การสร้างความมั่นคงร่วมกัน
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้วางแผนที่จะสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนามูลค่ามากกว่า 8 พันล้านบาท (ประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใกล้เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในอินโดแปซิฟิก ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้มีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำและเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกทั้งผู้นําของทั้งสองประเทศนี้ยังเล็งเห็นความร่วมมือที่กําลังเติบโตในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
บริษัทร่วมทุนของซัมซุงคาดว่าจะเปิดใน พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็น “โครงการริเริ่มเชิงสัญลักษณ์ที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตชิปของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” ตามรายงานของนิตยสาร
นิกเคอิ เอเชีย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นักวิจัยชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในศูนย์วิจัยแห่งนี้จะสร้างสายการผลิตสําหรับอุปกรณ์ชิปต้นแบบ ซัมซุงเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจําที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตวัสดุพื้นฐานชั้นนําสําหรับการผลิตชิป ตามรายงานของนิกเคอิ เอเชีย
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งมีทะเลและความขัดแย้งในอดีตคอยกั้นทั้งสองประเทศออกจากกัน ได้เริ่มร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2566 โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามโครงการริเริ่มของนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งให้ความสำคัญกับความคล้ายคลึงกันทางภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ทั้งยังยืนกรานที่จะมุ่งเน้นไปที่อนาคตข้างหน้า นายยุนและนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้พบปะกับในกรุงโซลและกรุงโตเกียวในช่วงต้น พ.ศ. 2566 และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นที่แคมป์เดวิด บ้านพักของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรัฐแมริแลนด์ในเดือนสิงหาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือไตรภาคี
“ฉันมีความหวังว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างจริงจังในที่สุด” ดร. ฮู เฉียวผิง อาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในเกาหลีและเอเชียตะวันออก กล่าวกับ ฟอรัม “ฉันคิดว่าถึงเวลาแล้ว กลุ่มแชโบล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัว รวมถึงบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจะช่วยสร้างการลงทุนและความร่วมมือ”
นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการร่วมมือกับธุรกิจเทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและเครือข่ายการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ความสําเร็จทางเศรษฐกิจอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการโน้มน้าวให้ผู้ที่ยังกังขามองเห็นคุณค่าของความร่วมมือดังกล่าว
การผลิตชิปเป็นจุดร่วมทางเศรษฐกิจที่สําคัญระหว่างสองประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สมเหตุสมผลสำหรับความร่วมมือ ดร. โยอิจิโระ ซาโตะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิกในญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง และเศรษฐศาสตร์ กล่าวกับ
ฟอรัม “แรงสนับสนุนได้เปลี่ยนไปอย่างมากนับตั้งแต่ที่นายยุนได้รับเลือกตั้งใน พ.ศ. 2565” ดร. ซาโตะกล่าว “ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี”
ดร. ซาโตะกล่าวว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงมีความท้าทายมากขึ้นและการแบ่งปันข่าวกรองอาจเป็นการลงทุนที่ดูมีความหวังมากที่สุด ทั้งสองประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะขยายมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบการยิงขีปนาวุธและขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รวมถึงการกระทำในทะเลที่ก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ภัยคุกคามที่เกิดจากเกาหลีเหนือและจีน ทําให้เกิดภาวะฉุกเฉิน ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะลงตัวกัน ตามรายงานของนิตยสารเนชันแนล ดีเฟนส์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 นายยุนได้กล่าวถึงญี่ปุ่นว่าเป็น “พันธมิตรที่มีค่านิยมสากลร่วมกัน” ในขณะที่นายคิชิดะถือว่าเกาหลีใต้เป็น “ประเทศเพื่อนบ้านที่สําคัญที่เราควรจะร่วมมือกัน” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566

การเสริมสร้างความร่วมมือ
พันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกกำลังร่วมมือกันมากขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ ความร่วมมือต่าง ๆ ยังรวมถึงกลุ่มการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ที่ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ไตรภาคีอีกด้วย ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอินเดีย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และความเป็นผู้นำ
การประชุมสุดยอดที่แคมป์เดวิดปิดท้ายด้วยแถลงการณ์ร่วมที่เรียกร้องให้ร่วมมือกันมากขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือในอินโดแปซิฟิก ทั้งสามประเทศให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนสมาชิกอาเซียนและประเทศในบลูแปซิฟิก โดยได้สัญญาว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอน ความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แถลงการณ์ระบุว่า “ความร่วมมือของเราไม่เพียงแต่สร้างขึ้น
สําหรับผู้คนของเราเท่านั้น แต่ยังสร้างขึ้นสําหรับผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
วัตถุประสงค์หลักของการประชุมสุดยอด คือการจัดระเบียบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้ รัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อต้านทานความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมต
แม้ว่าทั้งสามประเทศจะไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคง แต่แถลงการณ์ดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรอง การฝึกซ้อม โครงการริเริ่มเพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล และการประชุมเป็นประจำของเหล่าผู้นำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม ตลอดจนที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งได้ต่อต้านความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียวในน่านน้ำอินโดแปซิฟิกและเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทวิภาคีและสนธิสัญญาที่ยาวนานกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้งยังยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ต่อทั้งสองประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นประมากกว่าเส้นทึบ ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
“ทั้งสามประเทศมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกันมากมายแม้จะมีความแตกต่างกัน” ดร. เซเลสต์ อาร์ริงตัน รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวกับ ฟอรัม “ประเทศเหล่านี้มีเหตุผลมากมายที่จะร่วมมือกัน ความพยายามในด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล” ดร. อาร์ริงตันกล่าวว่า การพบปะกันโดยตรงระหว่างบุคคลจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนนักศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางการเมืองและเศรษฐกิจในหมู่สตรีผู้มีอำนาจ
ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในระยะเริ่มแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือเพื่อกระตุ้นสถานภาพของเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคง พร้อมกันนั้นพันธมิตรและหุ้นส่วนยังสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ความคล้ายคลึงและความแตกต่าง
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีค่านิยม ผลประโยชน์ และข้อกังวลร่วมกัน นายแฟรงค์ โอม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันเพื่อสันติภาพสหรัฐฯ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ทั้งสองประเทศเป็นประเทศประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองและสี่ของเอเชียตามลำดับ ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีประชากรสูงอายุและอัตราการเกิดที่ต่ำ ในขณะที่ภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นภัยคุกคามต่อรัฐชายฝั่งทั้งสอง การรับมือกับความท้าทายที่มีร่วมกันเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ร่วมกันและก่อให้เกิดความรู้สึกที่ต้องการประสบความสำเร็จในระดับทวิภาคี ผู้สังเกตการณ์กล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะต้องแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ รวมถึงการปกครองแบบเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเหนือคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ พ.ศ. 2453-2488 และการเป็นเจ้าของเกาะขนาดเล็กที่เป็นข้อพิพาท ผู้เชี่ยวชาญกล่าว “ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ทั้งสองแนวทาง นั่นคือ การแสวงหาความมั่นคงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศสามารถทำได้ และดำเนินการแก้ไขข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ในทันที” นายโอมกล่าว
แม้ว่าเกาหลีใต้ลังเลที่จะถอนตัวออกจากจีนในแง่ของเศรษฐกิจ แต่อำนาจเผด็จการที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจีน ความก้าวร้าว และความทะเยอทะยานที่ต้องการครอบงำกำลังสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของรัฐบาลเกาหลีใต้กับรัฐบาลญี่ปุ่น ตามรายงานของเดอะ ดิโพลแมต เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 แน่นอนว่าเกาหลีใต้ได้เข้าร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมของจีนในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์
