบว่าผู้นำกลาโหมระดับอาวุโสให้ความสำคัญกับการป้องกันอวกาศน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศ และบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างการเปิดใช้งานโทรศัพท์มือถือ การธนาคาร การพยากรณ์อากาศ หรือแม้แต่การทำเกษตรกรรม “บุคคลเหล่านั้นไม่ได้มองว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอวกาศ” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว
“อวกาศเป็นเรื่องยาก และมีขอบเขตทางเทคโนโลยีที่สูง จากข้อเท็จจริงที่ว่าเรามีประเทศที่มีความสามารถก้าวหน้าอยู่อย่างจำกัด จึงหมายความว่าเราอาจจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทที่จะต้องรอบคอบและมีสติมากขึ้นในการทำให้สิ่งต่าง ๆ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเล็กน้อยผ่านการเสนอรูปแบบ โอกาส และข้อตกลงความร่วมมือ ดังนั้น เราจึงให้ประเทศเหล่านี้มีส่วนได้เสียมากขึ้นในอนาคต” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว การทำให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในธรรมาภิบาลอวกาศในเวทีระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่สัญญาว่าจะทำหน้าที่ป้องปรามรัฐบาลระบอบเผด็จการอย่าง รัสเซีย จีน และอิหร่าน “ประเทศเหล่านั้นกำลังพยายามเปลี่ยนอวกาศให้เป็นอภิสิทธิ์พิเศษที่ประเทศตนสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้ เราจะปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดร. โอห์เลอร์สต้องการเห็นสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศกับประเทศอื่น ๆ ขึ้นเป็นสองเท่า และต่อยอดข้อตกลงดังกล่าว กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ระบุว่า มากกว่า 80 ประเทศมีบทบาทในด้านอวกาศ “การเฝ้าระวังทางอวกาศถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว “ทว่าการเฝ้าระวังทางอวกาศจะสิ้นสุดลงตรงไหน? การเฝ้าระวังทางอวกาศมีขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง และเสถียรภาพในอวกาศ”
ออสเตรเลียถือเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากการเฝ้าระวังทางอวกาศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง โดยในส่วนหนึ่งคือการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ เนื่องด้วยความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ออสเตรเลียได้กลายเป็นประเทศที่สามที่สามารถสร้างและส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นสู่อวกาศใน พ.ศ. 2510 ทว่าห้าทศวรรษต่อมา ข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศช่วยกระตุ้นการตระหนักรู้ในบรรดาผู้นำทางทหารและประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับความสำคัญของการป้องกันอวกาศ นายรัสเซลล์ บอยซ์ ประธานฝ่ายระบบอวกาศอัจฉริยะและผู้อำนวยการแคนเบอร์ราสเปซแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์สนับสนุนสถาบันของกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งพัฒนาและปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับดาวเทียมสำหรับกองบัญชาการอวกาศกลาโหมของออสเตรเลีย นับตั้งแต่การลงนามในข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศ เมื่อ พ.ศ. 2556 ได้มีการส่งมอบสิ่งปลูกสร้างระบบป้องกันอวกาศของสหรัฐฯ สองแห่งไปยังออสเตรเลีย และติดตั้งไว้ที่เมืองเอ็กซ์มัธบนชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ได้แก่ ระบบเรดาร์เฝ้าระวังทางอวกาศ ซี-แบนด์ และกล้องโทรทรรศน์เฝ้าระวังทางอวกาศ นอกจากนี้ ข้อตกลงกับสหรัฐฯ ยังก่อให้เกิดชุดการสื่อสารด้านการป้องกันอวกาศ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสถานการณ์อวกาศในบรรดาผู้นำกลาโหมออสเตรเลีย “ว่าจะต้องมีอะไรมากกว่าเพียงการจัดหาพื้นที่สำหรับติดตั้งเซ็นเซอร์ของสหรัฐฯ” นายบอยซ์กล่าวกับอะโปจี “นั่นได้นำไปสู่การสนับสนุนให้กลุ่มที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มของผม และกลุ่มอื่น ๆ สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของการเฝ้าระวังสถานการณ์อวกาศ การเฝ้าระวังขอบเขตทางอวกาศ การจัดการการจราจรทางอวกาศ”
