อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเรื่องเด่น

ความมุ่งมั่น ข้ามภูมิภาค ที่มีต่อ อินโดแปซิฟิก

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยดำเนินยุทธศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ

เนื่องจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจที่รุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร และเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในอินโดแปซิฟิก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกจึงกำลังปรับตัวให้มากขึ้น และในหลายกรณี ก็มีการขยายตัวด้านการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์และการแสดงตนในภูมิภาค ในปัจจุบัน หลายประเทศมองว่าอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างมีความสำคัญต่อความสำเร็จทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

“ประเทศส่วนใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคได้รวมตัวกันเพื่อความปรารถนาที่จะมีอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยตระหนักถึงคุณค่าร่วมกันของเราในด้านสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการยึดมั่นในระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในขณะนั้น ระบุในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่การประชุมอนาคตของแปซิฟิกบนเรือบรรทุกอากาศยาน เอชเอ็มเอส พริ้นซ์ ออฟ เวลส์ รุ่นต่อไปของสหราชอาณาจักร “นี่ถือเป็นการกำหนดภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงในศตวรรษที่ 21”

ภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เกือบสองในสามของเศรษฐกิจโลก และเป็นเจ็ดกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“ในศตวรรษที่ 20 อินโดแปซิฟิกได้กลายเป็นหนึ่งในยุทธบริเวณที่สำคัญของการประลองและการแข่งขันระหว่างรัฐ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออีกด้วย” ตามรายงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่เผยแพร่โดยมูลนิธิวิจัยสังเกตการณ์ของอินเดีย “ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกกำลังตระหนักถึงความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับความต้องการในปัจจุบันและอนาคตของรัฐในภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่น ๆ”

ต่อจากนี้คือตัวอย่างมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาค และผลลัพธ์ที่ประเทศต่าง ๆ หวังว่าจะบรรลุผลสำเร็จด้วยยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของตน

เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศฝรั่งเศสที่เข้าร่วมในปฏิบัติการฝึกอบรม เพกัซ 23 ลงจอดบนลานจอดเครื่องบินในสิงคโปร์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

แคนาดา

แคนาดาคาดการณ์ว่าอินโดแปซิฟิกจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า ภูมิภาคนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของแคนาดา อีกทั้งในปัจจุบัน ภูมิภาคนี้ยังประกอบไปด้วยหุ้นส่วนทางการค้าชั้นนำ 6 ประเทศจากทั้งหมด 13 ประเทศของรัฐบาลแคนาดา ซึ่งได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม

“แคนาดาเป็นประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก” รัฐบาลแคนาดาประกาศในการสรุปยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก แคนาดามีแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกยาว 25,000 กิโลเมตรที่สนับสนุน “ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งกับเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างประชาชน และประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”

ครึ่งหนึ่งของผู้อพยพชาวแคนาดามาจากอินโดแปซิฟิก และเกือบร้อยละ 20 ของชาวแคนาดามีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับภูมิภาคนี้

นอกเหนือจากการผงาดขึ้นของอินโดแปซิฟิกแล้ว “ผลกระทบอย่างรุนแรงที่ภูมิภาคนี้มีต่อชีวิตของชาวแคนาดาทุกคน ทำให้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการของแคนาดา” ตามรายงานของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของแคนาดา “แคนาดาต้องลงทุนในทรัพยากร ตลอดจนสร้างความรู้และขีดความสามารถในการมีส่วนร่วม การที่แคนาดามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้จะนำพาให้เราเป็นผู้นำในอนาคต”

ในการคว้าโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองของประเทศ รัฐบาลแคนาดาระบุว่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับออสเตรเลีย ประเทศสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน ประเทศในบลูแปซิฟิก อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์

“ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของแคนาดาส่งผลต่อชาวแคนาดาทุกคน” เอกสารดังกล่าวระบุ โดยใช้ประโยชน์จากความพยายามขององค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย คนพื้นเมือง และแรงงานชาวแคนาดา “แคนาดาจะสนับสนุนความมุ่งมั่นและความพยายามของกลุ่มเหล่านี้” ตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก “ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ชาวแคนาดาประสบความสำเร็จผ่านการมีส่วนร่วมกับส่วนที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกใบนี้”

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสรุปวัตถุประสงค์ไว้ 5 ประการ ได้แก่

ส่งเสริมสันติภาพ ความยืดหยุ่น และความมั่นคงผ่านการลงทุนในการแสดงบทบาททางทหารที่ยกระดับขึ้น ตลอดจนด้านข่าวกรองและความมั่นคงทางไซเบอร์

ขยายการค้า การลงทุน และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก

ลงทุนในบุคลากรโดยการพัฒนาการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและขีดความสามารถในการดำเนินการขอวีซ่าของประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรและผู้เชี่ยวชาญของแคนาดาในการเพิ่มการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาค

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านการแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสะอาด การจัดการมหาสมุทร การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

เพิ่มความร่วมมือที่เสริมสร้างอิทธิพลของแคนาดาในบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนผ่านการให้ความร่วมมือทางการทูต เศรษฐกิจ การทหาร และเทคนิคมากขึ้น

“แคนาดามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับหุ้นส่วนและมิตรในอินโดแปซิฟิก” ตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก “เราต้องต่อยอดจากรากฐานนี้โดยการกระชับมิตรภาพที่มีอยู่และแสวงหาหุ้นส่วนใหม่ ๆ เราต้องแสดงให้โลกเห็นสิ่งที่ดีที่สุดที่แคนาดานำเสนอ กระจายเครือข่ายทางการทูตของเรา และเป็นพลังที่แข็งแกร่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก”

นายบอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศในนิวเดลีเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ฝรั่งเศส

เริ่มต้นยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของตนใน พ.ศ. 2561 เพื่อสื่อสารบทบาทของตนในฐานะประเทศในอินโดแปซิฟิกร่วมกับหน่วยงาน ภูมิภาค และชุมชนในอีก 7 ประเทศในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกใต้

ประชากรของฝรั่งเศสกว่า 1.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในอาณาเขตของฝรั่งเศสที่เป็นส่วนหนึ่งของอินโดแปซิฟิก สามในสี่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และมีบุคลากรของกองทัพฝรั่งเศสมากกว่า 7,000 คนประจำการอยู่ในภูมิภาคนี้

“ในฐานะที่เป็นประเทศในอินโดแปซิฟิกอย่างเต็มตัว ฝรั่งเศสยังต้องการที่จะเป็นกองกำลังรักษาเสถียรภาพ โดยส่งเสริมค่านิยมแห่งเสรีภาพและหลักนิติธรรม” นายแอมานุเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุในรายงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกฉบับปรับปรุง “เรามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญอยู่”

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาภูมิภาคให้ปราศจากการบีบบังคับ และให้เป็นภูมิภาคที่มีระเบียบที่ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศและระบบพหุภาคี ตามรายงานของรัฐบาลฝรั่งเศส ลำดับความสำคัญของฝรั่งเศส ได้แก่ ปัญหาด้านความมั่นคงและการทหาร เสรีภาพในการเดินเรือ ปัญหาด้านการเชื่อมต่อ ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ฝรั่งเศสได้เสริมสร้างความร่วมมืออันยาวนานกับอินเดียและญี่ปุ่นในด้านความปลอดภัยทางทะเล ความมั่นคง การจัดการทรัพยากรทางทะเล และสิ่งแวดล้อม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสได้พัฒนาความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ตลอดจนมีความก้าวหน้าอย่างมากในการทำงานร่วมกับมาเลเซีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้

เช่นเดียวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ฝรั่งเศสระบุว่ายุทธศาสตร์ของประเทศตนนั้นไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างไรก็ตาม “เป็นเรื่องแน่นอนว่าฝรั่งเศสได้คำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรุกรานที่เพิ่มขึ้นของจีน รวมถึงในด้านทางทหารด้วย” รัฐบาลฝรั่งเศสระบุ

ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปมีแนวทางต่อจีนที่เหมือนกัน โดยพิจารณาจากสามประเด็น

“จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญของฝรั่งเศส ซึ่งเราจำเป็นต้องร่วมมือกันในประเด็นระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ” รัฐบาลฝรั่งเศสระบุ “นอกจากนี้จีนยังเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและการค้า และเรากำลังพยายามปรับสมดุลความสัมพันธ์ของเรา โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อหลักนิติธรรม ประเด็นสุดท้าย คือ จีนยังเป็น ‘คู่แข่งเชิงระบบ’ เนื่องจากมีวิสัยทัศน์ของระเบียบระหว่างประเทศและรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน”

แนวทางของฝรั่งเศส คือ การเสนอเส้นทางสู่การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแก่ผู้มีบทบาทในอินโดแปซิฟิก และรับประกันเสรีภาพในการเดินเรือ รวมถึงในขอบเขตทางทหาร และไม่ทำให้เกิดความตึงเครียด

“ความร่วมมือของเรากับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้อยู่ในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น” นายมาครงระบุ “คุณสามารถวางใจต่อความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของฝรั่งเศสได้ เราจะยังคงมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนความมั่นคงของพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์แห่งใหม่นี้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ”

ทหารออสเตรเลียและทหารฟิลิปปินส์ รวมถึงนาวิกโยธินสหรัฐฯ ดำเนินการจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างการฝึก เอลอน ประจำ พ.ศ. 2566 ในฟิลิปปินส์ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เยอรมนี

ในฐานะประเทศทางการค้าระดับโลก เยอรมนีได้มีส่วนได้ส่วนเสียในอินโดแปซิฟิกที่มั่นคง เจริญรุ่งเรือง เสรี และเปิดกว้างนี้

“หลักการสำคัญของนโยบายอินโดแปซิฟิกของเยอรมนี คือ การเสริมความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินการของประเทศในยุโรป ระบบพหุภาคี ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา และสิทธิมนุษยชน รวมถึงส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” ตามรายงานของสำนักงานต่างประเทศเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 “แนวทางนโยบายดังกล่าวถือเป็นการเชิญชวนให้ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ขยายและกระชับความร่วมมือกับเยอรมนี เนื่องด้วยจิตวิญญาณแห่งการไม่แบ่งแยกนี้เองที่ทำให้เยอรมนีมองเห็นบทบาทของตนเองในอินโดแปซิฟิก ในขณะเดียวกันก็กระตือรือร้นที่จะทำให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศใดถูกปิดกั้น”

ในรายงานฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 รัฐบาลเยอรมนีได้สรุปความคืบหน้าในภูมิภาคนี้ของช่วงปีก่อนหน้า โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีได้ไปเยือนหุ้นส่วนทั้ง 11 ราย ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งบางรายก็มีการพบปะกันมากกว่าหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ เยอรมนียังยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศบลูแปซิฟิก โดยได้เปิดสถานทูตในเมืองซูวา ประเทศฟิจิ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566

เยอรมนีได้สรุปความคืบหน้าอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้แก่

การเสริมสร้างระบบพหุภาคีให้แข็งแกร่งผ่านการเจรจาด้านความมั่นคงที่เข้มข้นกับบรรดาหุ้นส่วน ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม เยอรมนีและอาเซียนยังตกลงที่จะดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึง พ.ศ. 2570 และเข้าร่วมกับหุ้นส่วนในโครงการริเริ่มบลูแปซิฟิกเพื่อประสานงานการมีส่วนร่วม ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของโครงการนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้
สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

การเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพผ่านการฝึกทางทหารระดับพหุชาติ รวมถึงการขยายความร่วมมือทางนโยบายกลาโหมและความปลอดภัยทางไซเบอร์

การรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ผ่านการสนับสนุนโครงการที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงความเชี่ยวชาญของสภานิติบัญญัติและกฎหมายในด้านความยุติธรรม แรงงาน และการต่อต้านการทุจริต

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนผ่านวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ เช่น ใน พ.ศ. 2566 คนหนุ่มสาวจากบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล และศรีลังกาได้รับทุนการศึกษาผ่านโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนียังได้เข้าร่วมในการสำรวจวิจัยกับออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินีอีกด้วย

“ความเจริญรุ่งเรืองและอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของเราในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่เราทำงานร่วมกับประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” เยอรมนีระบุในการประกาศยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเมื่อ พ.ศ. 2563 “นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้จะเป็นที่ที่ชี้ชะตารูปแบบของระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศในอนาคตมากกว่าที่อื่นใด” เราต้องการช่วยสร้างรูปแบบของระเบียบดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามกติกาและความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ใช่ตามกฎหมายของประเทศมหาอำนาจ”

กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นและทหารกองทัพอังกฤษเข้าร่วมการฝึกวิจิแลนต์ไอเอิลในญี่ปุ่น เก็ตตีอิมเมจ

นาโต

นาโตกำลังกระชับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้

ข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวระบุว่า “ภายใต้สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วโลกมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อการจัดการกับปัญหาความมั่นคงที่คาบเกี่ยวกับหลายขอบเขตและความท้าทายระดับโลก” นาโตระบุในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 “อินโดแปซิฟิกมีความสำคัญต่อพันธมิตร เนื่องจากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้อาจส่งผลต่อความมั่นคงของยูโรแอตแลนติก นอกจากนี้ นาโตและหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้ยังมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา”

นาโตยังได้เพิ่มความร่วมมือกับหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงได้มีการประชุมครั้งแรกกับผู้นำระดับภูมิภาคครั้งสำคัญใน พ.ศ. 2565

“ความท้าทายในปัจจุบันนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ประเทศหรือองค์กร
ใด ๆ จะเผชิญได้เพียงลำพัง” นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ระบุในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 “ทว่าการร่วมมือกับหุ้นส่วนของเรานั้นจะทำให้เราแข็งแกร่งและปลอดภัยยิ่งขึ้น เราสามารถปกป้องประชาชนของเรา ค่านิยมของเรา และวิถีชีวิตของเราได้ดียิ่งขึ้น”

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 นาโตได้เปิดตัวโครงการริเริ่มเพื่อวิเคราะห์การพัฒนาด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกและผลกระทบต่อภูมิภาคยูโรแอตแลนติก การหารือ “อนาคตในอินโดแปซิฟิก” จะนำผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับผลกระทบของประเด็นความมั่นคงที่มีผลต่อทั้งสองภูมิภาค

“ความสามัคคีคือจุดแข็งของเรา และความร่วมมือมีบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศรูปแบบใหม่” นางคาร์เมน โรเมโร รองผู้ช่วยเลขาธิการนาโตด้านการทูตสาธารณะ กล่าว นางโรเมโรได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศในอินโดแปซิฟิกเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของนาโต ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของอินโดแปซิฟิกสำหรับพันธมิตรด้านความมั่นคง 31 ประเทศ แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังระบุถึงผลกระทบของการพัฒนาในอินโดแปซิฟิกที่มีต่อความมั่นคงของยูโรแอตแลนติกโดยตรง

“สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปมีความสำคัญต่ออินโดแปซิฟิก และสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ในเอเชียก็มีความสำคัญต่อนาโต” นายสโตลเทนเบิร์กกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การปลดอาวุธ การป้องกันทางไซเบอร์ และการรักษาระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา “ความมั่นคงของเราเชื่อมโยงกัน เราจึงต้องมีความสามัคคีและมั่นคง ยืนกรานที่จะเคารพกฎบัตรสหประชาชาติอย่างเต็มที่ ตลอดจนรับรองว่าการกดขี่และการปกครองแบบเผด็จการจะไม่มีอำนาจเหนือเสรีภาพและประชาธิปไตย”

