ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ไต้หวันได้รับการยกย่องด้านความพร้อมรับมือและการเตรียมพร้อมหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ด้วยการวางแผนและการเตรียมพร้อมมาอย่างยอดเยี่ยมเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ทำให้ไต้หวันสามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดที่สั่นสะเทือนเกาะแห่งนี้ในช่วงยุคสมัยนี้ ตามคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่

แผ่นดินไหวครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่จุดซึ่งห่างออกจากฮัวเหลียนทางชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันประมาณ 18 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายระลอก รวมถึงลูกหนึ่งที่วัดได้ที่ 6.4 แมกนิจูด และทำให้เกิดสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ตามข้อมูลจากการสำรวจของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา

กลุ่มเจ้าหน้าที่รื้อถอนอาคารที่ได้รับความเสียหาย และเจ้าหน้าที่กู้ภัยปฏิบัติการหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไต้หวันเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
วิดีโอจาก: รอยเตอร์

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 3 เมษายน มีรายงานว่ามีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน และมีประชาชนอีกมากกว่า 1,000 คนได้รับบาดเจ็บ “ด้วยข้อกำหนดการก่อสร้างอาคารที่เข้มงวด และการเตรียมความพร้อมอย่างครอบคลุม ทำให้สามารถหลบเลี่ยงหายนะที่รุนแรงยิ่งกว่านี้ไปได้” ตามรายงานของสำนักข่าวในสิงคโปร์ซีเอ็นเอ

“พื้นฐานของแนวคิดเรื่องการออกแบบอาคารคือ เรายังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก อยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง และทนทานต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้โดยไม่พังทลายลง” นายเตง จื่อยู หัวหน้าแผนกกิจการเศรษฐกิจของฮัวเหลียน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล

นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าวว่า หน่วยงานกลาง “มุ่งมั่นอย่างเต็มที่และทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและคืนสภาพหลังเกิดภัยพิบัติอย่างเร็วที่สุด”

แผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูดถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สามารถแผ่ขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในไต้หวัน ตามรายงานของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา เกาะไต้หวันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้มีประชากร 24 ล้านคน และยังเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการผลิตสารกึ่งตัวนำ นอกจากนี้ ไต้หวันยังอยู่ติดกับแนวที่เรียกว่าวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเป็นแนวการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความยาว 40,000 กิโลเมตร ที่มีภูเขาไฟในโลกกว่าร้อยละ 75 อยู่ที่นี่ และก่อให้เกิดแผ่นดินไหวกว่าร้อยละ 90 ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในโลก ส่วนตะวันออกของไต้หวันอยู่เหนือขอบของแผ่นเปลือกโลกและรอยเลื่อนของเปลือกโลกจำนวนมาก

แผ่นดินไหวในเดือนเมษายนเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่สร้างความเสียหายต่อไต้หวัน นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดใน พ.ศ. 2542 ที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 2,400 คน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10,000 คน และทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นอีกมากกว่า 100,000 คน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นเพราะโครงการอาคารที่มีความทนทานอย่างครอบคลุมของไต้หวันหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ตลอดจนลดการหยุดชะงักต่อโรงเรียน ธุรกิจ และภาคส่วนการทำงานในสังคมอื่น ๆ

“สิ่งที่เรามองเห็นอยู่ในขณะนี้คือการผสมผสานของวัฒนธรรมการบริหารแบบ ‘บนลงล่าง’ และ ‘ล่างขึ้นบน’ ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างต่ำ” นายแดเนียล อัลดริช ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงและความพร้อมรับมือของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นและผู้อำนวยการร่วมของสถาบันโกลบอลเรซิเลียน “รัฐบาลได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมานานแล้ว และได้ลงทุนในมาตรการต่าง ๆ เช่น ข้อกำหนดการก่อสร้างอาคารที่เข้มงวดอย่างมาก”

การตระหนักรู้ของสาธารณชนก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน

“เช่น คุณเห็นประชาชนหลายคนอยู่ในศูนย์อพยพ เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาต้องไปที่ไหน” นายอัลดริชกล่าวกับนอร์ทอีสเทิร์นโกลบอลนิวส์ของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ “คุณไม่เห็นประชาชนเสี่ยงอันตรายเพื่อพยายามกลับไปเอาสิ่งของออกจากอาคารที่อยู่ในสภาพเสียสมดุลหรืออาคารที่ถล่มลงมาบางส่วน พวกเขาไว้วางใจในข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาล และพวกเขาร่วมมือกับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันพยายาม ช่วยเหลือ และช่วยชีวิตประชาชน ดังนั้นแล้ว การผสมผสานโครงสร้างการกำกับดูแลจากบนลงล่าง ซึ่งจัดการกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติอย่างจริงจัง และโครงสร้างแบบล่างขึ้นบนได้สร้างผลลัพธ์อันน่าทึ่งให้กับไต้หวัน”

ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไต้หวันที่มีต่อมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่เข้มงวด ทำให้เกิดเสียงชื่นชมแม้กระทั่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอ้างว่าไต้หวันที่ปกครองตนเองแห่งนี้เป็นอาณาเขตของตนและขู่ว่าจะผนวกรวมไต้หวันโดยใช้กำลัง จีนมีการก่อสร้างที่ด้อยกว่าและกฎระเบียบที่หละหลวม และยังถูกกล่าวโทษจากการที่มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ อีกทั้งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในจีนได้แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกในวิดีโอของอาคารในไต้หวันที่สั่นไหวไปมา แต่ไม่ล้มลงในระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวในเดือนเมษายน ตามรายงานของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล

“การเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวของไต้หวันมีความก้าวหน้ามากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก” นายสตีเฟน เกา นักแผ่นดินไหววิทยาและศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิสซูรียูนิเวอร์ซิตีออฟไซแอนซ์แอนด์เทคโนโลยี กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “มาตรการเหล่านี้ได้เพิ่มความพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวของไต้หวันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยบรรเทาโอกาสที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงและการเสียชีวิต”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button