ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างโปแลนด์และเกาหลีใต้เติบโตขึ้นจากการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

ฟีลิกซ์ คิม
การที่โปแลนด์จัดซื้อสินทรัพย์ด้านกลาโหมจากเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องเป็นการสนับสนุนการปรับปรุงกองทัพของประเทศในยุโรปให้ทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 คณะผู้แทนของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมโปแลนด์ได้เดินทางไปเยือนกรุงโซลเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้และบริษัทด้านกลาโหมของเกาหลีใต้
ยุทโธปกรณ์ที่รัฐบาลโปแลนด์วางแผนจะจัดซื้อจากเกาหลีใต้ ได้แก่ รถถัง เค2 แบล็ก แพนเธอร์ ปืนใหญ่วิถีโค้ง เค9 ธันเดอร์ เครื่องบินรบน้ำหนักเบา เอฟเอ-50 และระบบควบคุมการยิงหลายลำกล้อง ชุนมู
วิดีโอจาก: รอยเตอร์
การจัดซื้อดังกล่าวยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของโปแลนด์ที่จะปฏิบัติตามแนวทางขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ซึ่งเรียกร้องให้สมาชิกแต่ละประเทศใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างน้อยร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากการประมาณการด้านความมั่นคงล่าสุดของพันธมิตร โปแลนด์จัดสรรงบประมาณร้อยละ 3.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสำหรับค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของรอยเตอร์ โปแลนด์มีพรมแดนติดกับยูเครนยาว 530 กิโลเมตร และให้การสนับสนุนทางการทหารแก่รัฐบาลยูเครนมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับตั้งแต่รัสเซียได้เข้ารุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
“เราจะยังคงสนับสนุนระบบอาวุธของเกาหลีใต้ เพื่อให้ระบบเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักในการป้องกันประเทศของโปแลนด์” นายชิน วอนซิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวหลังจากพบปะกับนายพาเวล เบจดา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์
“เราหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กันผ่านสัญญาที่ต่อเนื่องนี้และการค้นพบความร่วมมือใหม่ ๆ” นายชินกล่าว ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้
นอกจากนี้ นายเบจดาและเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่น ๆ ของโปแลนด์ยังได้พบปะกับนายซ็อก จงกอน ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการจัดซื้อด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ เพื่อทบทวนเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหม
คณะผู้แทนได้เข้าร่วมการทดสอบการยิงพิสัยไกลของ ชุนมู หรือที่รู้จักในชื่อ โฮมาร์-เค ซึ่งมีการปรับแต่งสำหรับโปแลนด์ อีกทั้งคณะผู้แทนดังกล่าวยังได้เยี่ยมชมบริษัทด้านกลาโหม ซึ่งได้แก่ เกีย ผู้ผลิต เลกวาน ซึ่งเป็นยานลาดตระเวนน้ำหนักเบาที่กำลังได้รับการดัดแปลงให้ตรงตามข้อกำหนดของโปแลนด์
ทั้งสองประเทศลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมมูลค่า 4.58 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2565 และได้มีสัญญาเพิ่มเติมที่ลงนามใน พ.ศ. 2566 สำหรับปืนใหญ่ เค9 ธันเดอร์ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 กระทรวงกลาโหมแห่งชาติโปแลนด์ได้ลงนามในสัญญามูลค่า 6 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อเครื่องยิง โฮมาร์-เค จำนวน 72 เครื่องจากบริษัทฮันฮวา แอโรสเปซ ชองเกาหลีใต้ ตามรายงานของรอยเตอร์
เมื่อไม่นานมานี้ สภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ได้อนุมัติกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มเพดานเงินทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้จาก 4.53 แสนล้านบาท (ประมาณ 12.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 5.55 แสนล้านบาท (ประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะโคเรียเฮรัลด์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวมากขึ้นในการจัดหาเงินทุนสำหรับข้อตกลงการส่งออกยุทโธปกรณ์กับโปแลนด์
ความร่วมมือด้านกลาโหมกับเกาหลีใต้เป็น “โอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่นเดียวกันกับการเสริมสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพใหม่” นายมาร์ซิน คูลาเส็ก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ กล่าว ตามรายงานของมิลแม็ก ซึ่งเป็นนิตยสารทางทหารของโปแลนด์
มิลแม็กตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทกลาโหมของโปแลนด์หวังว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการจัดซื้อโดยการให้ความช่วยเหลือด้านการผลิต เช่น บริษัทโปลิช อาร์มาเอนต์ กรุ๊ป มีความสนใจในการผลิตยานพาหนะหนัก เครื่องยิงจรวด และกระสุน ตลอดจนในการยกระดับความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถ รวมถึงการได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้