ในทศวรรษหน้า ออสเตรเลียวางแผนที่จะใช้เงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาท (ประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการป้องกันอวกาศ และกำลังทำงานร่วมกับผู้รับเหมาต่างชาติ เช่น บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ปอเรชัน และบริษัทแอร์บัส เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศตน แคนเบอร์ราสเปซแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ปอเรชัน ของสหรัฐฯ เพื่อนำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านอวกาศของบริษัทดังกล่าวมาปรับใช้โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ “บริษัทดังกล่าวมองเห็นอนาคตที่พวกเขาจะได้รับสัญญาที่เกี่ยวข้องกับอวกาศครั้งใหญ่ในออสเตรเลียอย่างแน่นอน” นายบอยซ์กล่าว “พวกเขาทราบดีว่าจำเป็นต้องทำงานร่วมกับลูกค้าที่มีความรู้ด้านอวกาศ และความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของพวกเขาคือการช่วยให้ความรู้แก่ลูกค้ารายนั้น” ออสเตรเลียจะแสวงหาข้อตกลงด้านอวกาศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน “ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไม่เพียงแต่มุ่งหวังที่จะพยายามยัดเยียดสินค้าและบริการให้กับออสเตรเลีย” นายบอยซ์กล่าว “ความร่วมมือที่ชอบธรรมและหุ้นส่วนที่เหมาะสม คือ ประเทศที่ยินดีเข้าร่วมกับความพยายามของออสเตรเลีย ซึ่งนำไปสู่การเติบโตอย่างแท้จริงในด้านทักษะและขีดความสามารถภายในออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาอย่างเต็มที่”
นายบอยซ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ที่มีความหวังกำลังเกิดขึ้นในออสเตรเลีย รวมถึงสองบริษัทที่แยกตัวออกมาจาก แคนเบอร์ราสเปซ แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ อย่างบริษัทอินฟินิตี้ เอวิโอนิกส์ ผู้ผลิตและผู้แปรรูปเซ็นเซอร์อวกาศ และบริษัทสกายคราฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มดาวดาวเทียม นายบอยซ์มองว่า ขีดความสามารถด้านอวกาศของออสเตรเลีย “ค่อนข้างอยู่ในขั้นต้น” ทว่ากองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในหุ้นส่วนของตนมากพอว่า ออสเตรเลียจะกลายเป็นประเทศที่สาม ต่อจากแคนาดาและสหราชอาณาจักร ที่จะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านอวกาศกับสหรัฐฯ “ออสเตรเลียได้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศตนอย่างรวดเร็ว เราทำงานร่วมกับออสเตรเลียได้ในหลายระดับ” นายเกรดี้ ผู้นำเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในการเจรจาข้อตกลง กล่าว
นายบอยซ์อธิบายว่า ออสเตรเลียมีความคล่องตัวและสามารถรับความเสี่ยงจากโครงการต่าง ๆ เช่น ดาวเทียมขนาดเล็กตระกูลเอ็มที่ได้รับการยกย่อง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ คิวบ์แซท เอ็ม2 คิวบ์แซท สามารถแยกตัวออกจากกันเป็นยานอวกาศ เอ็ม2-เอ และ เอ็ม2-บี และบินในรูปแบบขบวนได้ มีการสื่อสารระหว่างกัน ตลอดจนสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดิน เพื่อให้ข้อมูลที่ปรับปรุงมีรายละเอียดที่มากขึ้นและเวลาหน่วงที่น้อยลง “เราได้ลองบางสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่อันเกิดจากความทะเยอทะยานและนวัตกรรมของออสเตรเลีย และเราประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมด” นายบอยซ์กล่าว นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังช่วยจัดทำคู่มือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อสู้ในขอบเขตทางอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องด้วยตำแหน่งที่ตั้งในซีกโลกใต้ ออสเตรเลียจึงสามารถช่วยอุดช่องว่างในการเฝ้าระวังทางอวกาศสำหรับหุ้นส่วน ในขณะเดียวกันก็พัฒนาขีดความสามารถของตนเอง เช่น การพัฒนาเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์เพื่อส่องทะลุเมฆ “หากเราเอาแต่พึ่งพาหุ้นส่วนระหว่างประเทศ” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว “ระบบของหุ้นส่วนระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะใช้งานอยู่ทางตอนเหนือของโลก และรอบการทำงานนั้นมีลักษณะที่ทำการฟื้นฟูพลังงานในขณะที่เคลื่อนที่อยู่เหนือพื้นที่ของเราบนโลกและเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้”
