อินเดียและเวียดนามกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมเพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาค
มันดีป ซิงห์
เมื่อเผชิญปัญหาความมั่นคงร่วมกัน อินเดียและเวียดนามจึงยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปเยือนท่าเรือของเวียดนามด้วยเรือของกองทัพเรืออินเดีย 2 ลํา การส่งมอบเรือคอร์เวตติดตั้งขีปนาวุธของรัฐบาลอินเดียไปยังกรุงฮานอย การประชุมระดับสูง และการเข้าร่วมในการฝึกซ้อมทวิภาคีและพหุภาคี
อินโดแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสันติภาพและเสถียรภาพ รวมถึงความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายโด ฮุง เวียต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเจรจาเรสินา ที่กรุงนิวเดลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการตอบโต้ ความร่วมมือพหุภาคีและการเจรจาอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นกุญแจสําคัญสู่ความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค นายเวียตกล่าว
ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างอินเดียและเวียดนามซึ่งลงนามใน พ.ศ. 2559 “ครอบคลุมความร่วมมือรอบด้าน” ซึ่งรวมถึง “ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” นายซันดีป อาร์ยา เอกอัครราชทูตอินเดียประจําเวียดนาม กล่าวกับสํานักข่าวเวียดนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ประเด็นที่ทั้งสองประเทศมีความกังวลร่วมกัน ได้แก่ เสรีภาพในการเดินเรือ บูรณภาพแห่งดินแดน และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งทั้งสองประเทศพบจุดร่วมในการต่อต้านความก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มุ่งทำลายเสถียรภาพ ตามรายงานของสถาบันโลวีซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของออสเตรเลีย
การพบปะแบบทวิภาคีครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือด้านกลาโหม ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย
เช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ของกองทัพอินเดียได้ไปประจำการยังเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมกองทัพบกแบบทวิภาคีระหว่างเวียดนามและอินเดีย ครั้งที่ 4 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือ เสริมสร้างการทำงานร่วมกัน และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดตามกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การฝึกซ้อมประกอบด้วยการฝึกที่กองบัญชาการและการฝึกภาคสนาม ตลอดจนการส่งกำลังพลกองร้อยวิศวกรและทีมแพทย์
อินเดียได้มอบเรือคอร์เวตติดตั้งขีปนาวุธที่ผลิตในประเทศ ไอเอ็นเอส เคอร์ปัน ให้กับเวียดนาม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เรือขนาด 90 เมตรลำนี้ร่วมภารกิจช่วยเหลือทางทหารและด้านมนุษยธรรมมาตั้งแต่เข้าประจำการใน พ.ศ. 2534
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เรือพิฆาต ไอเอ็นเอส เดลี และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ ไอเอ็นเอส สัตปุระ ของกองทัพเรืออินเดียที่เดินทางไปจอดเทียบท่ายังดานังในภาคกลางของเวียดนาม ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและเสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เรือทั้งสองลําได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทะเลของอินเดียและประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับเรือฟริเกต เจิ่นฮึงเดา ของกองทัพเรือเวียดนามและเรืออื่น ๆ
การจอดเทียบท่าครั้งดังกล่าวทำให้ “อินเดียมีบทบาททางยุทธศาสตร์มากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และช่วยให้กองทัพเรืออินเดียสามารถตรวจสอบช่องแคบมะละกาจากฝั่งตะวันออกของทางช่องแคบดังกล่าว ซึ่งเป็นช่องทางสําคัญของการค้าโลก นายพรากาช นันดา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม เขียนให้เดอะยูเรเซียนไทมส์ สื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย และ พล.ท. ฟาน วาน เกียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม พบปะกันที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหม ความมั่นคงทางทะเล และความร่วมมือข้ามชาติ
การเจรจาความมั่นคงทางทะเลระหว่างอินเดียและเวียดนาม ครั้งที่ 3 ณ กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 มุ่งเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ปลอดภัย ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตที่ครอบคลุมและความเป็นอยู่ที่ดีของโลก ในเดือนเดียวกัน นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก็ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ที่ญี่ปุ่น
กระทรวงกลาโหมอินเดียระบุว่า “อินเดียและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่มีอยู่แน่นแฟ้น หลากหลายด้าน และมีรากฐานมาจากเสาหลักทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ” “ในส่วนของภาคกลาโหม ความร่วมมือจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน วิสัยทัศน์ร่วมกันต่อเสถียรภาพของภูมิภาค และการรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา”
มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย