อินเดียปฏิเสธการเปลี่ยนชื่อสถานที่ในรัฐที่มีชายแดนอยู่ติดเทือกเขาหิมาลัยตามอำเภอใจกว่า 30 แห่งโดยรัฐบาลจีน
รอยเตอร์
อินเดียปฏิเสธการที่รัฐบาลจีนทำการเปลี่ยนชื่อสถานที่กว่า 30 แห่งในรัฐอรุณาจัลประเทศ โดยอินเดียกล่าวว่าการกระทำตามอำเภอใจของรัฐบาลจีนเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ “ไร้เหตุผล” และย้ำเตือนอีกครั้งว่ารัฐอรุณาจัลประเทศที่อยู่ติดชายแดนนั้นเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของอินเดีย
รัฐบาลอินเดียได้ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการอ้างสิทธิ์ของจีนต่อรัฐดังกล่าวที่มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาหิมาลัย ใน พ.ศ. 2566 จีนได้สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นด้วยการตั้งชื่อสถานที่อีก 11 แห่งเป็นภาษาจีน ซึ่งสถานที่เหล่านี้อยู่ในรัฐอรุณาจัลประเทศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
“การตั้งชื่อที่คิดขึ้นมาใหม่นี้จะไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่ว่ารัฐอรุณาจัลประเทศนี้ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นและจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของอินเดีย” นายแรนดีร์ ใจสวาล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
รัฐอรุณาจัลประเทศนี้เป็นสาเหตุของความขัดแย้งกันระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกทั้งสองประเทศนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทั้งจีนและอินเดียต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงหลังจากที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่ชายแดนระหว่างกองกำลังของทั้งสองประเทศในทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยเมื่อ พ.ศ. 2563 กองกำลังของทั้งจีนและอินเดียที่ต่างก็ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ได้เข้าปะทะกันตลอดแนวหน้าของชายแดนที่เป็นข้อพิพาทในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 แม้ว่าความตึงเครียดจะลดลงไปหลังจากที่มีการเจรจาทางทหารและทางการทูตอย่างครอบคลุม
นายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่า “การเปลี่ยนชื่อจะไม่มีผลอะไรทั้งนั้น”
“หากผมเปลี่ยนชื่อบ้านของคุณ นั่นจะทำให้บ้านหลังนั้นกลายเป็นบ้านของผมหรือไม่?” นายไจชานการณ์กล่าว
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลจีนได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการที่นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ไปเยือนรัฐอรุณาจัลประเทศเพื่อเปิดทำการโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลอินเดียปฏิเสธข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นคำร้องเรียนที่ “ไร้ซึ่งมูลความจริง”
สหรัฐอเมริกากล่าวว่า ตนยอมรับว่าอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และสหรัฐฯ “ต่อต้านอย่างยิ่ง” ต่อความพยายามเพียงฝ่ายเดียวในการอ้างสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวโดยทหาร หรือ”การบุกรุกหรือการรุกราน” โดยพลเรือน
อินเดียและจีนมีชายแดนระยะทาง 3,800 กิโลเมตรติดกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีการกำหนดเขตแดนไว้ได้อย่างย่ำแย่ และยังเป็นชายแดนที่ทั้งสองทำสงครามสู้รบกันใน พ.ศ. 2505 มีทหารอินเดีย 20 นายและกองกำลังของจีนอีกอย่างน้อย 4 นายที่เสียชีวิตไปในการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเมื่อ พ.ศ. 2563 ทำให้ทั้งสองประเทศตรึงกำลังในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น