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 สวีเดนได้ลงนามในข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศ ซึ่งเป็นก้าวแรกของสิ่งที่กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เรียกว่า กรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง จากนั้น สวีเดนได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในปฏิบัติการโกลบอลเซนทิเนลประจำปีที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย ในฐานะผู้ที่มีอาจเข้าร่วมในอนาคต กิจกรรมเป็นเวลาแปดวันในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2565 มีผู้เข้าร่วม 150 คนจาก 25 ประเทศ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางอวกาศ และใช้ยุทโธปกรณ์ของประเทศเมื่อเป็นไปได้ขณะทำงานผ่านสถานการณ์ในทีมระดับภูมิภาค นายเกรดี้กล่าว หุ้นส่วนรายใหม่ของการเฝ้าระวังทางอวกาศอาจได้เข้าเยี่ยมชมฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กและฐานทัพอวกาศชรีเวอร์ ในรัฐโคโลราโด ก่อนที่บุคลากรของสหรัฐฯ จะเข้าเยี่ยมชมเพื่อประเมินพื้นที่ในประเทศ “เรามาสรุปสิ่งที่คุณมีและสิ่งที่คุณพยายามจะดำเนินการกับโครงการอวกาศของคุณกัน” นายเกรดี้กล่าว โดยคำตอบอาจนำไปสู่การศึกษา การฝึกอบรม ความช่วยเหลือในการตั้งค่าเซ็นเซอร์อวกาศ หรือการขายทางทหารเพิ่มเติม และทำให้เกิดการสร้างแนวร่วมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่เสมอ กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังดำเนินการข้อตกลงระดับทวิภาคีขั้นสูงที่อนุญาตให้มีการแบ่งปันข้อมูลลับ และข้อตกลง “ข้อกำหนดในการอ้างอิง” ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับการเจรจาระหว่างกองทัพ
ในปัจจุบัน ประเทศที่มีการเฝ้าระวังทางอวกาศส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอินโดแปซิฟิก แม้ว่าสหรัฐฯ ต้องการสร้างกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศอื่น ๆ ในอเมริกาใต้และแอฟริกา พล.อ. เจมส์ เอช. ดิกคินสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการประชุมในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่จัดโดยสภาแอตแลนติก ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
นอกจากนี้ ข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลของการเฝ้าระวังทางอวกาศยังครอบคลุมถึงบริษัทเอกชนที่มีมากกว่า 130 แห่งทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยอีกเจ็ดแห่ง หุ้นส่วนทางอวกาศโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ เจ้าของหรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นประเทศที่มีดาวเทียมอยู่ในวงโคจร ผู้ให้บริการที่ดำเนินการร่วมกับดาวเทียมของผู้อื่น และบริการส่งดาวเทียม “เราต้องการสร้างแนวร่วม ‘ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน’ “ นายเกรดี้กล่าว “หากเราไม่ได้เจรจากับบางประเทศเหล่านี้ ประเทศอื่นๆ ก็จะทำเช่นนั้นแทน และเราก็ต้องการให้ประเทศเหล่านั้นทำตามแบบอย่างของสหรัฐฯ มากกว่า ไม่เพียงเพราะเราสามารถเจรจากันได้ง่ายขึ้น แต่เพราะเราสามารถเริ่มแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดได้มากขึ้นในทันที”
ตัวอย่างหนึ่งของความก้าวหน้าด้านความร่วมมือ นายบอยซ์ได้อ้างถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสงครามที่ยาวนานถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งกองทัพอวกาศตอบสนองต่อความขัดแย้งด้านความมั่นคง กองทัพอวกาศจะต้องมอบหมายหน้าที่ที่ไม่ใช่การต่อสู้ของตน ซึ่งได้แก่ “งานพื้นฐานที่สำคัญ” อย่างการหลีกเลี่ยงการชน การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการบำรุงรักษารายการวัตถุกว่า 48,000 ชิ้นในอวกาศ ดังนั้น หุ้นส่วนทางอวกาศที่เชื่อถือได้จึงได้รับมอบหมายให้รับช่วงต่อ เอ็ม2 จากแคนเบอร์ราสเปซ แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้เปิดใช้งานในระหว่างการจำลองสถานการณ์เหล่านี้ “เรากำลังดำเนินการในฐานะองค์กรวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร” นายบอยซ์กล่าว “ซึ่งมีทั้งองค์กรการค้าที่แสวงหาผลกำไรและทหารที่เข้าร่วม รวมถึงบุคลากรในกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ที่ไม่ได้แสดงการกระทำใด ๆ แต่ก็สนับสนุนให้ ‘ลองดูนั่นสิ เจ๋งไปเลย!’”
