การแพร่ขยายอาวุธ อย่างมีความรับผิดชอบ
เกาหลีใต้ส่งออกอาวุธแบบดั้งเดิมไปยังพันธมิตรและหุ้นส่วนที่คลังอาวุธลดลง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
อุตสาหกรรมกลาโหมของเกาหลีใต้กำลังผลิตเครื่องยิงจรวด รถ ถัง ปืนใหญ่วิถีโค้ง เครื่องบินขับไล่ และยุทโธปกรณ์ทางทหาร
อื่น ๆ เพื่อเติมคลังแสงที่ร่อยหรอลงของประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ที่จัดหาอาวุธให้กับยูเครนโดยตรง
แม้ว่าเกาหลีใต้จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและอื่น ๆ แก่ยูเครน ซึ่งถูกรัสเซียรุกราน แต่เนื่องจากรัสเซียเป็นพันธมิตรของเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้จึงยังไม่ได้จัดหาอาวุธร้ายแรงให้กับยูเครน รัฐบาลเกาหลีใต้เคยหวังว่ารัฐบาลรัสเซียจะกดดันเกาหลีเหนือให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์การสหประชาชาติที่ห้ามพัฒนาขีปนาวุธ หัวรบนิวเคลียร์ และอาวุธอื่น ๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อเกาหลีใต้ แต่จากแถลงการณ์ของ 50 ประเทศและสหภาพยุโรปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เกาหลีเหนือได้ส่งออกขีปนาวุธทิ้งตัวและอาวุธอื่น ๆ ไปยังรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้นำไปใช้ในสงครามกับยูเครน
เกาหลีใต้หวังว่าจะเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับสี่ของโลกภายใน พ.ศ. 2570 และมีความสามารถในการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ราคาถูกจํานวนมาก แม้ว่าหลายประเทศจะลดการจัดซื้อด้านกลาโหมลงหลังสิ้นสุดสงครามเย็นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) แต่เกาหลีใต้ยังได้เพิ่มการผลิตอาวุธเพื่อยับยั้งการสู้รบของเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะทำข้อตกลงสงบศึกที่ยุติการสู้รบในสงครามเกาหลี พ.ศ. 2496 แต่ในทางเทคนิคแล้วทั้งสองประเทศยังถือว่าอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด “ในยุคหลังสงครามเย็น เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเกือบจะเป็นประเทศเดียวที่อยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา ซึ่งมีทั้งปืนใหญ่และอาวุธอื่น ๆ ในคลังที่พร้อมใช้งาน” นายหยาง อุค ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากสถาบันเอเชียเพื่อการศึกษานโยบายในกรุงโซล กล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทมส์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566
อาวุธแบบดั้งเดิมของเกาหลีใต้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านระบบป้องกันของสหภาพโซเวียตของเกาหลีเหนือและเป็นที่ต้องการของประเทศที่ขนส่งคลังอาวุธไปยังยูเครน อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ยังเข้ากันได้กับยุทโธปกรณ์ทางทหารขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และสหรัฐอเมริกา “หลายคนเชื่อว่าอาวุธแบบดั้งเดิม เช่น รถถังและระบบปืนใหญ่ไม่จําเป็นต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการต่อสู้ในศตวรรษที่ 21 เสมอไป” นายแด ยองคิม รองประธานบริหารของฮันฮวา แอโรสเปซ ของเกาหลีใต้ กล่าวกับเอบีซีนิวส์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 “แต่อย่างที่เราเห็นในสงครามยูเครน ความสามารถของปืนใหญ่ยังคงมีบทบาทสําคัญ”
บริษัทด้านกลาโหมรายใหญ่ในเยอรมนี สหรัฐฯ และที่อื่น ๆ ได้ลดการผลิตอาวุธแบบดั้งเดิม และคงต้องใช้เวลาหลายปีในการเตรียมให้พร้อมตามความต้องการ ตามรายงานของเครือข่ายโทรทัศน์ “อาวุธเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ยุทโธปกรณ์ทางทหารคุณภาพสูง แต่ก็เป็นยุทโธปกรณ์และยานพาหนะแบบดั้งเดิมที่ดีมาก” นายวิกเตอร์ ชา ประธานสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์เกาหลี ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว
ข้อตกลงการค้ากระตุ้นให้การส่งออกพุ่งสูงขึ้น
การส่งออกด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ใน พ.ศ. 2565 มีมูลค่ามากกว่า 6.19 แสนบ้านบาท (ประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 3.64 แสนล้านบาท (ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการขายอาวุธมูลค่า 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับโปแลนด์ ตามรายงานของรอยเตอร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 โปแลนด์นำเข้าอาวุธใหม่หลังจากส่งอาวุธสำรองไปยังยูเครน นายแช วูซอก ประธานสมาคมอุตสาหกรรมกลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวกับเอบีซีนิวส์
นายอันด์แชย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ ยินดีกับการจัดส่งรถถัง เค2 และปืนใหญ่วิถีโค้ง เค9 ชุดแรกของเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 และกล่าวชมถึงการส่งมอบที่รวดเร็ว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ นายมาริอุสซ์ บลัชตัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์ในสมัยนั้น ได้กล่าวชมเชยในทํานองเดียวกันเกี่ยวกับการส่งมอบเครื่องบินรบน้ำหนักเบา เอฟเอ-50 ของเกาหลีใต้ ตามรายงานของรอยเตอร์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566
