ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การกลั่นแกล้งของจีนกระตุ้นให้ผู้นำไต้หวันผลักดันการปกป้องประชาธิปไตย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

นายไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงชีวิต 2 ประการ อันเป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานด้านการบริการสาธารณะ ซึ่งได้แก่ ความยากจนและการปกป้องประชาธิปไตย

นายไล่ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำไต้หวันในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เติบโตขึ้นมาในเมืองนิวไทเปและเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรหกคนของครอบครัว สามเดือนหลังจากที่นายไล่เกิด บิดาของเขาก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหิน ตามรายงานของสื่อ

“ทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่สุดที่บิดาทิ้งไว้ให้กับผม คือ ความยากจน” นายไล่กล่าวกับนิตยสารไทม์ “เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ผมจึงพยายามอย่างหนักและเคร่งครัดอย่างยิ่งกับทุกสิ่งที่ผมทำ ซึ่งนั่นทำให้ผมเกิดความมุ่งมั่น”

นายไล่ได้ทำงานเป็นแพทย์และศึกษาด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา “เห็นได้ชัดว่าเจตจำนงด้านความพากเพียรของนายไล่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา” นายหลัว เหวินเจีย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของไต้หวันและเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กล่าวกับนิตยสารนิกเคอิ เอเชีย

ผู้สนับสนุนของนายไล่กล่าวว่า จุดเริ่มต้นอันแสนเรียบง่ายและประสบการณ์ในฐานะนายกเทศมนตรีทำให้นายไล่ปรับตัวเข้ากับความท้าทายทางสังคมได้มากขึ้น เช่น ราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นและการว่างงาน

“นายไล่ต้องทนทุกข์จากความหนาวเย็นและความยากจน ดังนั้นเขาจึงเข้าใจดีถึงความยากลำบากที่ผู้คนในระดับรากหญ้าของเราต้องเผชิญในช่วงเวลานั้น” นายเฉิง ชุนเจิน นักเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่มีประสบการณ์ยาวนาน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

การบีบบังคับไต้หวันของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรวมถึงการกลั่นแกล้งทางทหารและการแทรกแซงการเลือกตั้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายไล่เปลี่ยนอาชีพของตนจากแพทย์สู่นักการเมือง แรงกระตุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 เมื่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนยิงขีปนาวุธเข้าสู่น่านน้ำนอกชายฝั่งไต้หวัน เพื่อข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของไต้หวัน

“ผมตัดสินใจว่าผมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน และช่วยปกป้องระบอบการปกครองที่สดใหม่นี้จากผู้ที่ไม่ประสงค์ดี” นายไล่เขียนในบทความของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล

นายไล่กลายเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ นายกเทศมนตรีของไถหนานเป็นเวลา 2 สมัย นายกรัฐมนตรี และใน พ.ศ. 2563 ก็ได้เป็นรองประธานาธิบดีภายใต้การนำของนางไช่ อิงเหวิน ที่จะพ้นจากตำแหน่งหลังสิ้นสุดสมัย หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ในช่วงที่นายไล่เริ่มทำงานการเมือง เขาเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่นกับงานของตน และให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในทุก ๆ ด้าน “ช่วงเวลาเดียวที่นายไล่จะดูผ่อนคลายอย่างแท้จริงคือตอนที่ได้พูดถึงกีฬาโปรดของเขา รวมถึงของชาวไต้หวันอย่าง เบสบอล” หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ระบุ

เนื่องจากการที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งที่มีระยะสี่ปีเป็นสมัยที่สามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นายไล่ได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานด้วยความมุ่งมั่นต่อไป “ความมุ่งมั่นของผมที่จะปกป้องสันติภาพ ความสำเร็จในระบอบประชาธิปไตยของเรา และสถานภาพที่เป็นอยู่ของช่องแคบนั้นแรงกล้ากว่าครั้งไหน ๆ” นายไล่กล่าวในระหว่างการรณรงค์ ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 นายไล่ยังคงรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งสมาชิกคนสำคัญของคณะรัฐมนตรีที่มีบทบาทด้านกลาโหม การต่างประเทศ และความมั่นคง

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่ทางทหารและยุทธวิธีพื้นที่สีเทาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขู่ว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวัน

นายไล่กล่าวหลังจากได้รับชัยชนะการเลือกตั้งของไต้หวันใน พ.ศ. 2567 เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า “หากต้องเลือกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ เราจะยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button