นอกจากนี้ ข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศยังนำมาซึ่งโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงอวกาศ ซึ่งได้แสดงให้เห็นผ่านข้อตกลงการส่งดาวเทียมหลายครั้งระหว่างนอร์เวย์และสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีอายุการใช้งานถึง 3 ปี สเปซ นอร์เวย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการประมงของนอร์เวย์ ตกลงที่จะเพิ่มสัมภาระทางทหารของสหรัฐฯ อีกสองรายการในภารกิจการส่งบรอดแบนด์ในอาร์กติกที่กำลังจะมีขึ้น สัมภาระทางทหารดังกล่าวจะเปิดใช้งานการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ได้รับการคุ้มครองตลอดเวลาสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติงานในอาร์กติก กองบัญชาการระบบอวกาศแห่งกองทัพอวกาศ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 กำหนดการณ์ในการปล่อยจรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก คือ ภายใน พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเป็นสัมภาระด้านความมั่นคงแห่งชาติชุดแรกของสหรัฐฯ ที่ติดตั้งไปพร้อมยานอวกาศของพันธมิตร ตามรายงานในข่าวประชาสัมพันธ์ ในทำนองเดียวกัน ญี่ปุ่นเองก็มีกำหนดการณ์ที่จะส่งยานเฝ้าระวังทางอวกาศสำหรับกองทัพอวกาศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเทียมที่จะปรับปรุงสัญญาณจีพีเอสทั่วทั้งภูมิภาค สัมภาระของกองทัพอวกาศ ซึ่งออกแบบโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ จะติดตามดาวเทียมและเศษซากในวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งอยู่สูงจากโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร
ปฏิบัติการแบบผสมผสานครั้งดังกล่าวให้ความสำคัญกับคุณค่าของความร่วมมือทางอวกาศ และช่วยเน้นย้ำถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ และศัตรู “ตอนที่พวกเขาบอกว่าจะสร้างความร่วมมือ พวกเขาหมายความเช่นนั้นอย่างแท้จริง” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว ในขณะเดียวกัน รัสเซียได้กลายเป็นประเทศนอกคอก เนื่องด้วยการทำสงครามโดยไร้เหตุสมควรในยูเครน และยังพึ่งพารัฐบาลจีนมากขึ้น สำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐฯ รายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ว่า จีนมีความก้าวหน้าในการป้องกันอวกาศได้รวดเร็วกว่าประเทศใด ๆ และกำลังแสวงหาความเหนือกว่าทางอวกาศภายใน พ.ศ. 2592 ดร. โอห์เลอร์สกล่าวว่า ถึงกระนั้น ความก้าวหน้าของจีนก็อยู่ในด้านเทคโนโลยี โดยมีประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของจีนเป็นหลัก ความพยายามในการจัดตั้งแนวร่วมอวกาศระดับภูมิภาคที่จีนเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมืออวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก ได้ถูกแทนที่ในหลาย ๆ ด้านโดยแนวร่วมที่กระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งนำโดย ฟอรัมองค์การอวกาศระดับภูมิภาคแห่งเอเชียแปซิฟิกของญี่ปุ่น “จนถึงขณะนี้ ไม่ว่าจะในด้านขีดความสามารถของอวกาศ ความสามารถในการส่งดาวเทียม การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน การสำรวจ จีนไม่มีส่วนร่วมกับนานาชาติเลย” ดร. โอห์เลอร์สกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลจีน “เนื่องจากจีนต้องการก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ก็ต้องก้าวไปเพียงลำพัง”
รัสเซียและจีนได้รับการสนับสนุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศที่องค์การสหประชาชาติ เนื่องจากพวกเขาแจกจ่ายเงินกู้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีนที่มักจะขูดเลือดขูดเนื้อ ทว่าทั้งสองประเทศต่อต้านการเคลื่อนไหวในวงกว้างต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในด้านพฤติกรรมอวกาศ การแบ่งปันข้อมูล และการห้ามใช้อาวุธต่อต้านดาวเทียม รัสเซียและจีนคัดค้านอีกครั้งในช่วงต้น พ.ศ. 2566 ที่การประชุมคณะทำงานด้านการลดภัยคุกคามทางอวกาศขององค์การสหประชาชาติ ตามรายงานในเว็บไซต์ข่าวเบรกกิงดีเฟนส์ แนวทางนี้สร้างความเสียหายแก่พันธมิตรของรัสเซียและจีน ดร. โอห์เลอร์สกล่าว “ทั้งสองประเทศเกือบจะถูกลดขั้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศแห่งการบ่อนทำลาย ซึ่งมักจะคอยซุ่มโจมตี ฉวยโอกาส และบ่อนทำลายความพยายามขององค์การสหประชาชาติ” ดร. โอห์เลอร์สกล่าว “ประเทศอื่น ๆ เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ‘รู้ไหม เรามีการพูดถึงระบอบอวกาศที่เปิดกว้างและโปร่งใส ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศของเรามีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุปทานอวกาศ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ พูดถึงประเทศของคุณเกี่ยวกับระบบที่ปิดสนิท ข้อตกลงพิเศษเฉพาะ ข้อตกลงทวิภาคีที่น่าเป็นกังวลอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศของเราต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤต’ “