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้าร่วมโครงการริเริ่มกับฝรั่งเศสและอินเดียในช่วงต้น พ.ศ. 2566 เพื่อร่วมมือด้านกลาโหม เทคโนโลยี และพลังงาน

“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับผู้มีบทบาทในอินโดแปซิฟิกเกือบทั้งหมดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” ตามรายงานของมูลนิธิเมด-ออร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นโครงการของเลโอนาร์โด บริษัทด้านการบิน อวกาศ ความมั่นคง และการป้องกันประเทศ

“ทั้งสามประเทศเห็นพ้องกันว่าโครงการริเริ่มไตรภาคีดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นเวทีในการส่งเสริมการออกแบบและการดำเนินโครงการความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “ด้วยจุดประสงค์นี้ ทั้งสามประเทศจะสำรวจความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย เพื่อดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมและไปปฏิบัติได้จริงเกี่ยวกับพลังงานสะอาด สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ”

ทั้งสามประเทศยังตั้งใจที่จะเสริมสร้างการประสานงานในด้านภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่จากโรคติดเชื้อและมาตรการเพื่อต่อสู้กับภาวะการระบาดใหญ่

“ในฐานะประเทศที่อยู่ในระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การพัฒนาความร่วมมือระดับไตรภาคีระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความพยายามในการส่งเสริมโครงการนวัตกรรมร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และความเป็นผู้ประกอบการ จะได้รับการสนับสนุน” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “สุดท้ายนี้ จากการตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคมในความเป็นหุ้นส่วนอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกันและกัน ฝรั่งเศส อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะใช้ประโยชน์จากโครงการริเริ่มไตรภาคีนี้เป็นเหมือนเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมผ่านโครงการร่วมหลายโครงการ รวมถึงการส่งเสริมและการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม”

สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรระบุว่า อินโดแปซิฟิก “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ต่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของประเทศตน ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหราชอาณาจักรเป็นที่รู้กันดีว่ามี “ความใส่ใจ” ต่อภูมิภาคนี้ โดยมุ่งเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และค่านิยม

“ความใส่ใจในอินโดแปซิฟิกยังคงมีอยู่ต่อไป” นายเจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ตามรายงานของซีเอ็นบีซี นายเคลฟเวอร์ลีบ่งชี้ถึงค่านิยมที่มีร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและอินโดแปซิฟิก รวมถึง “ความมุ่งมั่นของเราต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการเป็นอิสระจากการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความเชื่อที่มีร่วมกันในค่านิยมทางประชาธิปไตยและตลาดเสรี”

สหราชอาณาจักรมีความร่วมมือทางการค้าเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท (ประมาณ 2.5 แสนล้านดอลลาร์) ในอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีประชาชนชาวอังกฤษอาศัยอยู่ 1.7 ล้านคน นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อินโดแปซิฟิกจะกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกถาโถมอย่างหนักหน่วงด้วยความท้าทายระดับโลกหลายประการที่เราต้องเผชิญ ตั้งแต่ความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงความมั่นคงทางทะเลและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับกฎและบรรทัดฐานของเรา” นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “ผมต้องการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ความใส่ใจในอินโดแปซิฟิกเป็นมากกว่าแค่ถ้อยคำ ผมอยากให้คำคำนี้เป็นมากกว่าแค่วาทศิลป์”

เช่น สหราชอาณาจักรรักษาสถานะหุ้นส่วนด้านการเจรจากับอาเซียน และตระหนักถึงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาค ตลอดจนการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคง นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “และเรามีหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนความพยายามเหล่านั้นอย่างจริงจัง” นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการริเริ่มของเราจะช่วยเติมเต็มบทบาทหลักของอาเซียน แทนที่จะขัดแย้งกัน”