นายยุน ดุกมิน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า “เรายังต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก แต่ก็มีบริษัทที่ย้ายออกจากจีนเป็นจำนวนมาก” “เราไม่สามารถละทิ้งตลาดจีนได้แบบเด็ดขาด แต่โดยรวมแล้ว ตลาดจีนจะไม่เปิดอยู่ตลอดไป” บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของเกาหลีใต้ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซัมซุง กำลังลงทุนในประเทศญี่ปุ่น นายยุนกล่าวกับนิตยสารไทม์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ระบุว่าจีนเป็น “ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อความมั่นคงและเสถียรภาพ ตามรายงานของเกียวโดนิวส์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566

ประเด็นด้านภูมิศาสตร์
“ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเกาหลีใต้นั้นมีความสำคัญมากจนเกินจะบรรยาย” นายโทคุชิ ฮิเดชิ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพและความมั่นคงแห่งญี่ปุ่นและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นด้านกิจการระหว่างประเทศ กล่าวไว้ในบทวิจารณ์ของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 “ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นเนื่องจากภัยคุกคามจากโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ”
การรักษา “ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาและหลักนิติธรรมที่เสรีและเปิดกว้าง” เป็นหลักการของแถลงการณ์ของผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ “การเข้าร่วมโครงสร้างทวิภาคีคู่ขนานอย่างเป็นทางการในพันธมิตรเดียวยังคงเป็นไปไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากความอ่อนไหวทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นในการป้องกันประเทศร่วมกัน” นายเจฟฟรีย์
ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมญี่ปุ่นของสถาบันวิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศตกลงที่จะ “ยกระดับการประสานงานเชิงกลยุทธ์ระหว่างความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคีของเราให้สูงขึ้นอีกระดับ” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ
เกาหลีใต้เฝ้าติดตามการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และดาวเทียมญี่ปุ่นติดตามอาวุธทางอากาศ กับดักของสหรัฐฯ มีข้อมูลเตือนขีปนาวุธตามเวลาจริงด้วยข่าวกรองของตนเอง ตามรายงานของรอยเตอร์
การประกาศของนายคิชิดะในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับการพัฒนาด้านกลาโหมเป็นเวลาห้าปีมูลค่า 11.48 แสนล้านบาท (ประมาณ 315 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้นมาพร้อมกับกลยุทธ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่อนุญาตให้ใช้มาตรการตอบโต้ได้ ไม่ว่าการโจมตียูเครนโดยไร้เหตุสมควรของรัสเซียจะเป็นลางบอกเหตุถึงการที่จีนรุกรานไต้หวันที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตนหรือไม่ก็ตาม นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นกังวลอย่างมาก ดร. ซาโตะกล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจคัดค้านการโจมตีดังกล่าวในไต้หวัน ในขณะที่เกาหลีใต้จะให้การสนับสนุนและเสบียง แต่ยังคงมุ่งเน้นไปที่เกาหลีเหนือ
หลังจากที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ลงนามในข้อตกลงสงบศึกเพื่อยุติสงครามเกาหลีมาแล้ว 70 ปี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงตึงเครียด กองบัญชาการสหประชาชาติที่เคยต่อสู้กับเกาหลีเหนือในสงครามอาจใช้ฐานทัพและศูนย์บัญชาการเจ็ดแห่งของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นซึ่งเป็น “การยับยั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อการโจมตีซ้ำของรัฐบาลเกาหลีเหนือ นายยุนกล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
พันธมิตรและหุ้นส่วนได้ยกระดับการฝึกซ้อมด้านการป้องกันเพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ จัดการฝึกซ้อมป้องกันขีปนาวุธทิ้งตัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 หลังจากความพยายามครั้งที่สองของเกาหลีเหนือในการปล่อยดาวเทียมสอดแนมล้มเหลว “จากการฝึกครั้งนี้ เราได้ปรับปรุงขีดความสามารถทางยุทธวิธีและความสามารถในการตอบสนองร่วมสำหรับการป้องกันขีปนาวุธ” น.อ. โทโมฮิโระ โทมิมัตสึ ผู้บัญชาการเรือพิฆาตญี่ปุ่น เจเอส ฮางูโระ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์
มาตรการความร่วมมือดังกล่าวช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจ และเพิ่มความหวังให้กับความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ “เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้” ดร. อาร์ริงตันจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าว