ความร่วมมือเรื่องเด่นโอเชียเนีย

การรักษา อนาคต ของปาปัวนิวกินี

ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาให้ ความร่วมมือและการรับรอง

ทอม แอบกี

ความท้าทายด้านความมั่นคงที่ปาปัวนิวกินีเผชิญนั้นได้พัฒนาไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นายเอเลียส โวเฮนกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาปัวนิวกินี กล่าว เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของชาติไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศของเขา นายโวเฮนกูกล่าวในการอภิปรายที่ใช้ชื่อว่า “ความมั่นคงและผลประโยชน์ระดับชาติของปาปัวนิวกินี” ทว่าในวันนี้ ทุกอย่างได้ประจักษ์ชัดแล้ว

การเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่และภัยคุกคามที่มีอยู่จะต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนในระดับที่มากยิ่งขึ้น “เราแสวงหาสิ่งเหล่านั้นและได้รับความช่วยเหลือจากออสเตรเลีย เราแสวงหาและได้รับความช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์ และเราได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน” นายโวเฮนกูกล่าวในงานที่จัดขึ้นในพอร์ตมอร์สบี เมืองหลวงของปาปัวนิวกินี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 และเป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินีและสถาบันโลวีของออสเตรเลีย “ดังนั้นความร่วมมือทางกลาโหมหรือการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงเหล่านี้ จึงไม่เพียงพูดถึงการเตรียมความพร้อมทางทหารเหมือนที่เรามักจะนึกถึงแนวคิดนี้ในรูปแบบเดิม ๆ เท่านั้น แต่จะรวมถึงการพิจารณาด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน”

นายโวเฮนกูและวิทยากรคนอื่น ๆ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทางความมั่นคงกับสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วน นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังมีการบรรยายของ นายอีวาน โปมาลิว หัวหน้าเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีและสภาบริหารแห่งชาติของปาปัวนิวกินี

ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 462,840 ตารางกิโลเมตร ปาปัวนิวกินีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มากที่สุด โดยมีทั้งแนวปะการัง ชายหาด ป่าฝน ภูเขา ภูเขาไฟ หรือแม่น้ำ นอกจากนี้ ปาปัวนิวกินียังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษามากที่สุด โดยมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันถึง 839 ภาษาโดยประชากรเกือบ 12 ล้านคน

“พวกเราส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงชาวบ้าน” ดร. เอลิซาเบธ โคเพล นักวิจัยอาวุโสและผู้นำของโครงการวิจัยเศรษฐกิจนอกระบบแห่งสถาบันวิจัยแห่งชาติปาปัวนิวกินี อธิบาย ประมาณร้อยละ 85 “ของประชาชนของเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท แหล่งรายได้เดียวของพวกเขามาจากสิ่งที่พวกเขาสามารถผลิตขึ้นเองได้”

นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี (ซ้าย) นายมาร์ก บราวน์ นายกรัฐมนตรีหมู่เกาะคุก และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบปะกันในการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ และหมู่เกาะแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การหารือด้านความมั่นคงแห่งชาติจะต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ดร. โคเพลกล่าวในการประชุมที่พอร์ตมอร์สบี ดร. โคเพล
กล่าวว่า วิถีชีวิตของปาปัวนิวกินีได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ตลอดจนการมีน้ำดื่มที่สะอาด ที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน และการศึกษาที่เหมาะสม

นายโวเฮนกูเห็นด้วยโดยกล่าวว่า ปัญหาด้านความมั่นคงที่ปาปัวนิวกินีเผชิญนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงที่ต้องคำนึงถึงเมื่อทำการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงกับหุ้นส่วน เช่น ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

บทบาทของข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมของสหรัฐฯ

นายวิน บากรี ดากี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปาปัวนิวกินี และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่เมืองพอร์ตมอร์สบี ซึ่งนายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ได้ถือว่า “สำคัญสำหรับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของปาปัวนิวกินีและสหรัฐอเมริกา” ตามรายงานของเรดิโอนิวซีแลนด์ “เราต่างได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ”

นายโวเฮนกู ผู้นำทีมปาปัวนิวกินีซึ่งได้ร่วมกำหนดข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมกับสหรัฐฯ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ข้อตกลงแต่เพียงผู้เดียว “แต่เป็นข้อตกลงที่เราคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแค่การทหารเท่านั้น”

สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ข้อตกลงกลายเป็นสิ่งจำเป็น เช่น ข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมที่เข้ามาแทนที่ข้อตกลงฉบับเดิม เช่น สถานะของข้อตกลงกองกำลังที่ปาปัวนิวกินีได้รักษาไว้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา นายโวเฮนกูกล่าว “เนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงและปัญหาด้านความมั่นคงได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เมื่อเรามีปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการระบาดใหญ่ที่เราต้องเผชิญ การ เตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในระดับเดียวกันด้วยเช่นกัน” นายโวเฮนกูกล่าว การโจรกรรมทางการประมงและทรัพยากรอื่น ๆ จากเขตเศรษฐกิจพิเศษของปาปัวนิวกินี ตลอดจนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่ดำเนินการในน่านน้ำของปาปัวนิวกินี ได้เพิ่มความจำเป็นในการยกระดับความร่วมมือทางกลาโหม

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงชิปไรเดอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 อีกด้วย ข้อตกลงระดับทวิภาคีที่ได้ลงนามร่วมกันนี้ทำให้บุคลากรของปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ สามารถทำงานร่วมกันบนเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งและเรือของกองทัพเรือของแต่ละประเทศ เพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมถึงการลักลอบขนอาวุธ

การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมถือเป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลของปาปัวนิวกินี วิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง และความมั่นคงของขอบเขตทางทะเล ตามรายงานของสำนักงานประมงแห่งชาติปาปัวนิวกินี

พล.อ.ท. โรเบิร์ต ชิปแมน แห่งกองทัพอากาศออสเตรเลีย (ซ้าย) พบปะกับบุคลากรของกองทัพปาปัวนิวกินีในระหว่างการแสดงทางอากาศระหว่างประเทศของออสเตรเลียในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ปาปัวนิวกินีมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดและอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีพื้นที่ประมาณ 2.4 ล้านตารางกิโลเมตรและมีปริมาณสัตว์น้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทูน่า ภาคส่วนการประมงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อีกทั้งยังมีการจ้างงานและรายได้มากกว่า 200,000 คน

ผู้นำปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความกังวลด้านความมั่นคงอีกประการหนึ่งที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นั่นคือ รายงานเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดทางทะเลเข้าไปในปาปัวนิวกินี และภัยคุกคามจากการที่ประเทศกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า

มี “กิจกรรมการขนส่งที่ผิดกฎหมายจำนวนมากในน่านน้ำปาปัวนิวกินี โดยได้มีการทำธุรกรรมที่ไร้การควบคุมและไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น รวมถึงการค้ายาเสพติดด้วย” นายมาราเปกล่าว ตามรายงานของเรดิโอนิวซีแลนด์ “ข้อตกลงชิปไรเดอร์ฉบับใหม่นี้ทำให้หน่วยงานขนส่งของปาปัวนิวกินี กองทัพบกปาปัวนิวกินี และกองทัพเรือปาปัวนิวกินี ได้รับความรู้อย่างครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในน่านน้ำของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปาปัวนิวกินีไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2518”

นายโวเฮนกูกล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้ปาปัวนิวกินีรักษาอธิปไตยไว้ได้ผ่านการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ “ภายใต้ข้อตกลงชิปไรเดอร์ หากเรือลำนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรกองทัพเรือปาปัวนิวกินี เราจะติดธงปาปัวนิวกินีไว้และดำเนินการบังคับใช้ตามกฎหมายของเรา”

การขยายขอบเขตของข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหม

ข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมจะอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อมและการมีส่วนร่วมทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในระดับภูมิภาค ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังช่วยให้สหรัฐฯ สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น เช่น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

“แล้วสิ่งที่ทำให้ข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมดังกล่าวมีความแตกต่างคืออะไร” นายโวเฮนกูกล่าว “ผมอยากให้เชื่อมโยงข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ”

นายโวเฮนกูกล่าวว่า ตนวางแผนที่จะจัดส่งผลผลิตทางการเกษตรของปาปัวนิวกินี ซึ่งได้แก่ กาแฟและผัก ไปยังฐานทัพสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกภายใต้ข้อตกลงนี้เป็นประจำ “ในช่วงเช้า เมื่อบุคลากรของกองทัพตื่นขึ้นมาก็จะได้ดื่มกาแฟของเรา”

การกระชับความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย

ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียยังยกระดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงด้วย ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียจะจัดทำความร่วมมือทางกลาโหมในปัจจุบันและที่วางแผนไว้อย่างครอบคลุมให้เป็นทางการ และทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องเอกราชและอำนาจอธิปไตย ตลอดจนสร้างความยืดหยุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันที่เกิดขึ้นจากความท้าทายด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของการปกครอง

ความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียไม่สามารถแยกออกจากความใกล้ชิดและประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันได้ เกาะไซไบซึ่งเป็นเขตอำนาจศาลทางตอนเหนือสุดของออสเตรเลีย อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ของปาปัวนิวกินีไม่ถึง 4 กิโลเมตร ออสเตรเลียปกครองปาปัวนิวกินีเป็นเวลาเกือบ 60 ปี โดยเริ่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสิ้นสุดลงด้วยการสถาปนาอำนาจอธิปไตยของปาปัวนิวกินีใน พ.ศ. 2518

ภายใต้โครงการความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย กองกำลังของกองทัพออสเตรเลียจะฝึกอบรมและฝึกซ้อมร่วมกับกองกำลังของกองทัพปาปัวนิวกินีผ่านชุดการฝึกโอลเกตาประจำปี ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของกองทัพอากาศ กองทัพบก กองทัพเรือ และพลเรือน ออสเตรเลียกำลังลงทุนระยะยาวในด้านบุคลากร อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานของปาปัวนิวกินีผ่านโครงการนี้

นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี (ขวา) ทักทายนายคริส ฮิปกินส์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่พอร์ตมอร์สบีในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ในระหว่างการฝึกปุกปุก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 กองกำลังกองทัพออสเตรเลียและกองทัพปาปัวนิวกินีได้ร่วมมือกับบุคลากรทหารจากสหราชอาณาจักรและประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ รวมถึงนิวซีแลนด์และสหรัฐฯ เพื่อสร้างห้องเรียนและห้องนั่งเล่นที่ฐานทัพเรือลอมบรัมของปาปัวนิวกินี ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการทางทะเลของกองทัพปาปัวนิวกินีบนเกาะมานัส การฝึกปุกปุก ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นการฝึกซ้อมร่วมเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังครอบคลุมถึงการซ่อมแซมถนนและระบบระบายน้ำบนเกาะดังกล่าวด้วย

“การฝึกดังกล่าวยังคงเติบโตและได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในวงกว้างและจากหลายประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง นี่เป็นการฝึกที่ยอดเยี่ยม” พ.อ. ทราวิส กอร์ดอน หัวหน้าบุคลากรของกองทัพออสเตรเลียในพอร์ตมอร์สบี กล่าวกับหนังสือพิมพ์โพสต์-เคอเรียร์ของปาปัวนิวกินี

หลังจากได้รับการปรับปรุงแล้ว ฐานทัพเรือลอมบรัมจะใช้เป็นสถานที่จอดกองเรือลาดตระเวนชั้นการ์เดียนที่รัฐบาลออสเตรเลียบริจาคให้แก่ปาปัวนิวกินี

การให้ความร่วมมือเพื่อตอบสนองความท้าทายด้านความมั่นคงภายใน

ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของปาปัวนิวกินีก็มาจากภายในเช่นกัน นายมิฮาย โซรา นักวิจัยในโครงการหมู่เกาะแปซิฟิกและผู้อำนวยการเครือข่ายออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีของสถาบันโลวีในออสเตรเลีย กล่าว นายโซราเป็นอดีตนักการทูตออสเตรเลีย และเป็นหนึ่งในผู้จัดการประชุมที่พอร์ตมอร์สบี

โครงการริเริ่มของรัฐบาลพยายามที่จะเพิ่มอัตราส่วนของตำรวจต่อพลเรือนเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยของประชาชน นายโปมาลิว สภาบริหารแห่งชาติของปาปัวนิวกินี กล่าวในการประชุมดังกล่าว “เป้าหมายสำคัญคือบุคลากร 1,000 คนต่อปีในช่วง 5-6 ปีข้างหน้าจนกว่าเราจะมีอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่อประชากรที่ดีขึ้น”

หน่วยงานของปาปัวนิวกินีทำงานร่วมกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวางนโยบาย และส่งเสริมหลักนิติธรรมและสังคมที่มีระเบียบ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงโครงการความร่วมมือด้านการวางนโยบายระหว่างปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย และโครงการบริการด้านความยุติธรรมและเสถียรภาพเพื่อการพัฒนา

โครงการความร่วมมือด้านการวางนโยบายระหว่างปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย ให้การสนับสนุนตำรวจปาปัวนิวกินีผ่านที่ปรึกษา การให้คำปรึกษา และการฝึกอบรมผู้นำหน้าใหม่โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติออสเตรเลีย ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของตำรวจในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ การวางนโยบายชุมชน และอาชญากรรมข้ามชาติ

โครงการบริการด้านความยุติธรรมและเสถียรภาพเพื่อการพัฒนาเป็นโครงการริเริ่มของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและเงินทุนแก่ภาคส่วนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของปาปัวนิวกินี โครงการดังกล่าวสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แห่งชาติในภาคส่วนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของปาปัวนิวกินี พ.ศ. 2561 – 2568 ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับการเข้าถึงความยุติธรรม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกฎหมายและความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะบริจาคเงิน 364 ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ปาปัวนิวกินี เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อการป้องกันความขัดแย้งและส่งเสริมเสถียรภาพ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1.09 พันล้านบาท (ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะเวลาสามปี ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์นี้ที่จัดทำขึ้นโดยปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการป้องกัน ลด และตอบสนองต่อความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางเพศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน รวมถึงเพื่อปรับปรุงระบบยุติธรรมและกองกำลังความมั่นคง

“ผมคิดว่าความท้าทายในปัจจุบันคือ การเพิ่มจำนวนให้เพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่าการแบ่งปันข้อมูลและการรวบรวมข่าวกรองนั้นดีพอ และสามารถส่งไปถึงผู้ที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้” นายโปมาลิวกล่าว “แต่เราจะต้องสร้างสมดุลให้กับการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเสรีภาพและสิทธิของบุคคล”

การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของข้อตกลงที่เกิดขึ้นใหม่ฉบับนี้ของปาปัวนิวกินีในภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่การแข่งขันและความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากร เช่น ลักษณะของน้ำหรือภูมิประเทศ และทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถในการปฏิบัติการของสถานปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วน หรือสถานที่อื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นายโวเฮนกูและ ดร. โคเพลเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการคุกคามทางที่อยู่อาศัยและการผลิตอาหาร “ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของพี่น้องของเราในหมู่บ้านนั้นแตกต่างออกไป” ดร. โคเพลกล่าว และเสริมว่า การแนะนำพืชที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมการสร้างที่พักพิงที่ยั่งยืน “สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับคนส่วนใหญ่ได้”

เช่น ดินถล่มและการพังทลายของดินทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อเขตมูลไบเยอร์ ซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมใกล้กับเมืองเมาต์ฮาเกน และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารและวิถีชีวิต โครงการความพร้อมด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ทำงานร่วมกับสมาคมนิกกีของปาปัวนิวกินี เพื่อระดมทุนในการปลูกไม้ไผ่สำหรับเป็นมาตรการต่อต้าน พืชที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะทำหน้าที่เป็น “แนวป้องกันแรกจากน้ำท่วมและดินถล่ม เนื่องจากไม้ไผ่ยึดดินไว้ด้วยระบบรากที่แพร่กระจาย” ตามรายงานขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา

โครงการด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่นำโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำงานเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคผ่านการสร้างขีดความสามารถเพื่อให้พันธมิตรและหุ้นส่วนยังคงมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค รวมถึงแผนปฏิบัติการปฏิญญาโบ และยุทธศาสตร์ภาคพื้นบลูแปซิฟิก พ.ศ. 2593 เป็นแนวทางในการทำงานของโครงการด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค โครงการด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยให้พันธมิตรและหุ้นส่วนเข้าใจถึงผลกระทบที่ซับซ้อนและหลากหลายซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีต่อภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค และเพื่อแจ้งการตัดสินใจเพื่อให้จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหม สหรัฐฯ ยังให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 455 ล้านบาท (ประมาณ 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยปาปัวนิวกินีในการพัฒนาทรัพยากรและระบบที่จำเป็นในการทำให้ชุมชนมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น “องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะเพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนและระบบน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศของปาปัวนิวกินี สนับสนุนการแก้ปัญหาตามธรรมชาติ และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของอินโดแปซิฟิก ดีเฟนส์ ฟอรัม ประจำอยู่ในประเทศสิงคโปร์

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button