นายเคลฟเวอร์ลี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ได้ระบุถึงความคืบหน้าของสหราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับประเทศในอินโดแปซิฟิกเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองผ่านทางการค้า สหราชอาณาจักรได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับหุ้นส่วนในระดับภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม นอกจากนี้ยังได้เจรจาข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับสิงคโปร์เพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัลอีกด้วย “และเรากระตือรือร้นที่จะทำให้มากยิ่งขึ้น” นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “เรามุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนา เช่นเดียวกับที่เราเคยทำร่วมกับสิงคโปร์”

สหราชอาณาจักรยังตั้งใจที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

“โลกมีเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะล่าถอย” ตามรายงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักร “ขอบเขตความใส่ใจ: การทบทวนเพื่อรวบรวมและอินโดแปซิฟิก” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 “อันตรายที่เราเผชิญไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นความท้าทายที่จะต้องแก้ไขร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ของเรา สิ่งสำคัญอันดับแรกของเราคือจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจา แม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ตาม ซึ่งหมายถึงความร่วมมือที่ไม่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของเรา หมายถึงการตระหนักว่าการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั่วโลกของเรา ทว่าก็จำเป็นต้องให้สหราชอาณาจักรสามารถกำหนดขอบเขตจากสถานะที่เป็นต่อ และจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรยอมรับนโยบายความยืดหยุ่นและการป้องปราม”

นายเคลฟเวอร์ลีระบุว่า สหราชอาณาจักรกำลังทำงานร่วมกับมิตรและหุ้นส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทาย และเพื่อคว้าโอกาส “ผมมาที่นี่เพื่อแสดงความชัดเจนว่าความใส่ใจในอินโดแปซิฟิกยังคงมีอยู่ต่อไป” นายเคลฟเวอร์ลีระบุ “นี่เป็นสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป เราได้เปลี่ยนจากการวางยุทธศาสตร์ไปสู่การลงมือปฏิบัติ จากทฤษฎีทางเศรษฐกิจไปสู่การลงนามในข้อตกลงทางการค้า จากการหารือด้านความมั่นคงไปสู่การส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเข้าปฏิบัติการ จากการเจรจาเกี่ยวกับค่านิยมของเราไปสู่การยืนหยัดร่วมกันเมื่อเผชิญหน้ากับการรุกรานยูเครนของนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย”

สหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่เผยแพร่ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกฉบับล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับภูมิภาคนี้ ได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยงกัน เจริญรุ่งเรือง มั่นคง และยืดหยุ่น

“ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังช่วยกำหนดลักษณะของระเบียบระหว่างประเทศ และพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ทั่วโลกจะมีส่วนได้ส่วนเสียในผลลัพธ์ดังกล่าว” ตามที่ระบุในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก “ดังนั้น แนวทางของเราจึงมีที่มาจากและสอดคล้องกับแนวทางของมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เราเชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์อินโดแปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จต้องส่งเสริมเสรีภาพและการเปิดกว้าง ตลอดจนสนับสนุน ‘การปกครองตนเองและทางเลือก’ อย่างแน่นอน”

สหรัฐฯ ยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค และเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคโดยการยกระดับเครือข่ายพันธมิตรด้านความมั่นคงและเพิ่มการฝึกทางทหารร่วมกัน

“เราจะมุ่งเน้นไปยังทุกประเด็นของภูมิภาค ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้และโอเชียเนีย รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิก” ตามที่ระบุในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก “เราทำเช่นนั้นในช่วงเวลาที่พันธมิตรและหุ้นส่วนส่วนใหญ่ของเรา รวมถึงในยุโรป กำลังมุ่งความสนใจมายังภูมิภาคนี้มากขึ้น ในภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราตระหนักดีว่าเราจะผลักดันผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างจุดยืนอันเข้มแข็งให้กับสหรัฐอเมริกาในอินโดแปซิฟิก และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคนี้ควบคู่ไปกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button