การต่อต้านการรุกรานของจีนในอินโดแปซิฟิกช่วยกระตุ้นให้ออสเตรเลียทำการลงทุนในด้านการป้องกันอวกาศ นายบอยซ์จากแคนเบอร์ราสเปซแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 นักการทูตและผู้นำกลาโหมชั้นนำจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้ย้ำถึงการต่อต้านการกระทำของจีนที่ทำลายเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ เช่น การจัดกำลังทางทหารในภูมิประเทศทางทะเลที่เป็นข้อพิพาท การเผชิญหน้าทางทะเลและทางอากาศที่เป็นอันตราย และการอ้างสิทธิ์ในดินแดนมากเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ “อวกาศเป็นทรัพยากรส่วนกลางระดับโลก” นายบอยซ์กล่าว “ซึ่งทรัพยากรส่วนกลางระดับโลกนี้อาจพังทลายไปอย่างง่ายดาย หากเราไม่ระมัดระวัง ยิ่งประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการรับรองความชัดเจนและโปร่งใส ตลอดจนมีความรับผิดชอบมากเพียงใด โอกาสที่จะมีประเทศใดดำเนินการด้วยวิธีที่ไม่สมควรนัก ก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น” นอกจากนี้ การป้องปรามการรุกรานยังเป็นสาเหตุสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านการป้องกันอวกาศ “การโจมตีกลุ่มดาวเทียมที่เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างขีดความสามารถของสหรัฐฯ และหุ้นส่วน อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองจากหลายประเทศที่ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งอาจช่วยป้องปรามศัตรูจากการโจมตีตั้งแต่แรก” ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์อวกาศและนโยบายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ศูนย์ดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของ แอโรสเปซ คอร์ปอเรชัน องค์กรวิจัยและวิเคราะห์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร อีกทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์ยังเป็นข้อกำหนดของยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่กล่าวว่า “ความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือที่มีประโยชน์ร่วมกันถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา และเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์นี้”
ห่วงโซ่อุปทานอวกาศเป็นโอกาสในการต่อยอดและเสริมสร้างแนวร่วมระหว่างประเทศของหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่มีอุดมการเดียวกันที่มีการลงทุนในด้านอวกาศ ดร. โอห์เลอร์สกล่าว โดยได้เสริมว่า ค่าใช้จ่ายและความรู้ที่จำเป็นในการป้องกันอวกาศทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกินเอื้อมสำหรับประเทศเล็ก ๆ แต่หากแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ก็จะสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้
ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ถัดไปในการสำรวจอวกาศคือ ตัวอย่างความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งได้แก่ ประเทศในยุโรป 11 ประเทศ รวมถึงออสเตรีย เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ มีส่วนร่วมในยานบริการของยานอวกาศโอไรออนที่จะพาลูกเรือไปยังดวงจันทร์และที่อื่น ๆ ผ่านโครงการนานาชาติอาร์เทมิส หลักสูตรการให้บริการถือเป็นเสาหลักสำคัญของโอไรออน เมื่อประเทศต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านอวกาศ ดร. โอห์เลอร์สกล่าวว่า “คุณมีส่วนได้ส่วนเสีย … และยิ่งทั้งหมดนี้พัฒนาไปมากขึ้นเท่าใด เราก็จะยิ่งก้าวไปข้างหน้าได้มากเท่านั้น โดยอวกาศเชิงพาณิชย์จะแสวงหาประเทศที่เหมาะสมเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน เราเพียงต้องสนับสนุนในด้านนี้”
อะโปจี เป็นนิตยสารทางการทหารที่จัดทำขึ้นโดยกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในอวกาศของสหรัฐฯ และเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการป้องกันอวกาศระดับโลก อ่าน อะโปจี ออนไลน์ได้ที่ Apogee-magazine.com