ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียใต้

ความก้าวหน้าของขีปนาวุธร่อน เนอร์บาย แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย

มันดีป ซิงห์

อินเดียเร่งเสริมขีดความสามารถของขีปนาวุธร่อนโดยการพัฒนาเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนในประเทศ ซึ่งได้รับการทดสอบเมื่อเร็ว ๆ นี้กับขีปนาวุธร่อนความเร็วช้ากว่าเสียง เนอร์บาย ซึ่งมีพิสัยการโจมตีถึง 1,000 กิโลเมตร เครื่องยนต์แบบใหม่ในชื่อ “แมนิค” ปูทางไปสู่การพัฒนาขีปนาวุธร่อนโจมตีภาคพื้นดินพิสัยไกล ซึ่งมีกำหนดทดสอบภายใน พ.ศ. 2571

เนอร์บาย ถือเป็นอาวุธเสริมที่ทรงพลังในคลังขีปนาวุธของอินเดียควบคู่กับขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง บราห์มอส ที่ผลิตในประเทศเช่นเดียวกัน

ในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ขีปนาวุธเนอร์บายที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แมนิค ประสบความสําเร็จในการทดสอบการยิงนอกชายฝั่งรัฐโอริสสาทางตะวันออกของอินเดีย ขีปนาวุธเนอร์บาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงเป็นขีปนาวุธร่อนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีในประเทศสามารถบิน “ร่อนในทะเล” ด้วยเพดานบินต่ำได้โดยใช้การนําทางด้วยจุดอ้างอิง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย กล่าวว่าการทดสอบครั้งนี้เป็น “ความสำเร็จครั้งใหญ่”

การนําทางด้วยจุดอ้างอิงโดยพื้นฐานแล้วจะรวมเอาพิกัดระบุตําแหน่งที่ขีปนาวุธต้องผ่านระหว่างทางไปถึงเป้าหมายเข้าด้วยกัน

การทดลองเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังช่วยให้สามารถรวมเครื่องยนต์แมนิคเข้ากับขีปนาวุธร่อนโจมตีภาคพื้นดินพิสัยไกล ที่กำลังพัฒนาโดยองค์การวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของอินเดีย ตามข้อมูลอ้างอิงจากเจนส์ เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าวกรอง ขีปนาวุธร่อนโจมตีภาคพื้นดินพิสัยไกลจะยิงจากพาหนะทางบก ทางอากาศ และทางทะเล และถือเป็นขีปนาวุธที่ดีที่สุดที่รับช่วงต่อจากเนอร์บาย

การยิงทดสอบยังมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของตัวนําความถี่วิทยุที่เพิ่มขึ้นและระบบย่อยอื่น ๆ เป้าหมายหลักของโครงการขีปนาวุธร่อนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีในประเทศคือ มีขีปนาวุธร่อนที่พัฒนาและผลิตในประเทศทั้งหมด องค์การวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมร่วมมือกับบริษัทวิจัยและกลาโหมในประเทศ รวมถึงสถาบันวิจัยกังหันก๊าซในเบงกาลูรู ผู้พัฒนาเครื่องยนต์แมนิค กระทรวงกลาโหมอินเดียระบุ

เนอร์บาย “สามารถยิงเจาะเกราะเข้าไปในดินแดนของศัตรูและต่อสู้กับเป้าหมายที่มีความสำคัญสูงได้อย่างแม่นยำ” องค์การวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมระบุ “อินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาขีปนาวุธร่อนประเภทดังกล่าว”

ขีปนาวุธเนอร์บายที่ยิงจากเครื่องยิงเคลื่อนที่ภาคพื้นดิน สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 450 กิโลกรัม อีกทั้งยังสามารถติดตั้งวัตถุระเบิดรุนแรงหรือหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กได้ ตามรายงานของนิตยสารข่าว อินเดียทูเดย์ “ขีปนาวุธประเภทนี้ยังติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์การบินขั้นสูงเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและเชื่อถือได้” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย

คาดว่าจะมีการจัดเตรียมขีปนาวุธร่อนประเภทนี้ให้กับกองทัพอินเดียทั้งสามเหล่าทัพ และจะเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพอย่างมากเพื่อให้ผู้บัญชาการมีตัวเลือกที่หลากหลายและมีศักยภาพ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ไทมส์ออฟอินเดีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button