มองภูมิภาคแผนก

ข้อตกลงระหว่างปาเลาและสหรัฐฯ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้

ข้อตกลงระหว่างปาเลาและสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้เรือของสหรัฐฯ บังคับใช้กฎระเบียบทางทะเลเพียงฝ่ายเดียวในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ความเคลื่อนไหวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เป็นไปตามคำร้องของประธานาธิบดีปาเลาที่ขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยยับยั้ง “กิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

“ข้อตกลงนี้ช่วยให้ปาเลาตรวจสอบเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรา ป้องกันปาเลาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงป้องปรามเรือที่ไม่ได้รับเชิญที่ทำการเดินเรือที่น่าสงสัยเข้ามาภายในน่านน้ำของเรา” นายเซอร์รังเจล เอส. วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีปาเลา ระบุในแถลงการณ์ “ความร่วมมือประเภทนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามุ่งสู่เป้าหมายที่มีร่วมกันในด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค”

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 นายวิปป์ระบุว่า เรือของจีนจำนวน 3 ลำได้เข้าสู่น่านน้ำของปาเลาโดย “ไม่ได้รับเชิญ” นับตั้งแต่เขาได้เข้ารับตำแหน่งใน พ.ศ. 2564 และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการป้องปรามการเคลื่อนไหวอันรุกรานของจีน

นอกจากนี้ นายวิปป์ยังกล่าวหาว่า จีนได้ดำเนินกิจกรรมการสำรวจในน่านน้ำปาเลา และชี้ให้เห็นว่าประเทศของตนอาจกำลังได้รับการลงโทษจากรัฐบาลจีนจากการที่ปาเลาให้การยอมรับทางการทูตกับไต้หวัน

ความตึงเครียดได้เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจีนกดดันให้เกิดการอ้างสิทธิ์ทางทะเลอย่างกว้างขวาง ซึ่งศาลระหว่างประเทศตัดสินให้เป็นโมฆะใน พ.ศ. 2559

ในเวลาเดียวกันกับที่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างปาเลาและสหรัฐฯ เรือของฟิลิปปินส์ 2 ลำพร้อมกับอากาศยานลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่บินอยู่เหนือลำเรือ ได้ฝ่าการปิดกั้นเส้นทางของกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทเพื่อส่งมอบเสบียงให้แก่กองกำลังฟิลิปปินส์ที่ประจำการอยู่บริเวณสันดอนโทมัสที่สอง

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนในทะเลจีนใต้ โดยประมาณหนึ่งในสามของการขนส่งทั่วโลกส่งผ่านเส้นทางน้ำเชิงยุทธศาสตร์แห่งนี้

ข้อตกลงกับปาเลาของสหรัฐฯ คล้ายกับข้อตกลงที่ทำไว้กับสหพันธรัฐไมโครนีเซียเมื่อปลาย พ.ศ. 2565 ซึ่งอนุญาตให้กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ดำเนินการขึ้นเรือสำหรับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ดิแอสโซซิเอเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button