การจัดซื้อของรัฐบาลโปแลนด์นับเป็นข่าวดีสําหรับบริษัทกลาโหมของเกาหลีใต้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ยังให้ความรู้และการฝึกอบรมทางเทคนิคเพื่อช่วยโปแลนด์สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเอง “พนักงานของผมยินดีที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีของเรา” นายลี บูฮวาน ผู้บริหารของฮันวา กล่าวกับซีเอ็นเอ็น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 “การเข้าสู่ตลาดเป็นยุทธศาสตร์หลักของเรา”
นอกจากโปแลนด์และลูกค้าในแถบยุโรปรายอื่น ๆ เช่น เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และนอร์เวย์แล้ว ประเทศในอินโดแปซิฟิกและตะวันออกกลางก็กําลังซื้ออาวุธจากบริษัทป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ ตามรายงานของนิตยสารฟอเรนโพลิซี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะจ่ายเงินประมาณ 1.27 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อขีปนาวุธพิสัยกลางจากพื้นสู่อากาศ ชอนกุง ทู ตามรายงานของเว็บไซต์เดอะยูเรเชียนไทม์ นอกจากนี้ บริษัทกลาโหมของเกาหลีใต้ยังขายอาวุธให้แก่ออสเตรเลียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังคงรักษาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศที่แข็งแกร่งเพื่อเตรียมการกองทัพของตนเองและต่อต้านเกาหลีเหนือ ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์
ยอดขายอาวุธของเกาหลีใต้ไปยังนานาประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทําให้เกาหลีใต้เป็น “ผู้นําในหมู่ผู้ส่งออกอาวุธรายใหม่อย่างไม่มีข้อกังขา” ตามรายงานของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 แนวโน้มนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประชุมสุดยอดไตรภาคีที่แคมป์เดวิด รัฐแมริแลนด์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ตกลงร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจไปจนถึงความมั่นคง
ฮันวา ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ วางแผนที่จะเพิ่มกําลังการผลิตเป็นสองเท่าใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ระบบอาวุธที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้ ได้แก่ ปืนใหญ่วิถีโค้งขับเคลื่อนด้วยตนเอง เค9 ธันเดอร์ของฮันวา รถถัง เค2 ของฮุนได โรเทม และเครื่องบินจู่โจมน้ำหนักเบา เอฟเอ-50 ของโคเรีย แอร์โรสเปซ อินดัสตรี ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เกาหลีใต้ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อากาศยานไร้คนขับเพดานบินปานกลาง รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้
บริษัทเกาหลีใต้ 31 แห่งและผู้จัดแสดงจาก 35 ประเทศได้เข้าร่วมงานนิทรรศการอุตสาหกรรมกลาโหมนานาชาติ ที่เมืองเคียลซี ประเทศโปแลนด์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าทางทหารประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
เกาหลีใต้มุ่งมั่นที่จะเพิ่มการส่งออกด้านกลาโหมอย่างมีความรับผิดชอบ คําสั่งของประธานาธิบดีที่สนับสนุนกฎหมายการค้าต่างประเทศของเกาหลีใต้ประกาศว่ายุทโธปกรณ์เหล่านี้ต้องใช้ “เพื่อความสงบสุข” ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาการค้าอาวุธแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกําหนดว่าใครสามารถเข้าถึงอาวุธและภายใต้เงื่อนไขใดที่สามารถใช้อาวุธได้
และเกาหลีใต้ยังมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบเสบียงที่ส่งไปยังยูเครน ใน พ.ศ. 2566 เกาหลีใต้ประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเป็นเงินจํานวน 1.44 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 394 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นแปดเท่า ตามรายงานของรอยเตอร์ เงินทุนเหล่านี้จะใช้เพื่อการฟื้นฟู ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และองค์กรระหว่างประเทศ
ผู้มีบทบาทในระดับนานาชาติ
เมื่อ 20 ปีก่อน เกาหลีใต้ยังไม่ได้ติดอันดับหนึ่งใน 30 ผู้ส่งออกอาวุธชั้นนําของโลก ตามรายงานของฟอเรนโพลิซี ปัจจุบัน นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ประกาศในเชิงท้าทายว่า ภายใน พ.ศ. 2570 เกาหลีใต้จะเป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ รัสเซีย และฝรั่งเศสในการขายอาวุธทั่วโลก นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว การส่งออกด้านกลาโหมยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในศักยภาพของประเทศในฐานะผู้ร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเมืองและการทหารที่สําคัญ “รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังส่งเสริมความร่วมมือด้านการทูตทหารและด้านกลาโหมเพื่อให้ความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อและการขาย” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวกับรอยเตอร์